กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--TCELS
TCELS ร่วมมือญี่ปุ่น พัฒนาโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมระดับโลกบรรยายในไทย เตรียมต่อยอดเชื่อมข้อมูลวิจัยยาเฉพาะบุคคล หลังนักวิทย์ฯ ไทยค้นพบยีนไทยพันธุ์แท้เป็นของขวัญกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
นายแพทย์ธงชัย ทวิชาชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าวว่า จากความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์ไทย ที่สามารถระบุรูปแบบพันธุกรรมที่เหมือนกันของคนไทยได้เป็นผลสำเร็จ ภายใต้โครงการ เภสัชพันธุศาสตร์ (Pharmacogenomics) ซึ่งเป็นโครงการหลักของ TCELS ที่จะเสนอเป็นนโยบายของรัฐบาลต่อไปนั้น นับเป็นความโชคดีอีกขั้น เมื่อศูนย์ Human Genome ของมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สนใจข้อมูลดังกล่าวและพร้อมสนับสนุนเชื่อมโยงข้อมูลพันธุกรรมเพื่อการวิจัยยาเฉพาะบุคคลต่อไป อันจะเป็นประโยชน์ต่อคนในภูมิภาคเอเชีย
“ ศูนย์ Human Genome เป็นหน่วยทดสอบพันธุกรรมที่ทันสมัย มีการจัดเก็บดีเอ็นเอขนาดใหญ่ระดับโลก ซึ่งหากประเทศไทยใช้ข้อมูลกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ อาจทำให้การวิจัยยาเฉพาะบุคคล เพื่อการพัฒนายาใหม่เป็นไปด้วยความล่าช้า และเกิดต้นทุนในการผลิตที่สูง แต่หากร่วมมือกับศูนย์ฯ ดังกล่าวซึ่งมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีข้อมูลดีเอ็นเอจำนวนมาก จะทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งข้อมูลที่ได้ ยังสามารถนำมาใช้กับคนไข้ของคนไทยได้ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาล” น.พ.ธงชัย กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TCELS กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 25 ธันวาคม 2549 ศ.ดร.Yusuke Nakamura ผู้อำนวยการศูนย์ Human Genome จะเดินทางมาบรรยายให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่สนใจฟังในหัวข้อ “Whole Genome Scan and Identification Risk เป็นการเปิดมุมมองและกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญของพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องต่อการเกิดโรค และการตอบสนองต่อยา ในฐานะผู้มีประสบการณ์ตรงในการทำงาน
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net