กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เป็น “A-” จาก “BBB+” และปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 8,000 ล้านบาท (TMB153A) ของธนาคารเป็น “BBB+” จาก “BBB” โดยแนวโน้มคงเดิมที่ “Positive” หรือ “บวก” อันดับเครดิตสะท้อนความสามารถของคณะผู้บริหารของธนาคาร พัฒนาการหลังการควบรวมกิจการที่เป็นไปอย่างมั่นคง และสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งขึ้นจากการขยายมูลค่าทางธุรกิจ (Franchise Value) หลังการควบรวมกิจการกับธนาคารดีบีเอสไทยทนุ จำกัด (มหาชน) (DTDB) และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บรรษัท) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 เป็นต้นมา อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรและฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวยังมีข้อจำกัดจากความเสี่ยงด้านสภาพคล่องหลังการควบรวมกิจการ รวมทั้งจากระดับการแข่งขันที่รุนแรง และปัจจัยแวดล้อมในธุรกิจธนาคารที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์และจำกัดการขยายตัวทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรได้
แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนความคาดหมายว่าความสามารถในการทำกำไรและสถานะสภาพคล่องทางการเงินของธนาคารจะดีขึ้น จุดแข็งของแต่ละสถาบันที่ควบรวมกันได้ส่งเสริมให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นแก่ธนาคารและ
เอื้อต่อการให้บริการในธุรกิจธนาคารแบบครบวงจรที่คาดว่าจะยิ่งเสริมฐานะการแข่งขันในการให้บริการธุรกิจธนาคารอย่างเต็มรูปแบบได้ในอนาคต ทั้งนี้ จะมีการติดตามความคืบหน้าในเรื่องของความต่อเนื่องในการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงให้ได้ตามมาตรฐานสากล รวมทั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และความกลมกลืนของบุคลากรทุกระดับในองค์กรต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า การควบรวมกิจการกับ DTDB และบรรษัทในเดือนกันยายน 2547 ได้ก่อให้เกิดการส่งเสริมซึ่งกันและกัน รวมทั้งสร้างมูลค่าทางธุรกิจของธนาคารให้เพิ่มขึ้นจากศักยภาพของทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ จุดแข็งทางด้านสินเชื่อโครงการรวมทั้งการมีฐานลูกค้าที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ของบรรษัท ฐานลูกค้า SME ที่มีคุณภาพพร้อมด้วยเครือข่ายลูกค้ารายย่อยของ DTDB และความชำนาญในตลาดในประเทศและเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมของธนาคาร โดยหลังจากการควบรวมกิจการแล้ว ส่วนแบ่งทางการตลาดของธนาคารซึ่งวัดจากขนาดของสินทรัพย์เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหมดได้เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 7 ณ เดือนมิถุนายน 2547 (407,068 ล้านบาท) เป็นอันดับที่ 5 (672,222 ล้านบาท) ณ เดือนกันยายน 2547
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า หลังจากควบรวมกิจการมาได้ 1 ปี ธนาคารก็สามารถผ่านพ้นช่วงการเปลี่ยนถ่ายองค์กรโดยบรรลุวัตถุประสงค์ในการปรับโครงสร้างองค์กรและการควบรวมการดำเนินงาน การบริหารทรัพยากรบุคคล และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ในขณะที่ยังสามารถฟื้นฟูสถานะทางการเงินของธนาคารในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 ให้ดีขึ้นด้วย ณ เดือนมิถุนายน 2548 ธนาคารรายงานยอดสินทรัพย์ตามงบการเงินรวมที่ระดับ 704,892 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 672,222 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 ธนาคารรายงานผลกำไรสุทธิถึง 4,136 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายของทริสเรทติ้ง อย่างไรก็ตาม โครงสร้างทางการเงินหลังการควบรวมกิจการทำให้ธนาคารมีสภาพคล่องที่อ่อนแอลงและค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่า ณ เดือนมิถุนายน 2548 สภาพคล่องก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย แต่ก็คาดว่าจะสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไปได้ด้วยการปรับโครงสร้างทางการเงินใหม่ภายในเวลาอีก 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ สัดส่วนการสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารซึ่งลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้นเป็นประเด็นที่ทริสเรทติ้งเป็นห่วง--จบ--