เลยวังใสย์ : ต้นแบบพลังงานสีขาว

ข่าวทั่วไป Friday October 2, 2009 11:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--สสส. น้ำจากลำธารด้านล่างถูกส่งผ่านไปตามท่อพลาสติก ปลายทางของมันอยู่บนเนินสูงที่ปลูกพืชไร่นานาชนิด ด้วยความธรรมดาของอุปกรณ์ที่มีเพียงท่อพลาสติก และปราศจากตัวช่วยทางอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ คงไม่มีใครคิดว่า น้ำจะถูกส่งผ่านจากที่ต่ำไปที่สูงได้อย่างง่ายดาย กลไกที่ว่านั้น เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า “ตะบันน้ำ” ว่ากันว่า ตะบันน้ำถูกสร้างและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับร้อยปี มันช่วยดึงน้ำจากที่ต่ำขึ้นสู่ที่สูงได้ด้วยพลังงานในตัวเอง ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์มาเป็นตัวขับดัน ตะบันน้ำจึงเหมาะกับการทำเกษตรในที่สูงในหลายๆ พื้นที่ของไทย ดังเช่น หมู่บ้านศรีเจริญ ต.เลยวังใสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย ผศ.ดร. สุรจิตร์ พระเมือง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย หนึ่งในนักวิชาการที่เข้ามาศึกษาการใช้เทคโนโลยีการเกษตรของชาวบ้าน ใน ต.เลยวังใสย์ ยอมรับว่า หนึ่งในเทคโนโลยีแบบชาวบ้านที่น่าทึ่งคือ ตะบันน้ำ อาจารย์สุรจิตร์ อธิบายว่า สำหรับการจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่สูง ที่ผ่านมาเกษตรกรต้องพึ่งเครื่องกลสมัยใหม่ ต้องพึ่งพาไฟฟ้าและน้ำมัน มีผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงมาก ดังนั้นทำเกษตรได้มากเพียงใดจึงยังคงเป็นหนี้ “ภูมิปัญญาของชาวบ้านสมัยก่อนคิดค้นการดึงน้ำจากที่ต่ำมาใช้บนที่สูง โดยใช้ท่อประปาพลาสติกมาประกอบขึ้นเอง โดยอาศัยแรงดันของน้ำ ข้อสำคัญคือต้องเป็นแหล่งน้ำไหลตลอดปี แล้วกั้นฝายให้ระดับเส้นฝายไม่ต่ำกว่า 1 เมตร ต่อท่อน้ำเข้าเครื่องตะบันโดยฝายกับตะบันน้ำห่างกันราวๆ 10 เมตร จะส่งน้ำขึ้นไปได้สูงเกือบ 10 เท่า” นักวิชาการท่านเดิม ยอมรับว่า เทคโนโลยีชาวบ้านเช่นนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะสะท้อนให้เห็นการเอาตัวรอดตามธรรมชาติของมนุษย์ โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานใดๆ ที่ผ่านมาสามารถส่งน้ำขึ้นไปบนที่สูงได้หลายร้อยเมตร ตะบันน้ำเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการน้ำเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่มาปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ ใน ต.เลยวังใสย์ ยังมีความพยามยามรวบรวมเอาภูมิปัญญาต่างๆ ด้านการเกษตรมารวมกันเพื่อเป็นการต่อยอด และเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้ โดยรวมไว้ที่ “มูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน” ไม่ว่าจะเป็นกังหันน้ำสำหรับผลิตไฟฟ้าจากน้ำ เตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูง จักรยานปั่นน้ำ ไบโอแก๊ส เป็นต้น ณ มูลนิธิแห่งนี้จะเห็นเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตของคนที่อยู่บนพื้นที่สูง อีกทั้งมูลนิธิตั้งอยู่ไม่ไกลจากภูหลวง สภาพทั่วไปมีลมพัดเย็นตลอดทั้งปี ภายในมูลนิธิจึงมีกังหันลม เป็นโมเดลของการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ดิลก สาระวดี นักวิชาการจากสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่น ยอมรับว่า ชาวบ้านตำบลเลยวังใสย์มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่หลากหลาย เห็นได้จากการนำกังหันลมมาทดลองใช้ แม้ว่าสภาพ ต.เลยวังใสย์ ไม่ได้อยู่ติดทะเล หรือปากอ่าว แต่ถือเป็นการทดลองนำเอาพลังงานทางเลือกมาใช้ ซึ่งต่อไปในอนาคต ต.เลยวังใสย์อาจจะเป็นแหล่งพลังงานลมอีกแห่งหนึ่งก็ได้ นักวิชาการจาก มข. เล่าว่า เทคโนโลยีอันหลากหลายใน ต.เลยวังใสย์นี้ แท้จริงนั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่ถูกดึงกลับมาใช้อีกครั้งในยุคนี้ เนื่องจากปัญหาที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นไว้ โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การใช้สารเคมีในการเพาะปลูก จนปะปนกับแหล่งน้ำ หรือการใช้พลังงานน้ำมัน ไฟฟ้า มากเกินความจำเป็น จุดเด่นของชุมชนเลยวังใสย์ โดยเฉพาะที่หมู่บ้านศรีเจริญแห่งนี้ คือการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน อย่างที่ดิลกเห็นว่า ชาวบ้านหลายคนไม่ได้เรียนด้านเทคนิคกลไกมา แต่สามารถช่วยกันสร้างนวัตกรรมด้านสังคมที่น่าสนใจได้ อาจจะเรียกว่าเป็น ‘สังคมพลังงานศาสตร์’ซึ่งหมายถึงความเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ในตัว “ผมว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เราน่าจะพลิกบทบาทสังคมให้เข้มแข็ง แทนที่จะปล่อยให้ใครก็ไม่รู้มาขายพลังงาน โครงการนี้เราตั้งใจแค่ลดรายจ่ายจากการใช้พลังงาน แต่ไม่แน่นะ ต่อไปเราอาจจะเป็นผู้ขายพลังงานเพื่อทำรายได้ เพราะตอนนี้เรามีทั้งพลังงานน้ำ พลังงานลม และแก๊สชีวมวลอีก” ดิลก ให้ความเห็น การเชื่อมต่อความคิดด้านพลังงานทางเลือกแบบนี้เกิดขึ้นในวงคุยภายใต้งาน “พลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพในชุมชน” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อรวบรวมเอาพลังงานทางเลือกในเขตจังหวัดเลยและใกล้เคียงมาต่อยอดความคิด และเผยแพร่สู่คนวงกว้าง ในงานนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดจากผู้คลุกคลีกับพลังงานทางเลือกจากภูมิภาคอื่น วิกานดา ทองเนื้อแข็ง ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เป็นอีกคนหนึ่งที่ทึ่งกับแนวคิดการจัดการพลังงานทางเลือกของชุมชนเลยวังใสย์ วิกานดา มองว่า ไอเดียหนึ่งที่น่าสนใจคือ การทำไบโอแก๊สจากน้ำเสียของแผ่นยาง โดยการทำยางแผ่น จะเกิดเป็นตัวน้ำเสีย คือมีตัวยางหรือขี้ยางประกอบอยู่ มีสภาพเป็นกรด หลายๆ คนมองข้ามไป “เราเลยมาช่วยกันคิดว่าน้ำยางที่เสียควรจะนำมาทำเป็นแก๊สชีวภาพและสามารถนำแก๊สนี้มาใช้ในการหุงต้มใน ครัวเรือนได้ เราจะทำสวนยางให้อยู่ติดกับบ้าน เมื่อทำเสร็จ น้ำเสียที่เกิดขึ้นข้างบ้านก็สร้างจุดที่เป็นบ่อเก็บรวบรวมน้ำมาหมักเป็นแก๊ส แล้วเชื่อมต่อท่อสู่ครัวเรือ สามารถจุดใช้ไฟได้เลย อันนี้คือภาวะที่มันเอื้อ” ตัวแทนจากภาคใต้แนะนำ ในขณะที่ จีระศักดิ์ ตรีเดช จากโครงการพัฒนาองค์กรชุมชนท้องถิ่นในเขตเทือกเขาเพชรบูรณ์ เล่าประสบการณ์ที่เคยเห็นชาวบ้านในอีสานช่วยกันทำพลังงานชีวภาพว่า “สิ่งที่ได้จากกระบวนการทำงาน คือมีผู้หญิงคนหนึ่งเรียนจบแค่ ป.4 เลี้ยงวัวควาย ยังมาทำเรื่องพลังงาน ทุกอย่างลองผิดลองถูกกันมาด้วยกัน กระบวนการของกลุ่มจะช่วยให้คนในชุมชนมีพลังใจมากขึ้น” จีระศักดิ์ เห็นว่ากระบวนการลองผิดลองถูกเช่นนี้ เป็นพลังงานทางเลือก เพราะแท้จริงแล้วไม่มีสูตรสำเร็จ อาจจะต้องพลิกแพลง ใช้หลักการเดียวกันแต่เปลี่ยนเทคโนโลยี เหมือนกับการคิดเครื่องตะบันน้ำ กรณีแบบนี้จะแก้ปัญหาหลายอย่างให้กับชาวบ้านได้ เช่น ปลดหนี้สิน ลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น “ผมจึงมีความรู้สึกว่าพลังงานต้องไปอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเรา มันจะเป็นโอกาสในการที่เราจะเรียนรู้กับโลกสมัยใหม่ได้ เพราะถ้าเราไม่ปรับตัวเราจะอยู่ยากในอนาคต เพราะราคาน้ำมันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ” จีระศักดิ์ ย้ำ ส่วน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่า ศูนย์แห่งนี้จะเป็นดอกผลของการเรียนรู้เรื่องพลังงานทางเลือกที่ใช้ได้จริง เพราะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน โดยมาจากความคิดของคนในชุมชนเอง อาจารย์เดชรัต อธิบายว่า พลังงานทางเลือกจาก ต.เลยวังใสย์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ชาวบ้านมีแนวทางที่เป็นของพวกเราเองได้ เป็นการสร้างทางเลือกโดยลดการพึ่งพาจากผู้อื่น หลายคนเคยมองว่า พลังงานทางเลือกเป็นเพียงคำพูดที่โก๋เก๋ สวยหรู แต่ใช้ไม่ได้จริง แต่ตัวอย่างจากชุมชนแห่งนี้ย้ำเตือนว่า พลังงานทางเลือกก็คือสิ่งที่อยู่ในชีวิตของพวกเราทั้งนั้น “เรากินข้าวที่ไม่ใช้สารเคมี เรามีน้ำปลูกพืชบนที่สูง เรามีไฟฟ้าจากพลังงานลมที่เราผลิตเอง หรือมีแก๊สชีวภาพจากขี้หมูหรือน้ำยางพารา เราคงไม่ได้ใช้ทุกอย่างหมดนี้ แต่เราเลือกบางอย่างแล้วเอาไปประยุกต์ใช้ ต่อไปเราอาจจะมีพลังงานทางเลือกที่ชุมชนเลยวังใสย์ทำกันเองได้อย่างเป็นระบบ” อ.เดชรัตกล่าว เช่นเดียวกันกับมุมมองของ นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารสำนัก 6 สสส. เสริมในตอนท้ายว่า “จริงๆ เรื่องพลังงานมีมิติลึกซึ้งกว่านั้น เราไม่ควรมองแค่พลังงานเชื้อเพลิง พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงแดด หรือบางคนอาจนำอินทรีย์วัตถุมาแปลงเป็นพลังงานชีวภาพ แต่ผมมองว่าเรายังมีพลังปัญญา ซึ่งหากมองจากจุดนี้ เรายังมีพลังอื่นๆ อีกมาก เช่นพลังของความร่วมมือ พลังของความสามัคคี พลังของสติปัญญา ซึ่งมีมากมายมหาศาล อยู่ที่ว่าเรารู้จักหยิบมาใช้หรือไม่ อย่างไร” วันนี้ การต่อยอดความคิดเรื่องพลังงานทางเลือกของชาวอีสานกำลังถูกขยับขยายไปสู่กลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น โดยมีต้นแบบคือ ตำบลเลยวังใสย์ ซึ่งลองผิดลองถูกกับพลังงานทางเลือกหลากหลายแบบมาระยะหนึ่งแล้ว ใครจะรู้ว่า อีกไม่นานเลยวังใสย์อาจจะมีกังหันลมนับร้อยตัว เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลมเป็นของตัวเอง ไม่แน่ว่าวันนั้นอาจจะมาถึงในเร็วๆ นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ