บริติช เคานซิล จับมือ ศธ. ดันแผนสอนภาษาอังกฤษทศวรรษหน้าปูพรมประถม-เพิ่มครูต่างชาติ-กิจกรรมภาษาในโรงเรียนทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday September 27, 2006 14:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--บริติช เคานซิล
บริติช เคานซิล องค์กรเพื่อส่งเสริมการศึกษาและความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมจากสหราชอาณาจักร โดยความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดการประชุมเชิงนโยบายเพื่อร่างยุทธศาสตร์การศึกษาภาษาอังกฤษของไทย ในวันที่ 25-26 กันยายน ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนทัล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 450 คน ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษาจากภาครัฐ และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญการสอนภาษาอังกฤษทั้งจากประเทศไทย สหราชอาณาจักร และประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดงานและทรงร่วมฟังการบรรยายในหัวข้อ “ปัจจัยสู่ความสำเร็จสำหรับยุทธศาสตร์การสอนภาษาอังกฤษแห่งชาติ” โดย เดวิด แกรดดอล นักวิจัยและนักภาษาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงจากสหราชอาณาจักร ในโอกาสนี้ ทรงมีพระดำรัสใจความว่า “ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล และเป็นกุญแจสำคัญซึ่งจะนำไปสู่ความรู้ในสาขาต่างๆ นอกจากนั้น ภาษาอังกฤษยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกัน เนื่องจากเป็นภาษาที่ใช้และเข้าใจกันได้ทั่วโลก เราจึงควรมีความสามารถที่จะสื่อสาร เรียนรู้จากกันได้ดีขึ้นโดยผ่านภาษาอังกฤษ ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง และสามารถส่งผ่านความรู้ถึงกันได้ทั่วโลก”
ในการประชุมครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากไทยและสหราชอาณาจักร ได้อภิปรายในหัวข้อต่างๆที่ไทยควรพิจารณาประกอบการร่างยุทธศาสตร์ในอนาคต อาทิ การนำเข้าหรือพัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษ อายุของผู้เรียนที่เหมาะสม หลักสูตรภาษาอังกฤษในทศวรรษหน้า การใช้เทคโนโลยีและการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งคุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้มีส่วนสำคัญในการเสนอร่างนโยบายการสอนภาษาอังกฤษของไทย ได้กล่าวระหว่างการประชุมว่า “ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาภาษาอังกฤษของไทยที่มีอยู่ในขณะนี้จะมุ่งเน้นที่การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการใช้ภาษาอังกฤษ เช่นการจัดให้มีมุมหนังสือภาษาอังกฤษในห้องสมุดโรงเรียนและชุมชน การจัดรายการโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษ โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนนานาชาติโดยเน้นที่ภูมิภาคเอเชีย เพื่อให้นักเรียนชาวไทยมีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษกับเพื่อนชาวต่างชาติที่มาร่วมชั้นเรียนในไทย การจัดกิจกรรมละครภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังจะมีโครงการเด็กเก่ง คือจัดชั้นเรียนพิเศษสำหรับเด็กที่มีความสามารถทางภาษาโดดเด่น เพื่อส่งเสริมศักยภาพให้สามารถศึกษาในระดับที่สูงขึ้น สำหรับในส่วนของผู้ใหญ่หรือประชาชนทั่วไป จะเน้นที่การพัฒนาภาษาอังกฤษในเชิงวิชาชีพ คือให้มีการอบรมภาษาอังกฤษสำหรับผู้ขับแท็กซี่ แม่ค้า พ่อครัว หรือผู้มีอาชีพนวดแผนโบราณ เป็นต้น ซึ่งจากการประชุมในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นว่า ความต่อเนื่องในการเรียนรู้มีความสำคัญ เราอาจไม่สามารถทำให้ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนสองภาษาอย่างเต็มรูปแบบ แต่อย่างน้อยการเริ่มสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับประถม และเพิ่มเวลา 10 เปอร์เซนต์ ในแต่ละวันให้เด็กได้มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษในกิจกรรมต่างๆ ก็จะมีส่วนเสริมให้มีทักษะและทัศนคติต่อภาษาที่ดีขึ้นได้”
การประชุมครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการค้นพบในงานวิจัยเรื่องอนาคตของภาษาอังกฤษ “English Next” โดย เดวิด แกรดดอล นักภาษาศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งในงานวิจัยที่สนับสนุนโดยบริติช เคานซิล ชิ้นนี้ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรทั่วโลก ซึ่งมีผลต่อการใช้ภาษาอังกฤษ กล่าวคือ ประเทศที่เป็นเจ้าของภาษาหรือมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่จะมีอัตราการเกิดของประชากรลดลง ในขณะที่ประเทศอื่นๆมีอัตราการเกิดของประชากรสูงกว่า ซึ่งจะมีผลให้จำนวนผู้ใช้ภาษาอังกฤษที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษามีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ขึ้น กล่าวคือในอีก 10-15 ปีข้างหน้า จะมีผู้เรียนและใช้ภาษาอังกฤษถึง 2 พันล้านคนทั่วโลก และการใช้ภาษาอังกฤษในอนาคตส่วนใหญ่จะเป็นการใช้โดยผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาเพื่อสื่อสารกัน ในขณะเดียวกัน ภาษาอื่นๆได้แก่ ภาษาสเปนและจีนจะเพิ่มความสำคัญขึ้น และในอนาคตอันใกล้ ทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษจะเป็นสิ่งที่ ‘จำเป็นต้องมี’ หาใช่เป็น ‘คุณสมบัติพิเศษ’ ที่จะทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีความได้เปรียบในการประกอบอาชีพดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีกต่อไป โดยเดวิด แกรดดอล ได้กล่าวเปรียบเทียบว่า “ก็เหมือนกับการมีเครื่องส่งโทรสารหรือแฟกซ์นั่นเอง สมัยก่อนเครื่องแฟกซ์เป็นสิ่งที่พิเศษที่คุณจะมีอยู่ที่สำนักงาน แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นของธรรมดาที่ทุกคนต้องมี และไม่ได้เป็นสิ่งพิเศษที่ช่วยให้คุณได้เปรียบในการประกอบธุรกิจอีกต่อไป ความสำคัญของภาษาอังกฤษในอนาคต ก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน”
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรดังกล่าวยังจะส่งผลให้ปริมาณครูเจ้าของภาษามีจำนวนไม่พอกับความต้องการของประเทศต่างๆ ดังนั้น ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เช่น สิงคโปร์ หรือ อินเดีย จะถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าจะเป็นแหล่งผลิตครูผู้สอนภาษาอังกฤษให้แก่นานาประเทศในอนาคตต่อไป และภาษาอังกฤษที่ทั่วโลกจะใช้กันในอนาคตนั้น จะมีลักษณะของภาษาที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ จะมีวิวัฒนาการของการผสมผสานการใช้ศัพท์และไวยากรณ์แตกต่างไปตามผู้พูดในแต่ละภูมิภาคของโลก ซึ่งปรากฏการนี้จะเกิดขึ้นเนื่องจากผู้พูดส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาแต่ดั้งเดิมนั่นเอง นอกจากนั้น “สำเนียงเจ้าของภาษา” จะถูกลดความสำคัญลง โดยความสำคัญของการพูดจะอยู่ที่การสามารถสื่อสารให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน โดยการมีสำเนียงเหมือนเจ้าของภาษานั้นจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญอีกเลย
ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทย มร. เจมส์ ชิปตัน ผู้อำนวยการการสอนภาษาอังกฤษ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวถึง ความสำคัญของการปรับเปลี่ยนทิศทางการเรียนภาษาอังกฤษในประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้ว่า “ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายประการเพราะการเปลี่ยนแปลงระดับโลกของการศึกษาภาษาอังกฤษและการเติบโตของภาษาอื่นๆ ในโลกอย่างเช่น ภาษาจีน ซึ่งก่อให้เกิดคำถามและประเด็นสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง
อายุที่เหมาะกับการเรียนภาษา บทบาทของเทคโนโลยี การออกแบบหลักสูตร การจัดหาครูและการปรับการเรียนภาษาให้เข้ากับบริบททางสังคม”
ผู้อำนวยการการสอนภาษาอังกฤษ บริติช เคานซิล ประเทศไทย เปิดเผยถึงหนึ่งในปัญหาการสอนภาษาอังกฤษที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ว่า “การจัดหาครูก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่น่าสนใจในเวลานี้ ไทยจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะสามารถหาครูสอนภาษาอังกฤษที่มีคุณสมบัติพอเพียงป้อนให้กับระบบการศึกษา ทางกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า ไทยมีความต้องการครูสอนภาษาอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าของภาษาถึง 10,000 คน ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ “ครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษา” คาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนที่เกิดขึ้น ผู้อยู่ในแวดวงการสอนภาษาตั้งคำถามว่าวิธีนี้อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้ แต่อาจมีข้อจำกัดในแง่จำนวนและค่าใช้จ่ายสำหรับการนำเข้าครูเช่นเดียวกับการเติบโตของภาษาอังกฤษหลากรูปแบบหลายสำเนียง เราจึงควรเน้นที่การพัฒนาครูในระดับท้องถิ่นดีหรือไม่? ผมมองว่า คำถามเหล่านี้มีความสำคัญและมีงานวิจัยจำนวนมากที่พยายามตอบคำถามเหล่านี้ อย่างไรก็ดี จากมุมมองของการวางแผนด้านภาษาในระดับประเทศ สิ่งสำคัญคือการมองภาพรวมของเรื่องนี้ให้ออก เนื่องจากคำตอบของแต่ละคำถามนั้นมีความเกี่ยวพันกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าการลงทุนด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นหนึ่งในแผนที่ประเทศไทยสนใจจะดำเนินการ ทั้งนี้ งบประมาณสำหรับโครงการอื่นอาจจะถูกตัดทอนลง สิ่งท้าทายก็คือการสร้างความสมดุลให้เหมาะสมกับทรัพยากรของบริบทประเทศไทย”
สำหรับช่วงท้ายของการประชุมฯ ได้มีการประชุมของคณะทำงานเพื่อร่างเอกสารสำหรับโครงการวิจัยระยะ 18 เดือน อันจะใช้ประกอบแผนการพัฒนาและรายงานความคืบหน้าของยุทธศาสตร์การเรียนการสอนภาษาอังกฤษแห่งชาติในระยะยาว โดย บริติช เคานซิล จะเป็นองค์กรหลักที่ให้การสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการในการให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนความรู้เชิงนโยบาย รวมถึงการฝึกอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักรด้วย
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ภาวดี ทิพยรักษ์
เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร
โทร. 0 2652 5480 — 9 ต่อ 205
Fax: 0 2253 5311 — 2
E-mail: Pawadee.Tiphyarug@britishcouncil.or.th
ณัฏฐา มหัทธนา
ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร
โทร 02-6525480-9 ต่อ 109
E-mail: Nuttaa.Mahattana@britishcouncil.or.th
www.britishcouncil.or.th
เกี่ยวกับ บริติช เคานซิล
บริติช เคานซิล เป็นองค์กรเพื่อโอกาสทางการศึกษาและความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมจากสหราชอาณาจักร
เรามีสำนักงาน 220 แห่งอยู่ใน 110 ประเทศทั่วโลก
ในประเทศไทย เราดำเนินงานมากว่า 60 ปี โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร และหน่วยงานราชการ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ ในทางศิลปะ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งโครงการเพื่อพัฒนาสังคม
บริติช เคานซิล เป็นองค์กรอิสระ ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ
ท่านสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับงานด้านต่างๆของเราได้ที่ www.britishcouncil.or.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ