การพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ของสหรัฐอเมริกา

ข่าวทั่วไป Thursday October 1, 2009 11:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--คต. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.)เปิดเผยเกี่ยวกับกระแสข่าวการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ (LA 2125) ของสหรัฐอเมริกาที่มีคุณภาพทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทยซึ่งมีชื่อทางการค้า “JAZZMAN” ว่า ข้าวดังกล่าวได้มีการพัฒนาพันธุ์มาหลายปีแล้ว แม้จะเริ่มมีการเพาะปลูกมากขึ้นแต่ปริมาณการผลิตในเชิงการค้ายังมีน้อย ประกอบกับสหรัฐฯ มีการเพาะปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งข้าวเมล็ดสั้น (Japonica) และข้าวเมล็ดยาว (Indica) ดังนั้นการผลิตข้าวดังกล่าวซึ่งเป็นข้าวเมล็ดยาวในเชิงการค้าเพื่อทดแทนข้าวหอมมะลิไทยจึงยังคงต้องใช้เวลารวมทั้งการสร้างการยอมรับของตลาดเพื่อแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทย ในขณะเดียวกันประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งจะต้องปรับตัวกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นโดยใช้คุณภาพเป็นตัวนำในการทำตลาด อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่าในแต่ละปีประเทศไทยผลิตข้าวหอมมะลิไทยได้ประมาณ 6-7 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 4-4.5 ล้านตันข้าวสาร และส่งออกเฉลี่ยปีละ 2.5 ล้านตัน โดยมีตลาดหลักในปี 2551 ได้แก่ สหรัฐฯ (15%) EU (12%) ไอวอรี่โคสต์ (11%) เซเนกัล (10%) ฮ่องกง (8%) จีน (7%) กานา (5%) สิงคโปร์ (5%) มาเลเซีย (5%) และอื่น ๆ (22%) โดยการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยได้มีการขยายตัวมากขึ้นจากเดิมซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเซีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์และมาเลเซีย แต่ปัจจุบันการส่งออกไปยังตลาดภูมิภาคต่าง ๆ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะตลาดอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลางและโอเชียเนีย โดยปี 2548-2551 การส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 16, 21, 8 และ 11 ต่อปีตามลำดับ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทยโดยกรมการข้าว และการยกระดับคุณภาพมาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ/ผู้บริโภคในต่างประเทศโดยกรมการค้าต่างประเทศ นอกจากนี้กรมการค้าต่างประเทศยังได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการส่งออกและผู้ส่งออกข้าวภาคเอกชนจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้าวไทยและข้าวหอมมะลิไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติในตลาดต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการจำหน่ายและการบริโภคร่วมกับห้างสรรพสินค้า ภัตราคารและร้านอาหารไทยอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลให้ข้าวไทยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก สำหรับในปี 2553 กรมการค้าต่างประเทศได้กำหนดแผนผลักดันการส่งออกข้าวไทยในลักษณะต่าง ๆ อาทิเช่น การขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ในตลาดที่มีการซื้อข้าวโดยรัฐบาล การขยายตลาดข้าวเชิงรุกในตลาดหลักและตลาดที่มีศักยภาพในการนำเข้าสูงในทุกภูมิภาค การจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดเพื่อเสริมสร้างตราข้าวหอมมะลิไทย (Branding) ในตลาดจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริการวมทั้งการขยายตลาดข้าวที่มีคุณลักษณะพิเศษ เช่น ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าว GI (ข้าวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) และข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงในตลาดเป้าหมาย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ