กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์
โครงงานที่ได้รับรางวัลที่ 1 ระดับ 3 ดาวทอง ในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ปี 2548 นี้ ได้แก่ โครงการแรกคือ โครงงานน้ำหมึกเติมปากกาไวท์บอร์ด เป็นการศึกษาทดลอง โดย ด.ญ.ทัศนีย์ ฐานียธรรมคุณ ม.3/1 ด.ญ. ณหทัย ปวณะฤทธิ์ ม.3/1 และ ด.ญ. วัชราภรณ์ ศรีสวัสดิ์ ม.3/1
อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานคือ นางเฉิดฉันท์ คงความซื่อ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
โรงเรียนแม่สะเรียง “บริพัตรศึกษา”กระบวนการผลิตหมึกสำหรับใช้กับปากกาเขียนไวท์บอร์ดที่มีส่วนประกอบหลักโดยทั่วไปมีอันตรายต่อผู้ใช้ คือ ผงสีสังเคราะห์และตัวทำละลายอินทรีย์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเมื่อสูดดมเข้าไปเป็นเวลานาน ดังนั้น จึงได้คิดจะผลิตหมึกเพื่อเติมปากกาไวท์บอร์ด โดยให้มีส่วนผสมของสีธรรมชาติที่สกัดจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นและเลือกตัวทำละลายที่มีพิษต่ำ อาทิ เปลือกลูกหว้า ผงคราม กระเจี๊ยบและอัญชัน
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาผลเสียต่อสุขภาพของผู้ใช้ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการนำปากกาไวท์บอร์ดที่น้ำหมึกหมดให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เป็นการลดปริมาณขยะที่ทำลายได้ยากอีกด้วย
โครงงานที่สอง คือ “หลา” เครื่องมือปั่นเส้นฝ้ายของคุณย่า ในอดีตชาวบ้านมีการรู้จักการทอผ้าเพื่อใช้สำหรับการสวมใส่ มีการสืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นฝีมือการประดิษฐ์ของนายอัครพงศ์ บุญตันกัน ,นายอัครพันธุ์ บุญตันกัน , นายคณิน อินทะวงศ์ และนายแพงชนม์ กิตตินานนท์ อาจารย์ที่ปรึกษาคือ นางสาวพัทยา ยะมะโน โรงเรียนปายวิทยาคาร อำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน การทอผ้าฝ้ายในอำเภอปาย ถือเป็นภูมิปัญญาที่มีการอนุรักษ์สืบทอดกันมาอย่างช้านาน โดยมีกรรมวิธีจากการเริ่มปลูกฝ้ายในพื้นที่ของตนเอง เมื่อฝ้ายได้ที่แล้วก็จะมีการเก็บฝ้ายมาแยกเมล็ดโดยการรีดออก นำมาตีให้แตกฟูแล้วนำใยฝ้ายมาทำการขึ้นเกลียวของใยฝ้าย จะมีเครื่องที่ใช้สำหรับขึ้นเกลียวคือ “หลา”หรือภาษาท้องถิ่นอำเภอปายเรียกว่า “เผี่ยนฝ้าย” ซึ่งคำว่า “เผี่ยน”
มาจากภาษาไทยใหญ่แปลว่า กงล้อ ดังนั้นเผี่ยนฝ้ายก็คือกงล้อสำหรับการปั่นฝ้าย จากการสอบถามวิธีใช้เครื่องหลา พบว่าจะมีการออกแรงจากกงล้อใหญ่เพื่อให้เหล็กในหมุนใยฝ้ายให้ขึ้นเกลียวได้ซึ่งเส้นฝ้ายที่ได้จะมีความแข็งแรง ยืดหยุ่นและเหนียวมากกว่าใยฝ้าย ทำให้กลุ่มเกิดความสนใจที่จะศึกกษาถึงกลไกการทำงานของหลาจากส่วนต่าง ๆ ของหลา ที่ส่งผลถึงค่าความเหนียวของเส้นใยและการหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยของการขึ้นเกลียวฝ้ายจากหลาได้
โครงการที่สาม คือ ฮอมผญาไว้ฮื้อลูกหลาน ผลงานของโรงเรียนชุมชนบ้านน้ำดิบ สำนักงาน
เขตพื้นที่การศึกษา แม่ฮ่องสอน เขต 2 เป็นฝีมือการประดิษฐ์ของ ด.ญ.หนึ่งฤทัย เทียนชัยพนา ด.ช. วีระพงศ์ ทะนันชัย และ ด.ญ. ยลดา มาชื่น อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานคือ นางอัมพร อินตาวงษ์ และนางพัฒนาภรณ์ บุญสุทธิ์ เนื่องจากปัจจุบันมีเครื่องมืออุปกรณ์ดักจับสัตว์ที่ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าทันสมัยขึ้นมากมาย และไม่ต้องเสียเวลาที่จะดักจับสัตว์ได้อย่างรวดเร็วและได้จำนวนมาก ดังนั้นจึงได้มีการค้นคว้าสำรวจเครื่องมืออุปกรณ์ดักสัตว์ในสมัยโบราณขึ้น ทำให้เด็ก ๆ ได้รู้จักเครื่องมืออุปกรณ์ดักจับสัตว์ในสมัยโบราณ จึงเป็นการกระตุ้นให้เด็กรู้จักการประดิษฐ์เครื่องมืออุปกรณ์ดักจับสัตว์ได้ เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และร่วมมือกันในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น อันได้แก่ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ถือว่าท่านเป็นปราชญ์ชาวบ้านธำรงรักษาองค์ความรู้ที่ถือกำเนิดจากท้องถิ่นกรรมวิธีอันแยบยลของภูมิปัญญาชาวบ้านให้สืบทอดต่อไปยังเยาวชนรุ่นใหม่ต่อไป
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--