กรมวิชาการเกษตรเผยยอดขึ้นทะเบียนเกษตรกรและตรวจรับรองแปลง GAP ลำไย

ข่าวทั่วไป Friday March 11, 2005 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--กรมวิชาการเกษตร
กรมวิชาการเกษตรเผยยอดขึ้นทะเบียนเกษตรกรและตรวจรับรองแปลง GAP ลำไยแล้วกว่า 56,000 ราย ผู้ที่ยังไม่ได้ GAP โปรดติดต่อด่วน เพราะอนาคตอาจหมดสิทธิ์ขาย แถมถูกตรวจเข้ม 100 % ต้องจ่ายค่าวิเคราะห์สารตกค้างสูงถึงตัวอย่างละ 3,000 บาท
นายไชยวัฒน์ วัฒนไชย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 (สวพ.1) จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้สวพ. 1 ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน พร้อมกับตรวจรับรองแปลงปลูกลำไยตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสมหรือ GAP ได้แล้วกว่า 56,000 ราย ซึ่งคาดว่า ระบบดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้างในผลลำไยสดได้ค่อนข้างมากโดยเฉพาะการผลิตลำไยนอกฤดูกาล ซึ่งส่วนใหญ่มีการใช้สารเคมีในปริมาณสูง ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสินค้าถูกตีกลับเนื่องจากประเทศผู้นำเข้าตรวจพบสารเคมีตกค้างในลำไย รวมทั้งแก้ปัญหาการรับซื้อผลผลิตลำไยนอกฤดูกาล เกษตรกรที่ยังไม่ได้นำแปลงปลูกลำไยเข้าสู่ระบบ GAP จึงควรติดต่อ ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั่วประเทศโดยด่วน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังวัดเชียงใหม่ ตัวแทนผู้ส่งออกลำไย ตัวแทนผู้รวบรวมหรือล้งลำไย และตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ร่วมกันกำหนดมาตรการการรับซื้อลำไยสดพร้อมกับลงนามในบันทึกข้อตกลง โดยผู้ส่งออก/ผู้รวบรวมหรือล้งลำไยได้ตกลงที่จะรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรภายใต้เงื่อนไขดังนี้ คือ ลำไยต้องมาจากสวนที่ได้รับการรับรองตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสมหรือ GAP ของกรมวิชาการเกษตร หรือสวนของเกษตรกรที่มีหนังสือรับรองว่า ไม่มีสารเมทามิโดฟอส(Methamidophos) และสารโมโนโครโตฟอส(Monocrotophos) ตกค้างอยู่
“สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้นำแปลงปลูกลำไยเข้าสู่ระบบ GAP หากต้องการหนังสือรับรองว่า ผลผลิตลำไยของตนไม่มีสารพิษตกค้าง ต้องแจ้งให้เกษตรตำบลในพื้นที่เก็บตัวอย่างลำไยส่งให้ สวพ.1 ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิคทีแอลซี(TLC) ก่อนที่จะเก็บผลผลิตจำหน่าย 5-7 วัน เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงที่จุดรับซื้อลำไย” ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 กล่าว
นายไชยวัฒน์กล่าวต่ออีกว่า กรณีที่ล้งลำไยและผู้ส่งออกซื้อลำไยจากแปลงที่ไม่ผ่านการรับรอง GAP กรมวิชาการเกษตรจะเก็บตัวอย่างลำไยมาตรวจวิเคราะห์ 100 % จากเกษตรกรที่นำลำไยมาขายทั้งหมด โดยต้องจ่ายค่าวิเคราะห์ตามจำนวนตัวอย่างที่กรมวิชาการเกษตรเรียกเก็บในอัตราตัวอย่างละ 3,000 บาท ส่วนล้งลำไยที่รับซื้อลำไยจากแปลง GAP กรมวิชาการเกษตรจะเก็บตัวอย่างสุ่มตรวจเพียง 10 % เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารตกค้าง ในอัตรา 3,000 บาท/ตัวอย่าง/คอนเทนเนอร์--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ