กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’ แก่โครงการหุ้นกู้ระยะสั้นของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) โดยหุ้นกู้ในโครงการดังกล่าวเป็น หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน ไม่ด้อยสิทธิ มูลค่าไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกิน 270 วัน และทำการออกเป็นชุดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ถึง เดือนธันวาคม 2554 ในขณะที่อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCBT อยู่ที่ระดับ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
อับดับเครดิตของ SCBT สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารและการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร คือ Standard Chartered Bank (SC) ซึ่งมีอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘A+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ การถือหุ้น 99.97% ใน SCBT เป็นนโยบายการลงทุนระยะยาวของ SC โดย SC ได้มีการควบคุมการบริหารงานของ SCBT ผ่านทางคณะกรรมการและคณะผู้บริหารของ SCBT
การเพิ่มทุนของ SCBT โดย SC จำนวน 7.2 พันล้านบาท ในเดือนพฤษภาคม 2552 คาดว่าจะช่วยให้ธนาคารมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต และยังช่วยลดผลกระทบจากการที่การถือหุ้นของ SC อาจถูกลดสัดส่วนลง เนื่องจากตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 SCBT จะถูกจำกัดสัดส่วนการเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นต่างชาติในธนาคาร สำหรับในระยะยาว SCBT อาจต้องพึ่งพากำไรสะสม การจัดสรรสินทรัพย์ และเงินกองทุนชั้นที่ 2 เป็นหลัก ในการลดผลกระทบจากการที่การถือหุ้นของ SC จะถูกลดสัดส่วนลง เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงและฐานะทางการเงินของ SC ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ SCBT จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลัก ในกรณีที่มีความจำเป็น
ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2552 SCBT มีกำไรสุทธิ (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) เพียงเล็กน้อยที่ 0.2 พันล้านบาท เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้นสำหรับลูกหนี้กลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้ผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของธนาคารในช่วงครึ่งปีแรกปี 2552 ยังเป็นผลมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของธนาคารที่ลดลงอย่างมากเป็น 0.8 พันล้านบาทสำหรับครึ่งปีแรกปี 2552 จาก 2.4 พันล้านบาทสำหรับครึ่ง ปีแรกปี 2551 เนื่องจากรายได้จากการให้บริการและขายผลิตภัณฑ์ในตลาดเงิน เช่น เงินตราต่างประเทศและสัญญาอนุพันธ์ได้ลดลงอย่างมากถึง 66% จากครึ่งปีแรกปี 2551 เนื่องจากปริมาณธุรกรรมและความผันผวนของตลาดการเงินที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกปี 2552 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารลดลงเหลือ 3.5 พันล้านบาท ในครึ่งปีแรกปี 2552 จาก 3.9 พันล้านบาทในครึ่งปีแรกปี 2551 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยจากรายการระหว่างธนาคารที่ลดลงเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของ SCBT ยังคงลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 2.6% ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2552 จาก 3.2% ในปี 2551 เนื่องจากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีผลตอบแทนที่ต่ำ ในขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันซึ่งมีผลตอบแทนสูงกว่ายังคงมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง
SCBT มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ 3.1 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 จาก 2.1 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของลูกหนี้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ SCBT ที่ 4.5% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 ยังคงอยู่ในระดับต่ำในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารที่ระดับ 119.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่สุดในภาคธนาคารไทย อย่างไรก็ตามเนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอยู่ในสภาวะที่อ่อนแอ และความเสี่ยงจากการที่ธนาคารมีสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันอยู่ในสัดส่วนที่สูง (คิดเป็น 24% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552) จึงส่งผลให้ธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านการตั้งสำรองหนี้สูญที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้ SCBT ได้ยื่นฟ้องธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นธนาคารรัฐ จากข้อโต้แย้งที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาอนุพันธ์ทางการเงิน แต่อย่างไรก็ตามธนาคารคาดว่าจะไม่ต้องตั้งสำรองจากกรณีดังกล่าว
การระดมเงิน สภาพคล่องและอัตราส่วนเงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นนที่ 1 และเงินกองทุนรวมที่ 18.8% และ 19.2% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 ตามลำดับ
SCBT (หรือธนาคารนครธนเดิม) ถูกก่อตั้งในปี 2476 โดยตระกูลหวั่งหลี ผลจากวิกฤติการทางการเงินปี 2540 ทำให้รัฐบาลเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในธนาคาร แต่ต่อมา SC ได้เข้าซื้อกิจการของธนาคาร SCBT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศไทย ทั้งนี้ธนาคารมีสัดส่วนการตลาดประมาณ 2%
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4761/4759