กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยได้พัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศชาติพันธมิตรเพิ่มมากขึ้น ประเทศสหรัฐอเมริกาก็เป็นชาติพันธมิตรชาติหนึ่งที่มีการพัฒนาอย่างแน่นแฟ้น เริ่มจากการฝึกผสมยกพลขึ้นบก ระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือและหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐฯ ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ ต่อมาเพื่อให้การฝึกมีลักษณะบูรณาการมากยิ่งขึ้น ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ กองทัพเรือจึงได้รวมการฝึกของกองทัพเรือและกองทัพเรือสหรัฐฯ หลายรหัสการฝึกเข้าด้วยกัน กำหนดเป็นรหัสใหม่เรียกว่า "คอบร้าโกลด์ ๘๒" การฝึกคอบร้าโกลด์เป็นการฝึกที่มีการพัฒนาไปอย่างกว้างขวาง ประกอบกับมีกำลังจากทุกเหล่าทัพเข้าร่วมฝึกนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ถึงแม้ว่าการฝึกคอบร้าโกลด์ จะมีวัตถุประสงค์หลักในการเตรียมความพร้อมให้แก่กำลังพล ในการปฏิบัติการทางทหารของทั้งกองทัพไทยและกองทัพสหรัฐฯ ก็ตาม แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติร้ายแรง ทางธรรมชาติ กองทัพไทยและกองทัพสหรัฐฯ ก็ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาการฝึกให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ ๒๖ เดือนธันวาคม ๒๕๔๗ ซึ่งตรงกับการฝึก คอบร้าโกลด์ ๒๐๐๕ กองทัพไทยและกองทัพสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนจากการฝึกปัญหาที่บังคับการเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนหลังภัยพิบัติ
สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๐๐๖ ในปี ๒๕๔๙ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกการวางแผนเผชิญ สถานการณ์วิกฤติในแบบของการใช้กำลังปฏิบัติการบังคับให้เกิดสันติภาพ และการปฏิบัติการรักษาสันติภาพโดยจัดตั้งเป็นกองบัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจร่วม/ผสม และกองบัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพ โดยมีพื้นที่การฝึกครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกรวม ๖ จังหวัดได้แก่ จังหวัดนครนายก จังหวัดลพบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดจันทบุรี รวมทั้งพื้นที่ฝึกในอ่าวไทยตอนบน และบริเวณใกล้เคียง ทั้งสองฝ่ายจัดกำลังประกอบเป็นหน่วยเฉพาะกิจ ร่วม/ผสม มีที่ตั้งบริเวณโรงเรียนเตรียมทหาร กรมยุทธศึกษาทหาร จังหวัดนครนายก โดยมี พลโท เขมรัฐ กาญจนวัฒน์ เจ้ากรมยุทธการทหาร เป็น ผู้อำนวยการฝึกฝ่ายไทย พันเอก David A. Schneider หัวหน้าฝ่ายฝึกร่วมและผสมกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นแปซิฟิก เป็นผู้อำนวยการฝึกฝ่ายสหรัฐฯ พลโท จิรสิทธิ เกษะโกมล แม่ทัพน้อย ๑ เป็น ผู้บัญชาการ กองกำลังเฉพาะกิจร่วม/ผสม
สำหรับหน่วยต่าง ๆ ขึ้นการบังคับบัญชา ดังนี้
กองกำลังทางบกผสม มี พลตรี พฤณท์ สุวรรณทัต ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ เป็น ผู้บัญชาการกองกำลังทางบกผสม
กองกำลังทางเรือผสม มี พลเรือตรี บุญชัย มรินทร์พงษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบก กองเรือยุทธการ เป็นผู้อำนวยการ กองอำนวยการฝึกคอบร้าโกลด์ ๐๖ ระดับกองทัพเรือ และ ผู้บัญชาการ กองกำลังทางเรือผสม
กองกำลังนาวิกโยธินผสม มี พลเรือตรี ศักดิ์ชาย อุบลเดชประชารักษ์ ผู้บัญชาการกองพล นาวิกโยธิน เป็น ผู้บัญชาการกองกำลังนาวิกโยธินผสม
กองกำลังทางอากาศผสม มี พลอากาศตรี ศรีเชาวน์ จันทร์เรือง เป็น ผู้บัญชาการกองกำลังทางอากาศผสม
การจัดกำลังและยุทโธปกรณ์ที่เข้ารับการฝึก ทั้งหมดจำนวน ๑๑,๒๙๕ นาย
- ฝ่ายไทย มีกำลังพลเข้าร่วมฝึก จำนวน ๔,๒๑๖ นาย เรือ ๓ ลำ (ประกอบด้วย เรือหลวงสีชัง เรือหลวงมันนอก และเรือหลวงบางระจัน) อากาศยาน ๒๘ เครื่อง
- ฝ่ายสหรัฐฯ มีกำลังพลเข้าร่วมการฝึก ๖,๙๒๘ นาย เรือ ๔ ลำ (ประกอบด้วย USS ESSEX (LHD), USS JUNEAU (LPD), USS HARPERS FERRY (LSD) และ USS PATRIOT (MCM) อากาศยาน ๘๑ เครื่อง
- ฝ่ายญี่ปุ่น มีกำลังพลเข้าร่วมการฝึก ๔๐ นาย
- ฝ่ายสิงคโปร์ มีกำลังพลเข้าร่วมการฝึก ๙๖ นาย
- ฝ่ายอินโดนีเซีย มีกำลังพลเข้าร่วมการฝึก ๑๕ นาย
ทั้งนี้จะมีพิธีปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ ๐๖ ในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ณ ลานอเนกประสงค์หน้ากองบังคับการโรงเรียนเตรียมทหาร จังหวัดนครนายก
(ที่มา : ข่าว กอฝ.คอบร้าโกลด์ ๐๖ ระดับกองทัพเรือ โทร.๕๒๓๙๗)