กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
นอกเหนือจากงานด้านความมั่นคงของประเทศ รักษาอธิปไตยของแผ่นดินแล้ว ทหารเรือยังมีหน้าที่อีกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงพระราชปรารภไว้ว่า ตามเกาะต่าง ๆ มีพืชพรรณอยู่มาก แต่ยังไม่มีผู้สนใจ จึงน่าจะมีการสำรวจพืชพรรณบนเกาะด้วยโดยมีพระราชดำริให้มีการดำเนินงานที่เกาะแสมสาร ที่คล้ายคลึงกับเกาะปอร์กอรอลส์ ของประเทศฝรั่งเศส จัดเป็นสถานที่ศึกษาด้านพืชพรรณ การป่าไม้ และมีคนเข้าชมท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นประจำและให้พัฒนาพื้นที่เกาะแสมสาร และเกาะข้างเคียงให้เป็นแหล่งเก็บรักษาพันธุกรรมพืชตามเกาะ
เมื่อปี ๒๕๔๑ กองทัพเรือ จึงเริ่มโครงการที่เกาะแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ให้กลายเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติวิทยาในอนาคต โดยงานร่วมกับนักวิชาการ นักวิจัย อาสาสมัคร และบุคลากร จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ศึกษาสำรวจทรัพยากรตั้งแต่ยอดภูเขาถึงใต้ท้องทะเล ตามพระกระแสรับสั่ง โครงการนี้ เข้าสู่ปีที่ ๙ แล้ว มีการศึกษาเก็บข้อมูลสาขาต่าง ๆ ทั้งเรื่องพืช ธรณีวิทยา อุทกศาสตร์ คุณภาพน้ำและดิน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์หน้าดินและสัตว์ในดิน นก แมลง ปลวก ปะการัง ปลิงทะเล ปลา กุ้งและปู เพรียงหัวหอม หอยทะเล ฟองน้ำ สาหร่าย หญ้าทะเล แพลงตอนทะเลและน้ำจืด และอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้ได้สำรวจจากทะเลทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวม ๔๓ เกาะ โดยข้อมูลความรู้ต่าง ๆ จะเก็บรวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ตั้งอยู่พื้นที่บริเวณเขาหมาจอ บนฝั่งแสมสาร ภายในบริเวณหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ซึ่งคาดว่าจะเปิดเป็นทางการในปี ๒๕๕๐ พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่บริเวณไหล่เขา ระหว่างทางเดินขึ้นจะมีการ จัดนิทรรศการกลางแจ้ง ให้ความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณต่างๆ และสวนหิน
นายวิโรจน์ ดาวฤกษ์ อดีตอาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำลังเตรียมพื้นที่สำหรับสวนหิน กล่าวว่า บริเวณสองข้างทางจะจัดทำเป็นสวนหิน มีทั้งหินอัคนี หินตะกอน หินแป ฟอสซิล โดยจะหาหินที่มีความหลากหลาย และมีขนาดใหญ่ มาตั้งไว้กลางแจ้ง เพื่อคนเข้าชมจะได้เห็นชัดและจับต้องได้ "หินที่นำมาบางก้อนมีอายุเก่ามาก จะมีป้ายบอกลักษณะว่าเป็นหินอะไร คิดว่าอย่างน้อยต้องมี ๓๐ - ๔๐ ก้อน โดยจะรวบรวมจากเกาะทั้งประเทศเพื่อให้มีความหลากหลาย" นอกจากนี้ ในระยะทางไม่ไกลกันนัก กองทัพเรือยังมีโครงการอุทยานใต้ทะเลปะการังและการอนุรักษ์เกาะขามอีกด้วย
ถึงแม้งานนี้จะยังไม่แล้วเสร็จ แต่ความพยายามของกองทัพเรือ และแนวร่วมนั้น อีกไม่นาน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย จะกลายเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติทางทะเลแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมกันนั้นยังศึกษาพืชพรรณทางทะเลของจริงที่เกาะใกล้เคียงที่สำคัญจะเป็นการปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ ให้แก่เยาวชนในรุ่นหลังต่อไปด้วย
(ที่มา:http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra05100549&day=2006/05/10)