นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประชุมผู้บริหารกรมบัญชีกลาง มอบนโยบายทันทีวันเข้ารับตำแหน่ง

ข่าวทั่วไป Thursday October 1, 2009 14:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--กรมบัญชีกลาง นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง วันที่ 1 ตุลาคม 2552 โดยประชุมผู้บริหารกรมบัญชีกลางมอบนโยบายทันที ในวันเข้ารับตำแหน่งอธิบดี นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้บริหารของกรมบัญชีกลาง เห็นว่าหน้าที่หลักที่เห็นได้ชัดเจนและถือเป็นงานสำคัญของกระทรวงการคลัง คือ เรื่องการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ และ ในส่วนของการกำหนดกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กันไปอย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจการคลัง และอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนทางด้านการคลัง รวมถึงนโยบายเร่งด่วนต่างๆ ที่จะได้รับมอบหมายโดยตรงจากรัฐบาล ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงได้มอบนโยบายการปฏิบัติงานของกรมบัญชีกลางไว้ 3 มาตรการ คือ 1. มาตรการระยะสั้น คือ 6 — 12 เดือน เพื่อ “สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย” โดยกรมบัญชีกลาง ในฐานะกลไกหลักของรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยการเร่งการใช้จ่ายเงินภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และดำเนินการเชิงรุกที่จะสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐสามารถดำเนินการตามแผนงาน/โครงการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ “ไทยเข้มแข็ง” และงบประมาณแผ่นดินปกติ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ของกระทรวงการคลัง ซึ่งกำหนดเป้าหมายเบิกจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ในภาพรวมร้อยละ 94 และงบลงทุน ร้อยละ 75 จากวงเงินงบประมาณรวม 1.7 ล้านล้านบาท รวมถึงการเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 กว่า 4 แสนล้านบาท ที่กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของวงเงินตามสัญญาของแต่ละโครงการ ซึ่งการติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินจะต้องดำเนินการในลักษณะเชิงรุก โดยมุ่งเน้นการเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐ หรือส่วนราชการในฐานะ “ลูกค้า (Customer)” และงานในส่วนอื่น ได้แก่ - การบริหารเงินคงคลัง และการบริหารเงินสด ให้เพียงพอและเหมาะสมสำหรับความต้องการ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยต้องคำนึงถึงภาระดอกเบี้ยของรัฐด้วย - พัฒนาระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) ให้มีความครอบคลุม ต่อเนื่อง และสามารถเชื่อมโยงกับระบบงานอื่น โดยเฉพาะการพัฒนาระบบงานติดตามและประเมินผลแผนงาน/โครงการต่างๆ ในส่วนของงบประมาณ “ไทยเข้มแข็ง” ซึ่งทางกรมบัญชีกลางได้มีการดำเนินการรองรับไว้แล้ว - การกำหนดกฎหมายและระเบียบการคลัง ระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ด้านการบัญชี การกำกับและพัฒนาการตรวจสอบภาครัฐ ต้องเอื้ออำนวยให้หน่วยงานภาครัฐหรือส่วนราชการต่างๆ ในฐานะผู้ปฏิบัติมีความคล่องตัว โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน และต้องสอดคล้องต่อการตรวจสอบผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน 2. มาตรการระยะปานกลาง (Medium Term) ระยะเวลา 1 — 3 ปี เพื่อ “ปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุล (Fiscal Consolidation) โดยเร็ว” ได้แก่ - การปฏิรูปค่าใช้จ่ายของรัฐ โดยลดรายจ่ายประจำที่ไม่จำเป็น และสนับสนุนการจัดงบประมาณรายจ่ายลงทุนอย่างเพียงพอ เช่น การกำกับและพัฒนาระบบสวัสดิการและค่าตอบแทน โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล โดยอยู่บนพื้นฐานของการไม่เป็นการรอนสิทธิเดิม และควรมีการขยายสิทธิต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงวินัยทางการเงินการคลัง และมิให้เป็นข้อจำกัดในด้านภาระงบประมาณ - การพัฒนากฎระเบียบด้านการเงินการคลังให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล โดยเน้นความคล่องตัว และ ความรับผิดชอบ (Accountability) ด้วยการมอบอำนาจ (Empowering) ให้หน่วยงานปฏิบัติเป็นสำคัญ และกรมฯ ทำหน้าที่ในฐานะที่ปรึกษาให้หน่วยงานของภาครัฐได้ปฏิบัติงานอย่างถูกต้องและมั่นใจ - การพัฒนาตลาดภาครัฐ (Government Market) รวมทั้ง การให้สิทธิหรือสัมปทานต่างๆ โดยให้เป็นส่วนหนึ่ง ในการส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งภายในและนอกประเทศ และส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส และการแข่งขัน ที่เป็นธรรมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากยิ่งขึ้น - การพัฒนาและส่งเสริมโดยมุ่งเน้นบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคลังจังหวัดในการเป็น Chief Financial Officer (CFO) ให้มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนามาตรฐานการจัดทำข้อมูลและรายงานผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product : GPP) - การกำกับและพัฒนางานที่เกี่ยวกับการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเน้นความรวดเร็ว โปร่งใส และแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ตลอดจน การเร่งรัดผลการดำเนินคดีปกครอง ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานภาครัฐ - การกำกับและพัฒนาระบบบริหารเงินนอกงบประมาณ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลภาครัฐ โดยเน้น หลักสูตร ที่เกิดอรรถประโยชน์อย่างแท้จริง การบริหารระบบลูกจ้างประจำของส่วนราชการเพื่อให้มีมาตรฐานชีวิต ในภาพรวมที่ดียิ่งขึ้น และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในกรมบัญชีกลาง 3. มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กร ให้สามารถรองรับการดำเนินงานตามมาตรการต่าง ๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม เน้นการปฏิบัติงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในกรมฯ และให้ความสำคัญในการบริหารจัดการและการสื่อสารในทุกระดับชั้น ให้เป็นไปได้ด้วยความคล่องตัว โดย - ส่งเสริมและสร้างภาพลักษณ์องค์กร ให้เป็นองค์กรที่มีความทันสมัย มีความคล่องตัว ปฏิบัติงาน ด้วยความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพสูงสุด” - ปรับโครงสร้าง และส่งเสริมความก้าวหน้าของบุคลากรภายในองค์กรอย่างเป็นระบบ - ให้มีการสื่อสารภายในองค์กร ด้วยความรวดเร็ว กระชับ และเน้นการมีส่วนร่วมของทั้งส่วนกลางและภูมิภาค โดยเฉพาะการเน้นการสนับสนุนการดำเนินงานในส่วนของสำนักงานคลังจังหวัดให้เป็นไปด้วยความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพรองรับงานนโยบายต่างๆ ทั้งของรัฐบาล กระทรวงการคลัง กรมฯ และจังหวัด ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้เห็นผลงานแล้วว่าบุคลากรของกรมบัญชีกลางเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และปฏิบัติงานสนองนโยบายรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด จึงมีความเชื่อมั่นและมั่นใจว่ากรมบัญชีกลางจะดำเนินงานตามภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนองต่อนโยบายของกรกระทรวง และรัฐบาลได้เป็นอย่างดี โดยยึดหลัก “การรักษาวินัยการคลังเป็นสำคัญ” นายพงษ์ภาณุ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ