รวมหยดหมึก สู่เทปเสียง รวมพลังนักเขียนเพื่อคนตาบอด ในโครงการ “One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง”

ข่าวทั่วไป Tuesday March 1, 2005 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
จากหยดหมึก สู่ปลายปากกา งานที่รังสรรค์จากจินตนาการของนักเขียน ถ่ายทอดประสบการณ์ ความคิด ความสวยงามบนโลกใบนี้ ลงสู่แผ่นกระดาษ แผ่นแล้วแผ่นเล่า บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรไปถึงกลุ่มผู้อ่านให้ได้เลือกสรรที่จะเสพงานวรรณกรรมตามที่ใจต้องการ แต่ทว่า…ยังมีผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถรับรู้อรรถรสของภาษาวรรณกรรมเหมือนผู้คนทั่วไปได้ นั่นคือ กลุ่มผู้พิการทางสายตา หรือคนตาบอดที่ไม่อาจอ่านหนังสือได้อย่างคนปกติทั่วไป พวกเขาเหล่านี้นับเป็นคนกลุ่มน้อยที่มักถูกสังคมลืมเลือน ….
ด้วยหัวใจแห่งความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ที่ยังไม่เหือดแห้งไปจากสังคมไทย ได้มีการริเริ่มโครงการผลิตหนังสือเสียงเพื่อผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ ภายใต้ชื่อ ภายใต้ชื่อ “One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” โดยมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์และเจ้าของงานเขียนกว่า 49 เล่ม จาก 5 สำนักพิมพ์ ได้แก่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), แพรวสำนักพิมพ์,สำนักพิมพ์ มติชน, บริษัท กันตนาพับลิชชิ่ง จำกัด และบริษัทเนชั่นบุ๊คส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในการอนุญาตให้นำหนังสือภายใต้ลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์มาผลิตเป็นหนังสือเสียง ซึ่งได้มีการเปิดตัวแถลงข่าวไปเมื่อปลายปี 2547 จนถึงขณะนี้ ได้จัดทำสำเนาหนังสือเสียงในรูปแบบแผ่นซีดีและเทปคาสเซ็ท รวมจำนวนทั้งสิ้น 27,000 ชิ้นงาน ส่งมอบให้กับหน่วยงานบริการคนตาบอดทั่วประเทศรวม 6 หน่วยงาน เครือข่ายกว่า 100 แห่ง
และที่น่าปลื้มเปรมใจแทนกลุ่มผู้พิการทางสายตาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อนักเขียนชื่อดังหลายท่านขอร่วมโครงการที่เป็นกุศลนี้ โดยการอ่านหนังสือเสียงด้วยตัวเอง อาทิ งามพรรณ เวชชาชีวะ เรื่อง “ความสุขของกะทิ, ครูเคท-เนตรปรียา มุสิกไชย ชุมไชโย เรื่อง “ใครอยากไปเมืองนอก…จะบอกให้” , ฐิติ แขมมณี เรื่อง “หักดิบ” , นภพรรณ รักษิตานนท์ เรื่อง “นิทานแห่งความสุข” และ “ความฝันในอ้อมแขน” และ ฐปนี น้อยนาเวศ เรื่อง “เด็กหญิงสวนกาแฟ” ซึ่งผลงานของ งามพรรณ และ นภพรรณ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว
งามพรรณ เวชชาชีวะ เผยถึงความรู้สึกว่า “ความปรารถนาเบื้องต้นของผู้เขียนหนังสือทุกคน คือมีคนอ่านหนังสือของเรามากๆ หนังสือเสียงก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง ที่จะสามารถถ่ายทอดผลงานไปสู่คนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ การอ่านหนังสือให้พวกเขาฟัง ก็เหมือนกับหัวข้อในการสนทนา และการสนทนาก็ก่อให้เกิดการรับรู้ การเรียนรู้ และการพัฒนาที่จะเข้าสู่สังคมดังเช่นคนปกติทั่วไป การได้มีโอกาสเผยแพร่ตัวหนังสือของเราสู่ผู้พิการทางสายตา ด้วยวิธีการอ่านให้ฟัง ซึ่งไม่ใช่ผู้ฟังอย่างเดียวที่จะได้ประโยชน์ ผู้เขียนเองก็จะได้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น จะช่วยให้เราได้ศึกษาวิธีการการสื่อสารของตัวเองและทำให้ทราบ ข้อบกพร่องในการเขียน ซึ่งนักเขียนทุกท่านน้อมรับฟังผู้อ่านวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าจะโดยทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว สำหรับการอ่านหนังสือเสียงครั้งนี้ เริ่มด้วยการศึกษาวิธีการอ่านจากคู่มือที่ทางโครงการฯ ส่งมาให้ ใช้เวลาอ่านหนังสือเสียงครั้งนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยกำหนดตัวเองว่าให้อ่านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เสียงและอารมณ์ไปด้วยกัน เพื่อให้ผู้ฟังได้อรรถรสมากที่สุด”
งามพรรณ ยังให้ข้อคิดและมุมมองจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ว่า “ดิฉันมองว่าเราได้สร้างบรรยากาศความช่วยเหลือ ความปลอดภัยให้กับสังคม ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งสำหรับสังคม อย่างโครงการ“One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” เป็นการดึงคนเข้ามาให้รู้จักว่าคนที่มองไม่เห็น คนที่เขาต้องพึ่งเสียงอย่างเดียวนี่คืออะไร คนตาบอดเขาต้องการอะไร ต้องช่วยเหลืออะไร เราไม่ควรจะหลงลืมกัน สังคมหรือรัฐบาลน่าจะหันมามองสิ่งที่จับต้องมองเห็นไม่ได้มากกว่านี้ เราอาจจะเน้นเรื่องวัตถุกันมากไป แต่เราก็จะเห็นว่าเมื่อน้ำพัดมาตูมเดียว สิ่งก่อสร้างทั้งหมดก็หายไป แต่สิ่งที่เหลืออยู่คือใจคนที่ลงมาช่วยกัน มันพิสูจน์มากเลยว่านี่ต่างหากที่เป็นสิ่งยั่งยืนที่สุด ถึงจะมองว่าเราต้องการความสะดวกสบาย ต้องการความพัฒนาก้าวไกล แต่เทคโนโลยีสุดท้ายจะมาอยู่ที่คุณภาพของความเป็นมนุษย์ ต้องทำให้รู้สึกถึงการยอมรับเรื่องความแตกต่าง และคนที่สามารถช่วยคนอื่นได้ก็ช่วยเหลือมันก็เป็นการทำแบบ One by One เราต้องช่วยคนที่ใกล้เราก่อน แล้วมันก็จะกระจายออกไปเป็นวงกว้าง เราต้องทำให้คนรู้สึกว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ มันอยู่ในความไม่พอดีนี่แหละ แล้วการที่เราช่วยกันต่างหากถึงทำให้สังคมดีขึ้น ดิฉันไม่ได้เรียกร้องหรือวิจารณ์อะไร แต่มันน่าจะเป็นสิ่งที่สังคมแสดงออกว่าตนเจริญแล้วหรือว่าพัฒนาแล้ว”
ครูเคท-เนตรปรียา มุสิกไชย ชุมไชยโย เจ้าของงานเขียนเรื่อง ““ใครอยากไปเมืองนอก…จะบอกให้” เป็นคนหนึ่งที่เคยร่วมโครงการดีๆที่ทางมูลนิธิแอมเวย์ฯ ได้จัดขึ้น “คราวก่อนได้ร่วมโครงการหนูฝันอยากเป็น มีน้องๆหลายคนเขาฝันอยากจะเป็นครูสอนภาษาอังกฤษอย่างครูเคท เราก็รู้สึกดีใจและอยากจะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่างๆให้เขา พอได้มาร่วมโครงการ “One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” เราก็ยินดีมากที่จะได้สานความฝันให้กับเด็กๆ อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหลายๆคนอาจจะลืมนึกไปว่าพวกเขาก็มีศักยภาพไม่ด้อยไปกว่าเด็กปกติทั่วไป ดิฉันเชื่อว่าหนังสือเสียงก็จะเป็นอีกสื่อหนึ่งที่จะเสริมสร้างความรู้ พัฒนาทักษะในด้านต่างๆ จนสามารถต่อเติมความฝันของเขาให้กลายเป็นจริงได้ในวันหนึ่ง”
ฐิติ แขมมณี เจ้าของงานเขียนเรื่อง “หักดิบ” ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตอันโชกโชนให้กับน้องๆได้ฟังกัน “ดีใจมากที่ได้ร่วมโครงการนี้ เพราะเป็นความใฝ่ฝันมานานแล้วที่อยากจะอ่านหนังสือเสียงให้กับผู้พิการทางสายตา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปเริ่มที่ไหนดี จนกระทั่งเกิดโครงการนี้ขึ้น ผมอยากจะถ่ายทอดสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคมได้รับรู้และใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง เพราะเรื่องของยาเสพติดนั้นเป็นเรื่องที่อันตราย และมันอยู่ใกล้ตัวเรามาก ซึ่งเราควรจะรู้จักมันให้ดี เพื่อเราจะได้ไม่เป็นเหยื่อของมัน และการที่ได้ถ่ายทอดงานเขียนให้กับคนตาบอดหรือผู้พิการอื่นๆ ที่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้เองในรูปของหนังสือเสียง ก็เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งสำหรับผม และผมก็ยินดีและดีใจที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ไปสู่น้องๆ เพราะยาเสพติดนั้น มันเข้าไปสู่คนทุกกลุ่มทุกวัย ไม่มีใครรู้ว่ามันจะมาถึงตัวเราวันไหน เราจึงควรจะรู้ป้องกันตัวให้ทัน มันก่อนที่มันจะตามเราทัน”
นภพรรณ รักษิตานนท์ เจ้าของงานเขียนเรื่อง “นิทานแห่งความสุข” และ “ความฝันในอ้อมแขน” ผู้ที่มีจินตนาการในการเขียนนิทานที่งดงามอีกท่านหนึ่ง “เคยคิดไว้นานแล้วเรื่องการอ่านหนังสือเสียง แต่ก็ไม่มีโอกาสสักที แต่พอมีโครงการนี้ก็ดีใจรีบโทรมาขออ่านด้วยตัวเองเลย ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบอ่านนิทานเพราะได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ จนโตขึ้นก็ชอบเขียนนิทาน เพราะนิทานก็เปรียบเสมือนเมล็ดเล็กๆ ของจินตนาการ ยิ่งเราหว่านมากเท่าไร ก็ยิ่งเกิดจินตนาการมากขึ้นเท่านั้น หากเราปลูกฝังให้กับเด็กๆ ก็จะเป็นการสร้างจินตนาการให้กับเขา และการที่ได้มาอ่านหนังสือให้น้องๆฟัง นับเป็นการถ่ายทอดจินตนาการอีกรูปแบบหนึ่ง การอ่านหรือการฟังก็เหมือนกับการที่เราเดินทางไปด้วยกันในที่ที่สวยงาม ในดินแดนแห่งจินตนาการ โดยที่เราสัมผัสกันด้วยเสียง”
ฐปนี น้อยนาเวศ เจ้าของงานเขียนเรื่อง “เด็กหญิงสวนกาแฟ” พอทราบว่ามีโครงการฯ นี้ก็ดีใจมากเลยค่ะ สนใจที่จะร่วมโครงการฯ รีบโทรมาสอบถามเพราะอยากอ่านด้วยตัวเอง พอคุณแม่ทราบว่ามีโครงการนี้ก็ดีใจอยากให้เราร่วมโครงการฯ เพราะเป็นโครงการที่ดีได้อ่านหนังสือของตัวเองให้น้องๆ ได้ฟัง ถือว่าเป็นการทำประโยชน์เพื่อสังคมอีกทางหนึ่ง และในวันที่บันทึกเสียงคุณแม่ และหลาน น้องโม ตัวละครเอกในเรื่องก็มาเป็นกำลังใจด้วย ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาอ่านก็ได้เตรียมตัวซ้อมอ่านมาแล้ว แต่พอมาอ่านที่ห้องอัดก็รู้สึกตื่นเต้นมากค่ะ เพราะไม่เคยอ่านหนังสือเสียงมาก่อน แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี เพราะมีทีมงานที่คอยให้คำแนะนำอยู่ตลอดค่ะ และสำหรับโครงการนี้นับว่าเป็นโครงการที่ดีอีกโครงการหนึ่ง ซึ่งได้สร้างโอกาสให้กับเด็กๆ ได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ นอกเหนือจากตำราเรียน เป็นการเปิดโลกทั้งด้านความคิด จินตนาการให้เขามีมุมมองที่กว้างขึ้น ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ตัวเราเองถือว่ามีโอกาสมากกว่าเขาก็อยากจะให้สิ่งดีๆกับเขา เพราะเพียงแค่เริ่มจากตัวเราเพียงหนึ่งคน ก็สามารถที่จะเปิดโลกกว้างให้กับน้องๆอีกหลายคนได้เช่นกัน จึงอยากจะเชิญชวนคนที่สนใจหรือมีเวลาว่าง ให้มาร่วมกิจกรรมกัน เพราะนี่ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เราสามารถทำได้โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย เพียงแค่สละเวลาเพียงเล็กน้อย เราก็สามารถเพิ่มความรู้ให้กับคนอื่นๆได้”
จากหยดหมึกที่ไหลรวมกัน มาเป็นพลังเสียงที่เปล่งออกมาเพื่อน้องผู้พิการที่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นใจและน่ายินดีอีกเรื่องหนึ่ง ที่บ่งบอกได้ว่าคนไทยนั้นไม่เคยทอดทิ้งกัน นับว่าเป็นโชคดีของกลุ่มผู้พิการทางสายตาที่จะได้เรียนรู้ ได้รับรส ของวรรณกรรม ตลอดจนหล่อหลอมให้พวกเขาเหล่านี้กลายเป็นคนที่มีความรอบรู้ในทุกด้าน โดยที่ไม่มีสิ่งใดจะมากีดกั้น เพียงหนึ่งเสียงของคุณ ก็สามารถเปิดโลกกว้างแห่ง ความคิด จินตนาการอันงดงาม ให้กับเด็กน้อยผู้พิการในสังคมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และพวกเขาเหล่านั้นขอชื่นชมนักเขียนทุกคน สำนักพิมพ์ทุกแห่ง และมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย ที่ร่วมโครงการเปิดโลกกว้างให้แก่พวกเขาในวันนี้
“ทุกเสียงทุกความพยายามได้แปรเป็นหนังสือเสียงที่มีคุณประโยชน์อย่างยิ่งยวดแก่ผู้พิการท่านอาจเป็นอีกหนึ่งเสียง ในการทำคุณประโยชน์ต่อผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์”
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทร. 0-2691-6302-4 หรือ 0-2274-4782
สามารถคลิกดูภาพข่าวได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

แท็ก วรรณกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ