กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งมอบปุ๋ยชีวภาพอัลจินัวให้แก่กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อนำไปใช้ในโครงการพระราชดำริ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ระบุเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเพิ่มผลผลิตพืช พร้อมปรับปรุงบำรุงคุณภาพดิน ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงในพิธีส่งมอบปุ๋ยชีวภาพอัลจินัวให้แก่กรมส่งเสริมการเกษตรว่า ปุ๋ยที่มีการส่งมอบในครั้งนี้มีจำนวน 12 ตัน โดยจะนำไปใช้ในโครงการพระราชดำริ หมู่บ้านสหกรณ์ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้และสร้างคุณภาพดินให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน
ปุ๋ยชีวภาพอัลจินัว เป็นผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. ซึ่งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับบริษัทอัลโกเทค จำกัด นำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปุ๋ยชนิดนี้ วว. ได้พัฒนาขึ้นด้วยกระบวนการเทคโนโลยีชีวภาพในการคัดเลือกทรัพยากรชีวภาพขนาดเล็กคือ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวเป็นวัสดุออกฤทธิ์ในตัวปุ๋ย ซึ่งมีคุณสมบัติเพิ่มธาตุอาหารให้กับพืชโดยเฉพาะธาตุไนโตรเจนและมีประสิทธิภาพปรับปรุงบำรุงคุณภาพของดินให้ดีขึ้น ส่งผลให้การเจริญแพร่กระจายของรากพืชและการสร้างผลผลิตของพืชเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น
สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวในปุ๋ยอัลจีนัว ประกอบด้วยสาหร่ายในสกุล Anabaena , Calothrix, Cylindrospermum, Fischerella, Hapalosiphon, Nostoc, Scytonema, และ Tolypothric สาหร่ายเหล่านี้สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศและนำลงสู่ดินได้ประมาณ 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ และสามารถสร้างสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของต้นข้าว ตลอดจนสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ทนต่อความแห้งแล้ง ทนต่อความร้อนได้ดี เมื่อได้รับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สาหร่ายนี้จะเจริญขึ้นมาใหม่
“สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวในปุ๋ยอัลจีนัว ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยว่า ไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้มีการทดสอบปุ๋ยในไร่นาเพื่อวิเคราะห์ผลทางการเกษตรและผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ได้ผลว่า การใช้ปุ๋ยชีวภาพอัลจินัวอัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ และแต่งหน้าด้วยปุ๋ยเคมี 46-0-0 (ปุ๋ยยูเรีย) อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตข้าวมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงเดียว โดยข้าวจะแตกกอได้ดี ต้นข้าวเขียวนานกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี เมล็ดข้าวสวย น้ำหนักข้าวดี ดินร่วนซุย ไถพรวนง่าย และดินสามารถอุ้มน้ำได้เพิ่มขึ้น ทำให้ลดจำนวนครั้งของการให้น้ำแก่ต้นข้าว” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับคำแนะปรึกษาเกี่ยวกับ “ปุ๋ยชีวภาพอัลจีนัว”
ได้ที่ ฝ่ายจัดการสถานีวิจัย วว. โทร. 0 2579 1121-30 ในวันเวลาราชการ