ทรู ชี้แจงกรณี ทีโอที ขอยกเลิกสัมปทาน

ข่าวทั่วไป Thursday February 23, 2006 14:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--ทรู คอร์ปอเรชั่น
ตามที่อนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาดข้อพิพาทให้ทีโอทีชำระค่าเชื่อมโยงโครงข่ายให้กับทรู เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และ ทีโอที ประกาศจะหารือกับสำนักอัยการสูงสุด เพื่อจะยกเลิกสัญญาสัมปทานกับทรูนั้น นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้แสดงความเห็นว่า ทีโอที คงจะต้องการเริ่มเจรจากับทรู ซึ่งที่ผ่านมา ทรูปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานครบถ้วน และขอให้ความมั่นใจทั้งกับตลาดทุนและนักลงทุนทั่วไป ว่าไม่มีสาระสำคัญหรือปัญหาใดๆ ที่ทีโอทีจะสามารถหยิบยกขึ้นมาเป็นสาเหตุให้มีการยกเลิกสัญญาสัมปทานได้
นายศุภชัยกล่าวว่า กรณีการยื่นข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาชี้ขาด กรณีค่าเชื่อมโยงโครงข่ายนั้น เป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทาน ซึ่งการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ค่าเชื่อมโยงโครงข่ายที่ทีโอทีจะต้องแบ่งรายได้ให้กับทรูตามสัญญานั้น เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาร่วม 10 ปีแล้ว โดยมีการเจรจาหารือระหว่างทีโอทีและทรูมาโดยตลอด แต่เนื่องจากตกลงกันไม่ได้ ดังนั้น ทรูจึงยื่นข้อพิพาทไปยังอนุญาโตตุลาการในปี 2545 ตามที่กำหนดโดยสัญญาสัมปทานให้ข้อพิพาทยุติที่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวเป็นข้อที่กำหนดขึ้นโดย ทีโอที
“ จำนวนเงินที่ทีโอทีจะต้องชำระให้กับทรู เป็นเงินส่วนแบ่งรายได้ที่สะสมมาตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี และในข้อเท็จจริงอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ทีโอทีชำระเงินเพียงครึ่งเดียวของจำนวนเงินทั้งหมดที่ทรูเรียกร้อง และเมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดออกมา ทรูก็เคารพในคำชี้ขาดดังกล่าว และในทางกลับกัน หากอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ทีโอทีชนะไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ทั้งหมด ทรูก็พร้อมที่จะยอมรับเช่นกัน แต่การที่ทีโอทีนำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ทีโอทีชำระเงินส่วนแบ่งรายได้ที่ค้างอยู่ตั้งแต่ต้น มาโยงเป็นสาเหตุยกเลิกสัญญาสัมปทานนั้น เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้และไม่ควรทำ ” นายศุภชัยกล่าว
สำหรับกรณีที่ทีโอทีจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำชี้ขาดนั้น นายศุภชัยกล่าวว่า ตามสัญญาสัมปทานระบุไว้ชัดเจนกรณีมีข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญา เมื่อนำเรื่องเสนอต่ออนุญาโตตุลาการและอนุญาโตตุลาการพิจารณาเสร็จสิ้นมีคำชี้ขาดแล้ว ข้อพิพาทดังกล่าวถือเป็นที่สุด การที่ทีโอทีจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ไม่แน่ใจว่าจะยื่นฟ้องในประเด็นใด อย่างไรก็ตาม หากศาลปกครองรับฟ้อง ก็หวังว่ากระบวนการพิจารณาจะเสร็จสิ้นได้โดยเร็ว
ส่วนการเตรียมการของทรูต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น นายศุภชัยแสดงความเห็นว่า ทีโอที คงจะไม่ได้ตั้งใจที่จะยกเลิกสัญญา แต่น่าจะเป็นวิธีของทีโอทีที่จะต่อรองเจรจากันมากกว่า ซึ่งทรูไม่เคยมองว่า ทีโอทีเป็นศัตรู แต่เป็นคู่สัญญาและถือเป็นพันธมิตร และเป็นบริษัทของคนไทยที่จะต้องร่วมกันแข่งขันกับต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันเหลือบริษัทไทยเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ดังนั้น ควรจะต้องจับมือและร่วมกันสะสางปัญหาด้วยเหตุผล และต้องร่วมมือกัน ซึ่งทรูยินดีที่จะเจรจาด้วย ตัวอย่างเช่น ทีโอที ในอนาคตอาจไม่อยากมีภาระในการแบ่งรายได้ค่าเชื่อมโยงโครงข่ายตามแนวคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในขณะที่ทรูต้องการให้มีการแปรสัญญาสัมปทาน ทั้งสองฝ่ายก็สามารถที่จะเจรจาหาทางออกร่วมกันได้ด้วยดีและสร้างสรรค์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายทั้งหมดแต่เพียงอย่างเดียว
นายศุภชัย ยังกล่าวถึงความจำเป็นของการแปรสัญญาสัมปทานว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของการเปิดเสรีอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม รวมทั้งยังเป็นจุดหักเหของหมวดการสื่อสารที่ควรจะพิจารณาปรับสัญญาระหว่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดเสรี และให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
“ ในทุกประเทศที่มีการเปิดเสรีอย่างเป็นธรรม รัฐวิสาหกิจมีความแข็งแกร่งขึ้น สามารถสร้างรายได้ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะการแข่งขันเป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้น ทีโอที ไม่น่าต้องกลัวประเด็นนี้ หากไม่แปรสัญญาให้เข้ากับโครงสร้างการแข่งขันเสรี เราก็จะมีความเหลื่อมล้ำด้านสัญญาที่ทำมาในอดีตอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะต้องเสียทรัพยากรไปกับการใช้มาตรการทางกฎหมาย ควรที่จะมีการเจรจาระหว่างกัน เพื่อให้มีการแปรสัญญา และเราควรจะช่วยกันระดมทุนขยายตลาดในประเทศของเรา ก่อนที่ต่างชาติจะช่วยทำแทนเรา และจะต้องร่วมสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับคนไทยของเรา “
สำหรับกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับส่วนแบ่งรายได้ค่าเชื่อมโยงโครงข่ายนั้น มีความเป็นไปได้ด้วยเช่นกันว่า อาจเกิดกับผู้ประกอบการรายอื่นเช่น ทีทีแอนด์ที ซึ่งยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการในกรณีเดียวกัน และสำหรับ DTAC ก็มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับค่าเชื่อมโครงข่าย access charge ที่ไม่เป็นธรรมเช่นกัน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ทีโอที ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมดูแล (Regulator) แล้ว การทำให้การแปรสัญญาสัมปทานยืดเยื้อออกไปไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด ผู้ประกอบการควรที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคม สามารถก้าวผ่านการเปิดเสรีไปได้ ที่ผ่านมา แม้จะมีข้อพิพาทระหว่างกัน แต่การทำงานระหว่างทรู กับ ทีโอที ก็ยังคงดำเนินไปได้ด้วยดี เมื่อมีประเด็นที่ไม่เห็นพ้องต้องกัน ก็ต้องหาคนกลางมาพิจารณาหาข้อยุติ ซึ่งก็คือ อนุญาโตตุลาการ
“ ปมปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกำลังคลี่คลายตัวลง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทางกฎหมาย อนุญาโตตุลาการ หรือ กทช. ที่มีส่วนทำให้ข้อพิพาทและความขัดแย้งต่างๆ คลี่คลายไปสู่การเปิดเสรีเป็นธรรม รวมทั้งการแปรสัญญาสัมปทาน ซึ่ง กทช. มีอำนาจในการกำหนดกรอบการเปิดเสรี เช่น กรณีการเชื่อมโครงข่ายรูปแบบสองทาง (Interconnection Regime) โดยให้ผู้ใช้โครงข่ายทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะเรียกเก็บค่าบริการได้ แทนที่จะเป็น ทีโอที แต่ฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการเปิดให้ผู้ประกอบการหลายฝ่ายสามารถแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อให้บริการที่ดีที่สุด และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ “
“ การที่ทีโอทีเสนอแนวคิดยกเลิกสัญญาสัมปทาน โดยอ้างว่าทรูทำผิดสัญญา ถือเป็นการทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมและประเทศที่กำลังจะก้าวไปสู่การเปิดเสรี ถอยหลังเข้าสู่ยุคผูกขาด ขาดการแข่งขัน ซึ่งสวนทางกับแนวทางของประเทศในการขับเคลื่อนกระบวนการเปิดเสรี อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดให้ทั้งกับผู้บริโภคและประชาชน “ นายศุภชัยกล่าวในที่สุด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เสาวนีย์ ลิมมานนท์ โทร +66 (0) 2699 2777 อีเมลล์ saovanee_lim@truecorp.co.th
ณวนุช สรรพบพิตร โทร +66 (0) 2699 2776 อีเมลล์ nawanooch_san@truecorp.co.th
ศิษฎิ รูเบ็น โทร +66 (0) 2643 2463 อีเมลล์ sisadhi_reu@truecorp.co.th--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ