กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--สถาบันพัฒนา SMEs
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จับมือ สถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล เร่งพัฒนา ผู้ประกอบการผลิตอาหารส่งออกเข้าสู่มาตรฐานอาหารฮาลาล นำร่องจัดสัมมนา “แนวทางทำธุรกิจอาหารสู่มาตรฐานฮาลาลเพื่อเพิ่มโอกาสการขาย” หวังกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวด้านการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการ ให้ถูกต้องตามข้อกำหนดกรรมวิธีและได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลมากขึ้น
นายเมธี ลีละวัฒน์ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สายปฏิบัติการ เปิดเผยว่า สถาบันได้ร่วมกับสถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล จัดทำโครงการพัฒนามาตรฐานอาหารฮาลาลเพื่อการพัฒนา SMEs โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไของค์ประกอบที่ เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตอาหารให้สามารถยกระดับคุณภาพอาหารเข้าสู่มาตรฐานอาหารฮาลาล และได้รับ การรับรองผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลาม จนสามารถยกระดับมาตรฐานด้านคุณภาพอาหารฮาลาลสู่สากลได้ในที่สุด
“ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออกได้เพียง 0.25 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท จากมูลค่าการส่งออกอาหารของไทยรวม 500,000 ล้านบาทต่อปี เป็นอันดับ 5 รองจากสหภาพ ยุโรป อเมริกา แคนาดา และจีน ขณะที่ประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วโลกมีถึง 2,000 ล้านคน หรือ 25—30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลก ในอนาคตประเทศไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออกได้มากขึ้น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งเป้าเพิ่มยอดการจำหน่ายอาหารฮาลาลไว้ประมาณ 20—30 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี สำหรับประเทศที่นำเข้าอาหารฮาลาลจากไทยมากที่สุดคือ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งมากกว่าครึ่งเป็นการ นำเข้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศมุสลิมในภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้ สินค้าอาหารฮาลาลที่นำเข้าจากไทยจะถูกแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า” นายเมธี กล่าว
นายเมธี กล่าวต่อว่า อาหารฮาลาลนับว่าเป็นตลาดที่มีลักษณะเฉพาะตัว (Niche Market) ซึ่งมีเรื่องของศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง ชาวมุสลิมในแต่ละภูมิภาคทั่วโลกต่างก็มีความต้องการที่หลากหลายกันไป จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรสนิยม และลักษณะการบริโภคของชาวมุสลิมในแต่ละภูมิภาคและมาตรฐานอาหารฮาลาลในแต่ละประเทศ ดังนั้น สถาบันจึงได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาผู้ประกอบการเป็น 2 ส่วน คือ 1) การฝึกอบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบ และมาตรฐานของอาหารฮาลาล 2) การให้คำปรึกษาและวิเคราะห์ด้านการบริหารจัดการและการตลาด และเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารแปรรูปต่างๆ เกิดความสนใจในการเข้าร่วมโครงการ สถาบันจึงได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “แนวทางนำธุรกิจอาหารสู่มาตรฐานฮาลาลเพื่อเพิ่มโอกาสการขาย” ณ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันพุธที่ 30 มีนาคม 2548 เนื้อหาการสัมมนาทั้งวันจะเน้นในเรื่องแนวทางการนำธุรกิจอาหารสู่มาตรฐานฮาลาลและการเพิ่มโอกาสการขาย ทั้งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจอาหารสู่มาตรฐานดังกล่าว ซึ่งผู้สนใจสมัครหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 02-564-4000 ต่อ 7111-3 (ศูนย์บริการ) และ 2009-2016 (ฝ่ายอบรม) หรือ Download ใบสมัครได้ที่ www.ismed.or.th ค่าสัมมนาเพียง 200 บาทต่อท่าน (รวมอาหารกลางวันและอาหารว่าง)
“ชาวมุสลิมทุกคนจะต้องบริโภคอาหารฮาลาลทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการผลิตอาหารซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่มุสลิมจะต้องมองให้ได้ว่าตลาดอาหารฮาลาลเป็นช่องทางการตลาด (Market Channel) สำคัญ เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจทางการค้า ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการผลิตอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออก จึงทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความน่าเชื่อถือ “มาตรฐานอาหารฮาลาล” ของประเทศไทยเพื่อให้เกิดความมั่นใจและได้รับการยอมรับจากชาวมุสลิมทั้งในและต่างประเทศว่า เป็นอาหารฮาลาลที่ถูกต้องตามข้อบัญญัติศาสนาอิสลามและสอดคล้องกับมาตรฐานอาหารฮาลาลด้วย” นายเมธี กล่าวในที่สุด--จบ--