กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมฯ
ตามที่ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าของไทยถูกประเทศอินโดนีเซียกล่าวหาและดำเนินการไต่สวน กรณีทุ่มตลาดสินค้า BOPP Film จนสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกแผ่น BOPP Film ในช่วงปี 2550 ซึ่งหน่วยงานไต่สวนของประเทศอินโดนีเซีย Komite Anti Dumping Indonesia หรือ KADI มาดำเนินการเอากับสินค้าของผู้ส่งออกไทยเพียงประเทศเดียว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 และคาดว่า KADI จะประกาศลงโทษไทยด้วยการขึ้นอากรตอบโต้ในเดือนตุลาคม 2552 ในอัตราภาษีรวมสูงถึง 21.86% จากภาษีนำเข้าเดิมที่ 5%
สภาอุตสาหกรรมฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า KADI ดำเนินการไต่สวนการทุ่มตลาดอย่างไม่เป็นธรรมและขัดกับแนวทางปฏิบัติขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) อย่างชัดเจน ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุที่ไม่ได้ไต่สวนหรือพิจารณาการทุ่มตลาดของประเทศอื่น (ตารางที่ 1) โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาทุ่มตลาดจากประเทศจีน โดยมีอัตราการเติบโตของการนำเข้าสูงกว่าประเทศไทยเกือบเท่าตัว ซึ่งการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ส่งออกของไทย และที่ผ่านมา แม้ว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้มีหนังสือโต้แย้งกรณีดังกล่าวไปยังอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง อาทิ (1) หนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและพาณิชย์ ของอินโดนีเซีย (2) หนังสือโต้แย้งจากกรมการค้าต่างประเทศ และ (3) หนังสือโต้แย้งจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แต่หน่วยงาน KADI ก็ยังคงดำเนินการไต่สวน และไม่ยอมชี้แจงประเด็นข้อโต้แย้งของประเทศไทยแต่อย่างใด แต่กลับออกประกาศใช้มาตรการเก็บภาษีชั่วคราว (Provisional AD Duty) ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม ถึง 8 กันยายน 2552 ส่งผลให้สินค้า BOPP Film จากประเทศไทยต้องมีภาระภาษีรวมสูงถึง 20%
ผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทย
ไทยส่งออกสินค้า BOPP Film ไปอินโดนีเซียในปี 2551 มูลค่า 1,451.99 ล้านบาท (ตารางที่ 2) โดยมีอัตราการขยายตัวที่ดี สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซีย
แต่การประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดจะส่งผลลบต่อการส่งออกสินค้า BOPP Film ของไทยไปอินโดนีเซียได้นานถึง 5 ปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาทต่อปี โดยผลกระทบดังกล่าวเริ่มเห็นชัดเจนหลังจากการที่อินโดนีเซียประกาศใช้มาตรการเก็บภาษีชั่วคราว ส่งผลให้ยอดการส่งออกของไทยลดลงถึง 62 % หรือประมาณ 355 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาเมื่อเทียบกับยอดส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 (ตารางที่ 3)
ข้อเรียกร้องของภาคอุตสาหกรรมไทย
แม้จะได้รับการร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมจากผู้ส่งออกและกระทรวงพาณิชย์ไทยเป็นเวลานานต่อเนื่องกว่า 1 ปี แต่ทาง KADI กลับไม่ให้ความร่วมมือ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อผู่ส่งออกของไทยและคู่ค้าในประเทศอินโดนีเซีย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในฐานะตัวแทนของภาคอุตสาหกรรม ตระหนักและเคารพต่อกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศภายใต้หลักปฏิบัติอันเป็นสากลขององค์การการค้าโลก จึงขอเรียกร้องให้ KADI ประเทศอินโดนีเซียในฐานะเพื่อนประเทศสมาชิกอาเซียน พิจารณาข้อโต้แย้งของไทยอย่างเป็นธรรมอย่างแท้จริง