ค่าเงินบาทแข็งต่อเนื่องเป็นเหตุฉุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พ.ย. 49ปรับตัวลดลง

ข่าวทั่วไป Tuesday December 26, 2006 11:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--ส.อ.ท.
ค่าเงินบาทแข็งต่อเนื่องเป็นเหตุฉุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พ.ย. 49ปรับตัวลดลง ผู้ประกอบการส่งออกได้รับผลกระทบหนักจากอัตราแลกเปลี่ยนซ้ำปัญหาน้ำท่วมยาวนานหลายพื้นที่ส่งผลวัตถุดิบขาดแคลนและต้นทุนสูงขึ้นเอกชนวอนรัฐดูแลค่าเง ิน และราคาสาธารณูปโภคเอื้อการเติบโตภาคอุตสาหกรรมของประเทศ
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนพฤศจิกายน 2549 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 427 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 91.0 จาก 95.3 ในเดือนตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งการที่ค่าดัชนียังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์อุตสาหกรรมในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก โดยเมื่อพิจารณาค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณพบว่า ค่าดัชนี 3 ใน 5 ปัจจัยหลักปรับตัวลดลง ได้แก่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของปริมาณการผลิต ต้นทุนการประกอบการ และผลประกอบการ ปรับตัวลดลงจาก 111.1 97.5 และ 108.6 ในเดือนตุลาคม เป็น 110.9 54.8 และ 92.0 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ สำหรับสาเหตุที่ค่าดัชนีหลักปรับค่าลดลงเนื่องมาจากภาวะน้ำท่วมในช่วงเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายและมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบในการประกอบการของบางอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง นอกจากนี้การที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนที่ค่าเงินบาทแข็งค่าถึงร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม และร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่งออกต้องประสบกับปัญหาการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการประกอบการลดลง ทั้งนี้ สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2549 ได้แก่ ค่าดัชนีโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ และยอดขาย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 105.2 และ 104.4 ในเดือนตุลาคม เป็น 112.9 และ 108.3 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ภายในประเทศเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบกับเริ่มเข้าสู่เทศกาลปีใหม่จึงทำให้มียอดคำสั่งซื้อและยอดขายภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น
เมื่อพิจารณาค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนพฤศจิกายน 2549 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับค่าดัชนีหลัก คือ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายในต่างประเทศ ราคาขาย และสินค้าคงเหลือ ลดลงจาก 118.2 116.8 113.7 และ 115.3 ในเดือนตุลาคม เป็น 106.1 105.1 94.3 และ 101.0 ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของการจ้างงาน การใช้กำลังการผลิต และสินเชื่อในการประกอบการ ลดลงจาก 107.9 123.8 และ 106.8 ในเดือนตุลาคม เป็น 103.6 107.8 และ 103.4 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของสภาพคล่องของกิจการ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และสภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม ลดลงจาก 94.7 112.4 และ 106.6 ในเดือนตุลาคม เป็น 94.4 71.0 และ 77.3 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ สำหรับดัชนีที่มีค่าปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดขายในประเทศ และการลงทุนของกิจการ เพิ่มขึ้นจาก 99.9 101.8 และ 100.1 ในเดือนตุลาคม เป็น 111.9 110.4 และ 106.6 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ เช่นเดียวกับ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของความสามารถในการแข่งขัน และ สภาวะของการประกอบการของกิจการ เพิ่มขึ้นจาก 97.5 และ 95.8 ในเดือนตุลาคม เป็น 101.8 และ 97.6 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ
ทั้งนี้ นอกเหนือจากปัจจัยหลัก 5 ปัจจัยที่นำมาใช้คำนวนแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการมีความกังวล คือ สภาพคล่องของกิจการ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาวะของการประกอบการของกิจการที่ค่าดัชนีต่ำกว่าระดับ 100 ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 59.1 ซึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่อาจทำให้การส่งออกของประเทศลดลง ประกอบกับการแถลง GDP ไตรมาส 3 ที่ขยายตัวลดลงล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศลดลง
สำหรับค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนตุลาคมกับเดือนพฤศจิกายน 2549 โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 35 กลุ่ม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรม 24 กลุ่ม มีค่าดัชนีต่ำกว่า 100 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา พบว่า มีอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง 23 กลุ่มอุตสาหกรรม ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 12 กลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมี 13 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน ลดลงจาก 98.9 เป็น 56.0 อุตสาหกรรมแก้วและกระจก ลดลงจาก 111.4 เป็น 82.0 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ลดลงจาก 81.2 เป็น 54.3 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ลดลงจาก 100.3 เป็น 89.1 อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ลดลงจาก 106.9 เป็น 90.9 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ลดลงจาก 111.2 เป็น 82.7 อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงจาก 118.8 เป็น 97.6 อุตสาหกรรมก่อสร้าง ลดลงจาก 78.9 เป็น 67.4 อุตสาหกรรมเหล็ก ลดลงจาก 92.1 เป็น 78.1 อุตสาหกรรมอาหาร ลดลงจาก 98.8 เป็น 84.9 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลดลงจาก 115.4 เป็น 86.7 อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า ลดลงจาก 92.9 เป็น 76.0 และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ลดลงจาก 122.9 เป็น 104.0 สำหรับอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนมี 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ เพิ่มขึ้นจาก 96.5 เป็น 107.8 อุตสาหกรรม ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เพิ่มขึ้นจาก 98.1 เป็น 111.8 อุตสาหกรรมยานยนต์ เพิ่มขึ้นจาก 83.0 เป็น 106.0 อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เพิ่มขึ้นจาก 90.7 เป็น 114.9 อุตสาหกรรม รองเท้า เพิ่มขึ้นจาก 92.9 เป็น 119.3 อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นจาก 40.0 เป็น 160.0 อุตสาหกรรมอลูมิเนียม เพิ่มขึ้นจาก 90.9 เป็น 114.0 และอุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ เพิ่มขึ้นจาก 78.1 เป็น 106.6
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 - 49 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมในระดับที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 87.8 และ 108.0 ในเดือนตุลาคม เป็น 81.2 และ 96.8 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ ทั้งนี้เป็นผลมาจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดเล็กได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาทำให้วัตถุดิบบ างประเภทขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้การที่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างสูง ดังนั้น เมื่อค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าจึงทำให้ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายลดลง และอาจประสบผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ในขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 - 199 คน มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมในระดับที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 88.8 ในเดือนตุลาคม เป็น 95.7 ในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากตลาดของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางส่วนใหญ่เป็นตลาดภายในประเทศทำให้ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนในสัดส่วนที่น้อยกว่าอุตสาหกรรมขน าดใหญ่
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแยกตามภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 98.2 97.1 102.9 และ 94.7 ในเดือนตุลาคม เป็น 85.1 76.1 101.3 91.7 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคกลาง มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 92.9 ในเดือนตุลาคม เป็น 93.3 ในเดือนพฤศจิกายน
ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วเกินไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเสนอให้รัฐบาลให้การสนับสนุนด้านเงินทุนกับกิจการที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูแลราคาสาธารณูปโภคให้เอื้อต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ