กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คงเดิมที่ระดับ “A+” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีประกันในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทของบริษัท โดยหุ้นกู้ระยะยาวซึ่งมีกำหนดชำระในปี 2550-2551 อยู่ที่ระดับ “A+” และหุ้นกู้ระยะสั้นซึ่งชำระในปี 2549 อยู่ที่ระดับ “T1” พร้อมทั้งคงแนวโน้มอันดับเครดิตที่ “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ ตลอดจนความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหาร และการประหยัดจากขนาดเนื่องจากการเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ การให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและสม่ำเสมอ รวมทั้งเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและความเสี่ยงจากข้อบังคับทางกฎหมายที่อาจกระทบต่อการขยายตัวของความต้องการในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทริสเรทติ้งกล่าวถึงอันดับเครดิตระยะสั้นที่ระดับ “T1” ว่าสะท้อนถึงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นหลัก ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความพอเพียงของเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มบริษัทไทยเบฟที่มีมากกว่า 10,000 ล้านบาท และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งซึ่งมีมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
โดยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงดำรงความสามารถในการแข่งขันและคงสถานะความเป็นผู้นำในตลาดเบียร์และสุรา อย่างไรก็ตาม บริษัทยังจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งจากผู้ผลิตเบียร์ไทยและผู้นำเข้าสุราจากต่างประเทศจากผลของการเปิดเสรีธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนผลของข้อตกลงในเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และเขตการค้าเสรี (FTA)
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทต่างๆ จำนวน 63 แห่งซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากหลายประเภททั้งเบียร์ สุราขาว สุราสี สุราสมุนไพรจีน และสาเก โดยตราสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทย เช่น แม่โขง แสงโสม และรวงข้าวสำหรับเครื่องดื่มสุรา และช้างสำหรับเบียร์ สินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทมีกลุ่มเป้าหมายที่บริโภคสินค้าอีโคโนมี่ (สินค้าราคาประหยัด) ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของตลาดโดยรวม การดำเนินกลยุทธ์ที่เน้นให้ตัวแทนจำหน่ายสั่งซื้อผลิตภัณฑ์โดยรวมช่วยผลักดันให้เบียร์ช้างขึ้นเป็นผู้นำตลาดได้ในระยะเวลาเพียง 5 ปีภายหลังจากการเปิดตัวในปี 2538 อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทจะคงความเป็นผู้นำในตลาดเบียร์ของไทย ทว่ายอดขายเบียร์ของบริษัทเริ่มชะลอตัวลงหลังจากที่กลุ่มไทยเบฟได้เปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดโดยตัวแทนจำหน่ายสามารถสั่งซื้อสินค้าตามตราผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทที่ต้องการแทนที่จะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์โดยรวมเช่นเดิม ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้คู่แข่งรายสำคัญคือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น ปัจจุบันบริษัทครองตลาดในประเทศเป็นหลักโดยเป็นผู้นำตลาดเบียร์ในสัดส่วน 60% และในตลาดสุรา 74%
การออกหุ้นกู้ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของบริษัทไทยเบฟเวอเรจที่จะครบกำหนดในเดือนมีนาคม 2549 จำนวน 36,600 ล้านบาท โดยบริษัทมีแผนจะชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นในส่วนที่เหลืออีกจำนวน 26,600 ล้านบาทด้วยเงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงิน ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--