กรีนพีซจัดอันดับบริษัทโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday August 30, 2006 11:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--กรีนพีซสากล
กรีนพีซจัดอันดับบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับใช้เป็นคู่มือ “เลือกซื้อเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์รักษ์สิ่งแวดล้อม” ระบุชัดผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ชั้นนำ 14 แห่งยังไม่มีนโยบายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (1) กรีนพีซเรียกร้องผู้ผลิตใช้สารเคมีที่ไม่เป็นพิษเพื่อประโยชน์ในการรีไซเคิลอย่างปลอดภัย
อิซา ครูซูสสกา ผู้ประสานงานด้านสารพิษ กรีนพีซสากล กล่าวว่า อันดับของบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือที่มีพลังในการผลักดันให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้แข่งขันกันเพื่อนำไปสู่บริษัทชั้นนำที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้นว่า นโยบายรับคืนผลิตภัณฑ์ไม่ใช้แล้ว และเลิกใช้สารเคมีเป็นพิษในผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการรับประกันการนำมาใช้ใหม่ และการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัย
บริษัทโนเกีย และเดลล์ ติดอันดับบริษัทชั้นนำใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยนโยบายรับคืนผลิตภัณฑ์ไม่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และเพื่อการรีไซเคิล บริษัทโนเกียเป็นผู้นำในด้านการเลิกใช้สารเคมีเป็นพิษในผลิตภัณฑ์ในขณะนี้ โดยโทรศัพท์โนเกียทุกรุ่นที่วางจำหน่ายตั้งแต่สิ้นปี 2548 เป็นต้นมาล้วนปลอดสารโพลีไวนิล คลอไรด์ (PVC) และตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไปส่วนประกอบทุกชิ้นของโนเกียจะปลอดสารทนไฟโบรมีน (BFRs) เช่นเดียวกับบริษัทเดลล์ ที่มีนโยบายไม่ใช้สารเคมีเป็นพิษในผลิตภัณฑ์ในไม่ช้านี้
ขณะที่ผู้ผลิตชั้นนำอย่าง HP รั้งอันดับสาม ตามด้วย 4. Sony Ericsson 5. Samsung 6. Sony 7. LG Electronics 8. Panasonic 9. Toshiba 10. Fujitsu Siemens Computers 11. Apple 12. Acer และอันดับ13. Motorola
ขณะที่บริษัท Lenovo อยู่รั้งท้ายด้วยนโยบายที่ยังยึดมั่นต่อการใช้สารเคมีเป็นพิษในผลิตภัณฑ์ และมีนโยบายรับคืนผลิตภัณฑ์ไม่ใช้แล้วเพียงเล็กน้อย ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงอีกมาก
กิตติคุณ กิตติอร่าม ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าผิดหวังมากที่บริษัทแอปเปิ้ลอยู่ในอันดับท้ายๆ ทั้งที่เป็นผู้นำด้านดีไซน์ และการตลาด แอปเปิ้ลจึงควรเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย
การจัดอันดับของกรีนพีซจะมีการปรับข้อมูลใหม่ทุก 3 เดือนดังนั้นบริษัทเหล่านี้จึงมีโอกาสที่จะปรับปรุงเพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามกรีนพีซจะลดอันดับบริษัทใดก็ตามที่ไม่ดำเนินการตามนโยบายที่ให้ไว้ ให้คำมั่นสัญญาที่เป็นเท็จ เลือกปฎิบัติ หรือการประพฤติผิดอื่นๆ ของบริษัท ข้อมูลที่นำมาจัดอันดับครั้งนี้ นำมาจากข้อมูลของบริษัทที่เปิดเผยต่อสาธารณชนบนเว็บไซต์เท่านั้น
อันดับต่างๆ ขึ้นอยู่กับนโยบายการใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์มากกว่าเกณฑ์การรีไซเคิล เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการกำจัดสารเคมีเป็นพิษออกจากผลิตภัณฑ์ กระบวนการรีไซเคิลที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนของสารเคมีจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้
หมายเหตุ
(1) อันดับบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ดูได้ที่ www.greenpeace.org/rankingguide
สาร PVC (Polyvinyl chloride) เป็นพลาสติกคลอรีนถูกใช้ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์บางชนิดและใช้เพื่อเป็นฉนวนบนสายไฟและเคเบิ้ล สาร PVC เป็นหนึ่งในพลาสติกที่มีการใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุด แต่ก่อให้เกิดมลพิษได้จากการผลิต การใช้ และการกำจัดทิ้ง สารไดออกซินคลอรีนและฟิวแรนจะถูกปล่อยออกมาระหว่างกระบวนการผลิตหรือการกำจัดทิ้งโดยการเผาในโรงเผาขยะ (หรือแม้แต่การเผาทิ้งธรรมดาทั่วไป) สารไดออกซินและฟิวแรนเป็นประเภทสารประกอบเคมีซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายว่าเป็นหนึ่งในสารพิษอันตรายที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยผลิตออกมา แม้ในความเข้มข้นที่ต่ำมากก็ตาม
BFRs ซึ่งถูกนำมาใช้ในแผ่นวงจรและในเคสพลาสติก จะสลายตัวได้ยากและสะสมในสิ่งแวดล้อม การได้รับ BFRs เป็นเวลานานสามารถส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และระบบความจำได้ BFRs ยังสามารถไปแทรกแทรงการทำงานของระบบฮอร์โมนไทรอยด์และเอสโตรเจนได้ด้วย การสัมผัส BFRs ของตัวอ่อนในครรภ์จะทำให้มีปัญหาพฤติกรรมในเด็กได้ TBBPA ซึ่งเป็น BFR ชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในแผงวงจรสามารถทำให้ระบบประสาทเป็นพิษได้
BFRs ปริมาณมากที่ใช้อยู่ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันสามารถก่อให้เกิดไดออกซินโบรมีนและฟิวแรนได้เมื่อกลายมาเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์และถูกนำไปหลอม เผาในโรงเผาขยะ หรือเผาในที่โล่ง สารไดออกซินและฟิวแรนเป็นประเภทสารประกอบเคมีซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายว่าเป็นหนึ่งในสารพิษอันตรายที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยผลิตออกมา แม้ในความเข้มข้นที่ต่ำมากก็ตาม
บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ถูกให้คะแนนตาม
1. นโยบายและการปฏิบัติจริงด้านการจัดการสารเคมี (มี 5 เกณฑ์การให้คะแนน)
2. นโยบายและการปฏิบัติจริงเรื่องการรับซากผลิตภัณฑ์กลับคืนและการรีไซเคิล (มี 4 เกณฑ์การให้คะแนน)
เกณฑ์การให้คะแนนการใช้สารเคมี:
1. นโยบายด้านสารเคมีบนพื้นฐานของหลักการป้องกันไว้ก่อน
2. การจัดการสารเคมี การจัดการห่วงโซ่อุปทาน เช่น บัญชีรายชื่อสารต้องห้าม/สารจำกัดการใช้ และการมีนโยบายซึ่งระบุสารอันตรายเพื่อเป้าหมายในการเลิกใช้/ทดแทนในอนาคต
3. การกำหนดเวลายกเลิกการใช้สาร PVC ทั้งหมด
4. การกำหนดเวลายกเลิกการใช้สาร BFRs ทั้งหมด
5. การมีผลิตภัณฑ์รุ่นไร้สาร PVC และ BFRs วางขายแล้ว
เกณฑ์การให้คะแนนความรับผิดชอบต่อซากผลิตภัณฑ์:
1. สนับสนุนความรับผิดชอบของผู้ผลิตแบบเฉพาะราย ซึ่งผู้ผลิตต้องรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดการซากผลิตภัณฑ์ของตน โดยการรับซากผลิตภัณฑ์ยี่ห้อของตนกลับคืนเพื่อนำไปใช้ซ้ำ/รีไซเคิล
2. มีบริการรับซากผลิตภัณฑ์กลับคืนเพื่อนำไปรีไซเคิลในทุกประเทศที่มีผลิตภัณฑ์ของตนวางขาย แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายบังคับในประเทศนั้นก็ตาม
3. การให้ข้อมูลสำหรับผู้บริโภคทั่วไปเรื่องบริการรับซากผลิตภัณฑ์กลับคืนและการรีไซเคิล ในทุกประเทศที่มีผลิตภัณฑ์ของตนวางขาย
4. การรายงานปริมาณซากผลิตภัณฑ์ที่รวบรวมคืนได้และที่นำไปรีไซเคิลได้
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
อิซา ครูซูสสกา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซสากล โทร. +44 7801 212 992
กิตติคุณ กิตติอร่าม ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร. 0 1372 1149
เอื้อพันธ์ ชำนาญเอื้อ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร. 0 1928 2426

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ