กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--ทูเดย์ คอมมูนิเคชั่นส์
“บทดี ชีวิตสวยงาม...เฮ..บทดี ชีวิตสวยงาม...เฮ เฮ...”เสียงนำจากพี่เลี้ยงประสานรับด้วยเสียงอันดังก้องจากน้องวัยใส 50 ชีวิต ที่มาร่วมสร้างความทรงจำส่งท้ายพร้อมรับประกาศนียบัตร และทุนการศึกษาสำหรับผู้ชนะเพื่อการันตีคุณภาพในพิธีปิดโครงการ “บทดี ชีวิตสวยงาม” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยได้รับเกียรติจากนายบุญรัตน์ วงศ์ใหญ่ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) บริษัท ดีน่าดู จำกัด ผู้ผลิตรายการ Love life Idol และเว็บไซต์ Dek-D.com เพื่อเชิญชวนน้องๆ อายุระหว่าง 12-23 ปี มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ปัญหาเรื่องสุขภาวะ และพัฒนาทักษะการดำเนินชีวิตในสังคมอย่างเป็นสุข ผ่านบทละครสั้น ความยาว 3-4 นาที โดยทั้ง 50 คน ที่ได้รับคัดเลือกจะถูกแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ละ 10 คน จำนวน 5 กลุ่ม และเข้าสู่การอบรมจากวิทยากรมากความสามารถ ที่ศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์และวีดีโอเทปเพื่อการศึกษา (รังสิต) เป็นเวลา 1 สัปดาห์
ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนัก 5 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาด้านสื่อที่ไม่เหมาะสมกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ก็ตาม ในขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ต้องประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว จึงไม่มีเวลาที่จะเข้าไปดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวจึงต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดเฉพาะที่ตัวเด็กและเยาวชน ซึ่งจะต้องสอนให้เด็กรู้จักการใช้สื่อและหาทางออกให้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการจัดกิจกรรมตามโครงการบทดีชีวิตสวยงาม จึงเสมือนเป็นทางเลือกที่จะให้เด็กและเยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในทางที่ถูกต้อง โดยถ่ายทอดประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ปัญหา 3 แนวทางคือ เรื่องสุขภาวะ ทักษะการใช้ชีวิต และการดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ซึ่งผลสำเร็จจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ทางผู้มีส่วนสนับสนุนคงจะหาแนวทางเพื่อขยายโครงการออกไปให้มากยิ่งขึ้น
นายสุนทร พรหมรัตนพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ETV) กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีเนื่องจากมีเด็กและเยาวชนส่งผลงานเข้ามาร่วมโครงการจำนวนมาก คณะกรรมการได้คัดเลือกผู้เข้ารอบ 50 คนสุดท้าย และจัดเวิร์คช็อป ที่ศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษา (รังสิต) ซึ่งเป็นศูนย์ผลิตรายการที่มีอุปกรณ์ทันสมัย ซึ่งเด็กและเยาวชนที่ผ่านเข้ารอบ ได้ฝึกทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติกับวิทยากรที่มีความรู้ และประสบการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่หาได้ไม่ง่ายนัก โดยเด็กและเยาวชนก็จะได้ความรู้กลับไปเผยแพร่สู่กลุ่มเพื่อน ในโอกาสต่อไป
ครั้งนี้ตัวแทนของเด็กๆ เล่ากระบวนการเรียนในแต่ละขั้นตอนด้วยว่า พวกเขาเริ่มจากการเรียนรู้เรื่องการเขียนบท การกำหนดแก่นของเรื่อง จากครูเล็ก -ดวงหทัย ศรัทธาทิพย์ ตามมาด้วยสอนเทคนิคการแสดง จากครูรัก- ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ และการเพิ่มเติมสีสันให้กับบทโทรทัศน์ เทคนิคการตัดต่อจากพี่ ๆ ของ ETV และหลังจากเรียนรู้ขั้นตอนต่าง ๆ ทุกกลุ่มก็เริ่มลงมือปฏิบัติการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อสะท้อนมุมมองปัญหาในสังคมในความคิดของพวกเขาเพื่อส่งให้กรรมการพิจารณาตัดสิน ซึ่งการตัดสินนอกจากจะดูเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และความสวยงามแล้ว ยังจะพิจารณาจากการให้ความร่วมมือของกลุ่มและสัมพันธภาพที่ดีของชาวค่าย
เริ่มกันที่ ผู้ชนะเลิศ กลุ่มไรโนโซรัส ในผลงาน ‘รักแท้’ ซึ่งสมาชิกประกอบไปด้วย นายอิทธิพล ด้วงเงิน, น.ส.ชลกาญจน์ ศิริบรรณพิทักษ์, น.ส.แสงระวี ตันเจริญลาภ, น.ส.จิระภา ประทุมมินทร์, น.ส.สาวิตรี ด้วงปาน, น.ส.สิตานัน เลิศศิริพาณิชย์, ด.ช.รังสิมันต์ กิจชัยเจริญ, นายเพิ่มศักดิ์ เสนีบุรพทิศ, น.ส.พรพรรณ ต๊ะหล้า และด.ช.ธนพงศ์ เกษรบัว โดยคราวนี้ นายอิทธิพล หรือ ต้นน้ำ ในฐานะผู้กำกับ ขอเป็นตัวแทนเพื่อนๆ มาคุยกับเราว่า “จากตอนที่ครูเล็กมาสอน และให้ทุกกลุ่มคิดหาแก่นของเรื่อง กลุ่มผมจึง คุยกันว่าปัญหาของวัยรุ่นส่วนใหญ่คืออะไร และอะไรคือเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งพวกเราก็ได้ข้อสรุปว่า “ความรัก” คือปัญหาส่วนใหญ่ของวัยรุ่น และในครั้งนี้ก็เลือกการนำเสนอความรักของครอบครัว ซึ่ง ‘รักแท้’ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวเด็กสาวที่ปฏิเสธความรัก ความห่วงใยของแม่ ให้ความสนใจแต่แฟน และสุดท้ายเธอกลับพบว่าแม่ต่างหากที่เป็น ‘รักแท้’ ของเธอ” ต้นน้ำ ยังบอกด้วยว่า การที่ได้มาฝึกประสบการณ์ด้านสื่อทำให้ได้รู้จักการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น การทำงานเป็นทีม อีกทั้งได้ความรู้เพื่อนำไปใช้ในการต่อยอด เพราะตนอยากผลิตสื่อดี ๆ ให้มาก เนื่องจากสื่อมีความสำคัญในปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันสื่อดีที่สะท้อนปัญหาสังคมยังมีน้อยอยู่ จึงอยากเอาประสบการณ์ในครั้งนี้ไปใช้ในการพัฒนาตนเพื่อเป็นสื่อมวลชนที่ดีในอนาคตต่อไป
ต่อกันที่ รองชนะเลิศอันดับ 1 กลุ่ม ETERNITY กับผลงาน ‘ไร้สาระ’ ทีมนี้มี นายวิทิตพงษ์ สังขยานนท์, น.ส.วสมน สันติกาญจน์, ด.ญ.นันชนก ศักดิ์นาวี, ด.ญ.ปันปรีดา ฝั่งชลจิตร, ด.ญ.อิฐราพร วงศ์อมาตย์, นายวรวิทย์ เหล็กดำ, ด.ช.นิติเทพ กิ่งชา, นายทศพร เหรียญทอง, น.ส.ชนากานต์ รัชดาศิวกุล และน.ส.วณิชาภา รัตนปรีชาเวช ซึ่ง น้องกิ่ง หรือ น.ส.ชนากานต์ เป็นตัวแทนกลุ่มเล่าว่า “เรื่อง ‘ไร้สาระ’ ต้องการถ่ายทอดให้ผู้ใหญ่เห็นว่าการกระทำของเด็กไม่ใช่เรื่องไร้สาระ เพียงแต่แต่เราจะทำให้มันเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ และเพราะวัยรุ่นและผู้ใหญ่มีความแตกต่างกันทางความคิด จนทำให้เกิดการต่อต้าน ซึ่งพวกหนูมองว่าหากผู้ใหญ่มีการให้โอกาส วัยรุ่นก็จะแสดงให้เห็นและทำให้ผู้ใหญ่ยอมรับได้ เพียงผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน ส่งเสริม และพวกหนูเชื่อว่าหากผลงานได้ออกสู่สังคม น่าจะเป็นแบบอย่างให้เด็กๆ คนอื่นกล้าแสดงออกในสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำและเป็นสิ่งดี แม้ในช่วงแรกผู้ใหญ่จะมองเห็นต่างไป แต่หากตั้งใจทำและเป็นสิ่งดีผู้ใหญ่ก็จะเข้าใจแน่นอน”
สุดท้ายที่ รองชนะเลิศอันดับ 2 คือ กลุ่ม the greatฯ ผลงานชื่อว่า ‘ฉันผิดเอง’ สมาชิกของกลุ่มได้แก่ วรลักษณ์ สุติรัตนชัย, สิตานัน ปรีชาทวีกิจ, ฉันทิกา สะสมทรัพย์, ชุติภา คลั่งจตุระเวทย์, พรนานา ธรสีลังกูร, ธัญลักษณ์ สุวรรณกฎ, ณัฏฐ์ สมบูรณ์วิทย์, อมรเทพ มุสิกเจียรนันท์ และพีรธัช ธรมิตร์ กลุ่มนี้ส่งพี่ใหญ่ พีรธัช หรือ เอม หนุ่มคณะสื่อสารมวลชน จากรั้วแม่โดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังถึงเนื้อหาของเรื่องว่า เพราะค่านิยมของเด็กไทยในปัจจุบันที่ยึดติดกับวัตถุนิยม มีค่านิยมตามชาติตะวันตก แม้แต่สื่อเองก็ยังนำเสนอค่านิยมที่ผิดๆ เป็นจำนวนมาก จึงนำสาเหตุเหล่านี้มาสร้างเป็นละครสะท้อนว่าการหลงไปกับค่านิยมที่ผิดๆ นำไปสู่ผลเสียอย่างไร โดยไม่บอกวีแก้ไข แต่จะให้ผู้รับเป็นคนคิดไตร่ตรองเองว่าสิ่งใดถูก-ผิด อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ครั้งนี้จะนำไปพัฒนาในวิชาที่เรียนอยู่ ซึ่งตนมีความตั้งใจว่าเมื่อมีโอกาสมาทำงานด้านสื่อมวลชน จะผลิตสื่อดีสะท้อนปัญหาสังคม เพราะผู้ใหญ่จะมองว่าสื่อเดี๋ยวนี้มีแต่เรื่องแย่ๆ แต่ตนคิดว่าหากขาดเรื่องแย่ๆ เสนอแต่สิ่งดี คงทำให้ “เด็กตกอยู่ในความฝันเกินไป แต่ผมจะเอาสิ่งแย่เพื่อเสนอให้เยาวชนคิดสะท้อนปัญหามากกว่า”
แม้จะใช้เวลาในการเรียนรู้ไม่นาน แต่น้องก็ได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการเรียนรู้ และได้นำมาถ่ายทอดให้เห็นผลผ่านการทำงาน ถึงจะใช้เวลาน้อยแต่ทุกคนก็ยืนยันว่าได้รับความรู้เต็มเปี่ยม ครั้งนี้ขอเพียงได้สะท้อนมุมมองเล็กๆ ของเด็กอย่างพวกเขา ผ่านสื่อโทรทัศน์ไปยังสังคมได้เข้าใจก็เป็นเรื่องที่ดีที่สุด และอยากให้มีโครงการแบบนี้ให้พวกเขาได้ร่วมอีกต่อไป
ฟังกันแบบนี้ผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านคงจะปลื้มใจ เพราะนอกจากจะเห็นประสิทธิภาพของเด็กไทย มุมมองที่ทุกคนถ่ายทอดผ่านผลงานทุกชิ้น กิจกรรมเหล่านี้ก็ช่วยให้น้องๆ ได้ใช้เวลาได้เกิดประโยชน์อย่างมาก ดูได้จากเสียงตอบรับในครั้งนี้
โครงการบทดีชีวิตสวยงาม มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและปลูกฝังทัศนคติที่ดีของเด็กและเยาวชนในการสร้างสื่อที่มีคุณค่า และเป็นการสร้างเครือข่ายเยาวชนอีทีวี สร้างสื่อที่ดีสู่สังคม ในการดำเนินการค่ายอบรมครั้งนี้ สมาชิกจะได้เรียนรู้เรื่องการผลิตสื่อโทรทัศน์จากวิทยากรที่มีชื่อเสียง อาทิ ครูเล็ก ดวงหทัย ศรัทธาทิพย์ ในหัวข้อการเขียนบท ซึ่งสมาชิกได้เรียนรู้การสร้างสรรค์และเขียนบท ส่วนครูรัก ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ จากบ้านอาคาเดมี่ สอนในเรื่องของการแสดง และพี่โอ๋ คุณศุภกร เหรียญสุวรรณ เติมในส่วนของการสร้างสรรค์เพิ่มสีสันให้กับบทโทรทัศน์ และทีมงานของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ได้ให้ความรู้ และทักษะด้านเทคนิคการผลิตทั้งหมดให้กับสมาชิกเยาวชน ชาวค่าย รวมไปถึงการให้แง่คิดดีๆ เรื่องสื่อจากทีมวิทยากรของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
คณะกรรมการตัดสินผลงานในโครงการครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ได้แก่ นายสุนทร พรหม รัตนพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ETV อาจารย์สมเจตน์ เมฆพายัพ ผู้อำนวยการศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์และวีดิโอเทปเพื่อการศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.กิดานันท์ มลิทอง สาขาวิชาโสตทัศนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณอำนวยพร เอี่ยมพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทดีน่าดูจำกัด และนายปกรณ์ สันติสุนทรกุล กรรมการบริหาร เว็บไซต์ www.dek-d.com การตัดสินครั้งนี้นอกจากพิจารณาจากความคิดสร้างสรรค์ และความสวยงามแล้ว ยังพิจารณาจากการให้ความร่วมมือของกลุ่ม และสัมพันธภาพที่ดีของชาวค่ายด้วย เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์ที่ดีในอนาคต
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ :
สุรีย์พร สื่อสกุล (ตุ้ย)
บริษัท ทูเดย์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด
Tel : 01-902-5948, 05-838-5977
E-mail : todaytion@yahoo.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net