กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์-กรุงเทพฯ/ฮ่องกง/สิงคโปร์- 10 ตุลาคม 2549: บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ที่ ‘AAA(tha)’ แก่หุ้นกู้ที่จะออกโดย บริษัท ดีเอดี เอสพีวี จำกัด ชุดที่ 1 มูลค่า 2,200 ล้านบาท (ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2563) และ ชุดที่ 2 มูลค่า 6,000 ล้านบาท (ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2568) ที่จะออกในเดือนตุลาคมนี้ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตในประเทศที่ ‘AAA(tha)’ ของหุ้นกู้ทั้ง 4 ชุด มูลค่ารวม 10,300 ล้านบาท ที่ออกโดยดีเอดี เอสพีวี ในปี 2548 สำหรับโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์นี้ ดีเอดี เอสพีวี สามารถทยอยออกหุ้นกู้ได้ทั้งหมดไม่เกิน 24,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี ทั้งนี้ความสามารถในการออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในปีหลังๆนั้น ขึ้นอยู่กับระดับอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศว่ากระแสเงินสดรับนั้น จะต้องเพียงพอต่อการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของหุ้นกู้รวมทั้งหมด และการออกหุ้นกู้เพิ่มนั้นจะต้องไม่มีผลต่ออันดับเครดิตของหุ้นกู้ที่ออกไปแล้ว
โครงการนี้เป็นโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลไทย โดยใช้กระแสเงินสดตลอดระยะเวลา 30 ปีที่จะได้รับจากค่าเช่าและค่าบริการต่างๆจากอาคารศูนย์ราชการแห่งใหม่บนถนนแจ้งวัฒนะมาสนับสนุนการออกหุ้นกู้ ทั้งนี้มีบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส. ซึ่งถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง 100% เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2548 ดีเอดี เอสพีวี ได้ทำการซื้อสิทธิเรียกร้องจาก ธพส. บนกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากกรมธนารักษ์ภายใต้ 3 สัญญา ได้แก่สัญญาเช่าพื้นที่อาคาร สัญญาบริการ และสัญญาบริการจัดหาเฟอร์นิเจอร์ โดยสิทธิเรียกร้องมีมูลค่าทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท ซึ่ง ดีเอดี เอสพีวี ได้ทำการชำระค่าซื้อสิทธิจำนวน 7,800 ล้านบาท จากเงินสุทธิหลังจากกันสำรองแล้วที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ในปี 2548 และค่าซื้อสิทธิส่วนที่เหลือจำนวน 32,200 ล้านบาทได้ชำระเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินด้อยสิทธิซึ่งออกให้แก่ ธพส.โดยตั๋วสัญญาใช้เงินด้อยสิทธิจะได้รับการชำระคืนบางส่วนจากเงินสุทธิที่ได้จากการที่ ดีเอดี เอสพีวี ออกหุ้นกู้ในปีนี้และในปี 2550 ตั๋วสัญญาใช้เงินด้อยสิทธินี้ มีลำดับการรับชำระคืนจากกระแสเงินสดของโครงการรองจากภาระหุ้นกู้และค่าใช้จ่ายภายใต้โครงการและถือเป็นส่วนหนึ่งของส่วนสนับสนุนเครดิต
อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดรับที่แน่นอนแบบไม่มีเงื่อนไขจากผู้เช่าคือกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการคลัง การมีเงินสดสำรองเพื่อชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในช่วงระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงการสำรองเงินสดเพื่อชำระเงินต้นของหุ้นกู้เมื่อครบกำหนด อันดับเครดิตนี้บ่งบอกถึงความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่ตรงต่อเวลา และความสามารถในการชำระคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนด
ความเสี่ยงจากการหาแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อชำระหนี้หุ้นกู้ที่อาจเกิดกับหุ้นกู้ชุดที่ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2568 (หุ้นกู้ครั้งที่ 1/2548 ชุดที่ 4 และหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2549 ชุดที่ 2) ได้ถูกลดทอนลงบางส่วนจากการมีเงินสำรองเพื่อชำระคืนเงินต้น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณเงินที่ต้องหาแหล่งเงินกู้ใหม่ประกอบกับกระแสเงินสดรับหลังจากปี 2568 ตามสัญญา คาดว่าจะสามารถรองรับอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ใหม่ได้สูงถึง 15% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยตามสมมุติฐานของฟิทช์ สำหรับกรณี ‘AAA(tha)’ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอ้างอิงในอดีต
ดีเอดี เอสพีวี เป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายประเทศไทย และได้รับสถานะนิติบุคคลเฉพาะกิจตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์จากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
สำหรับรายงานฉบับสมบูรณ์หาได้จาก www.fitchratings.com และ www.fitchratingsasia.com
ติดต่อ: อรวรรณ การุณกรสกุล, นภจักร ผาสุกวนิช, Vincent Milton, +662 655 4755, Stan Ho + 852 2263 9668
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน