กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--สสส.
นักวิชาการเผยผลการศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุทั่วประเทศ พบผู้สูงอายุถูกทำร้ายจิตใจสูงสุด รองลงมา เป็นเรื่องการทอดทิ้ง ละเลย การเอาประโยชน์ ชี้โครงสร้างสังคมเปลี่ยนผู้สูงอายุมีแนวโน้มถูกใช้ความรุนแรงมากขึ้น วอนช่วยกันรณรงค์สร้างความเข้าใจ ดึงชุมชนร่วมดูแล
ผศ.ดร.สุวิณี วิวัฒน์วานิช คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการศึกษาเรื่องความรุนแรงผู้สูงอายุไทย:การทบทวนองค์ความรู้และสถานการณ์ในปัจจุบัน สนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า แนวโน้มผู้สูงอายุในสังคมไทยจะถูกใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการดูแลผู้สูงอายุในสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ลูกหลานต้องช่วยกันดูแล แต่เมื่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพและสภาพเศรษฐกิจของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปทำให้ลูกหลานต้องไปประกอบอาชีพนอกบ้านหรือย้ายถิ่นไปทำมาหากินที่อื่น ทำให้การดูแลผู้สูงอายุลดน้อยลง และอาจมีแนวโน้มในการใช้ความรุนแรงแก่ผู้สูงอายุที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจมากขึ้น
ผลจากการศึกษาข้อมูลในพื้นที่ทั้ง 4 ภาครวมทั้งเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าสถานการณ์การกระทำความรุนแรงต่อผู้สูงอายุไทยมีหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน ข้อมูลจากผู้ที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ สงเคราะห์ผู้สูงอายุ โดยปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุมี แนวโน้มเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ถูกละเลย ทอดทิ้ง และถูกกระทำรุนแรงทางด้านจิตใจ จากลูกหรือสมาชิกในครอบครัว
ผศ.ดร.สุวิณี กล่าวว่า ในกรณีที่ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง “สาเหตุส่วนใหญ่มาจากผู้สูงอายุอยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อยลง เจ็บป่วย ครอบครัวยากจนลูกไม่สามารถดูแลได้ หรือลูกทิ้งให้อยู่บ้านตามลำพัง และลูกไปประกอบอาชีพที่อื่นขาดการติดต่อ" ส่วนความรุนแรงที่พบในลำดับรองลงมา คือ การทำร้ายทางจิตใจจากคำพูด หรือพฤติกรรมที่ลูกแสดงต่อผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุเสียใจ หมดกำลังใจ เช่น การด่าทอ ว่ากล่าว บังคับขู่เข็ญ การไม่เคารพเชื่อฟัง นอกจากนี้ยังพบว่า ในหลายกรณี พบการกระทำรุนแรงโดยการเอาเปรียบทางด้านทรัพย์สิน เกิดจากการที่พ่อแม่ผู้สูงอายุได้แบ่งและมอบทรัพย์สินแก่ลูกหมดเรียบร้อยแล้ว และลูกไม่ให้พ่อแม่อยู่ในบ้าน ผู้สูงอายุจึงต้องมาอยู่ ณ สถานสงเคราะห์คนชรา หรือกรณีที่ลูกๆให้บิดามารดาผู้สูงอายุไปขอทานมาเลี้ยงลูกหลาน
ส่วนการกระทำรุนแรงทางร่างกายต่อผู้สูงอายุ พบ กรณีการทุบตี ชกต่อย การทำร้ายร่างกายผู้สูงอายุ เกิดจากลูกเมาสุรา ติดสารเสพติด ผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศเกิดจากการที่ลูกป่วยเป็นโรคจิต ทั้งนี้ กรณีทำร้ายทางกายหรือทางเพศยังมีการรายงานจำนวนไม่มาก ทั้งนี้อาจเกิดจากเป็นปัญหาที่ซ่อนเร้น ไม่กล้าบอก ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องรับรู้จากการสังเกตผู้สูงอายุดังกล่าว มีอาการหงอยเหงา ซึมเศร้า หรือพบมีร่องรอยมีบาดแผล ฟกซ้ำ ดำเขียว" ผศ.ดร.สุวิณี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.สุวิณี กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่สังคมไทยรับไม่ได้ เนื่องจากการทำร้ายบุพการีของตัวเองถือเป็นบาป เช่น กรณีคลิปลูกทำร้ายแม่ที่ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ที่เกิดขึ้น แต่หากดูด้วยความเข้าใจจะพบว่า ลูกที่ต้องดูแลแม่ ที่อยู่ในภาวะหลงลืม ช่วยตนเองไม่ได้ เป็นเวลาติดต่อกัน 365 วันโดยไม่มีวันหยุดต่อเนื่องกันมานาน 4 ปี ดังนั้นลูกสาวที่เป็นผู้ดูแลย่อมมีภาวะเครียดสูง เก็บกด รู้สึกเหนื่อย หงุดหงิดจากพฤติกรรมของแม่ตนเอง จึงเป็นประเด็นที่สังคมจะต้องทำความเข้าใจ ร่วมกัน หาทางช่วยเหลือ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ก็จะเกิดกรณีการทำรุนแรงต่อผู้สูงเกิดขึ้นจากผู้ดูแลที่เกิดความเครียดดังกรณีนี้
" กรณี ที่อ.กงไกรลาศ หลังจากที่คลิปเผยแพร่ไป ส่งผลต่อชีวิตของเขา ถึงขั้นต้องย้ายออกจากชุมชน ซึ่งกรณีแบบนี้สังคมจะต้องทำความเข้าใจร่วมกัน หาวิธีการช่วยเหลือทั้งสองฝ่าย คือการเห็นคุณค่าผู้สูงอายุ และผู้ที่ดูแล" ผศ.ดร.สุวิณี กล่าว
ผศ.ดร.สุวิณี กล่าวต่อว่า ปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มมากขึ้น จำเป็นต้องสร้างความตระหนักถึงปัญหา และรณรงค์สร้างเข้าใจกับสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น การเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง การร่วมกันหาทางช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา ร่วมกับการส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุอย่างเข้าใจ ตั้งแต่ระดับครอบครัวที่จะต้องมีการช่วยเหลือกัน แบ่งภาระในการดูแลเพื่อไม่ให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุรับภาระหนักจนเกิดความเครียด หรือหาวิธีการช่วยเหลือ รองรับในกรณีที่ครอบครัวอาจมีข้อจำกัดในการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งการจัดระบบการเฝ้าระวังการกระทำรุนแรงต่อผู้สูงอายุในชุมชน "เราต้องช่วยกันรณรงค์ ค่านิยมของสังคมไทย ในการเคารพ เห็นคุณค่าผู้สูงอายุ ความกตัญญูต่อบุพการี วัฒนธรรมของสังคมที่ ลูกหลาน เข้ามาช่วยดูแล รวมไปถึงการสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ที่สามารถรองรับ ช่วยเหลือครอบครัว หรือผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีความสุขในบั้นปลายชีวิตของท่าน" ผศ.ดร.สุวิณี กล่าวทิ้งท้าย .-
เนาวรัตน์(เล็ก) ชุมยวง
www.thainhf.org
02 511-5855 ต่อ 116