กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--นีโอ ทาร์เก็ต
กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปศท.) โดยความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือ บีเอสเอ เปิดแถลงสถิติการจับกุมร้านค้าปลีกซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในปี 2548 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งแถลงแผนงานการปราบปรามการใช้หรือจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในปี 2550
ระหว่าง กรกฎาคม — ธันวาคม 2548 มีสถิติการจับกุมการจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในศูนย์การค้าต่าง ๆ ทั้งสิ้น 23 ราย มีผู้ต้องหา 43 คน และมูลค่าความเสียหายคิดเป็นเงินกว่า 36,850,000 บาท และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคมจนถึงตุลาคม 2549 มีสถิติการจับกุมการจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น 54 ราย มีผู้ต้องหา 61 คน และมูลค่าความเสียหายคิดเป็นเงินกว่า 107,025,600 บาท
การจับกุมสินค้าซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของ บก.ปศท. เป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในบันทึกความเข้าใจระหว่างบีเอสเอและกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการรณรงค์ปราบปรามการจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในศูนย์การค้าต่าง ๆ
บันทึกความเข้าใจฉบับนี้นับเป็นการริเริ่มกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการจัดการกับผู้จำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย
พล.ต.ต. รุจิรัตน์ หลุ่มบุญเรือง ผู้บังคับการ บก.ปศท. กล่าวว่า “ตำรวจเฝ้าระวังและจับตามองพฤติกรรมน่าสงสัยเกี่ยวกับการจำหน่ายและการแพร่กระจายของซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะลงมือตรวจค้นจับกุมผู้ละเมิดทุกเวลา เพื่อปราบปรามการค้าปลีกซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาจะต้องถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมอย่างแน่นอน”
มร. ดรุณ ซอว์นีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอ เปิดเผยว่าการดำเนินการจับกุมสินค้าซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ควรมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปี 2550 “เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 35 และร้อยละ 54 ในเอเชีย อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยสูงถึงร้อยละ 80 ในปี 2548 เพิ่มขึ้น 1 จุดจากปี 2547 โดยยอดการสูญเสียรายได้จากการละเมิดลิขสิทธิ์ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สูงกว่า 9,500 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมไอที”
มร. ซอว์นีย์ กล่าวเสริมว่า “หากอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลง 10 จุด ภายในระยะเวลา 4 ปี อุตสาหกรรมไอทีจะมีโอกาสขยายตัวได้ถึงร้อยละ 91 ในปี 2552 เทียบกับปี 2547 และจะช่วยสร้างงานด้านไอทีอีก 4,763 ตำแหน่ง รวมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและรายได้จากการจัดเก็บภาษีของภาครัฐอีกด้วย” เกี่ยวกับบีเอสเอ
บีเอสเอเป็นผู้นำแถวหน้าที่ทุ่มเทให้กับการส่งเสริมโลกดิจิตอลที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย และเป็นตัวแทนของสมาชิกในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก อีกทั้งเป็นกระบอกเสียงสำคัญของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์และคู่ค้าธุรกิจฮาร์ดแวร์ต่อหน้าภาครัฐ และในตลาดการค้าระหว่างประเทศ บีเอสเอช่วยสนับสนุนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีผ่านทางโครงการเพื่อการศึกษาและการริเริ่มแนวนโยบายต่างๆ เพื่อส่งเสริมการปกป้องลิขสิทธิ์ ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ การค้าและอีคอมเมิร์ส สมาชิกของบีเอสเอในระดับโลก รวมถึง Adobe, Apple, Autodesk, Avid, Bentley Systems, Borland, CNC Software/Mastercam, Internet Security Systems, Macromedia McAfree, Microsoft, PTC, SolidWorks, Sybase, Symantec, The MathWorks และ UGS สมาชิกในภูมิภาคเอเชียรวมถึง Minitab และ Trend Micro สำหรับในประเทศไทยบีเอสเอร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) สมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย (ATCI) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา