กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--เอไอเอส
นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)หรือ เอไอเอส ได้กล่าวถึงการที่สองผู้ประกอบการสื่อสารโทรคมนาคม อันประกอบด้วย ดีแทค และ ทรูมูฟ ได้ร่วมกันแถลงข่าว และออกเอกสารเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ โดยพาดพิงเอไอเอส นั้น ทางเอไอเอสขอเรียนให้ทราบว่า การกระทำและการเผยแพร่ดังกล่าว เป็นการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน อีกทั้งยังสร้างความสับสนคลุมเครือให้กับสังคมอย่างไม่ชอบธรรม
“ผมถือว่าการออกมาแถลงเรื่องราวต่างๆ โดยให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนที่เป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมและไม่สร้างสรรค์ในเชิงการแข่งขันด้านธุรกิจ และอาจเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน” เอไอเอส จึงขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีต่าง ๆดังนี้
ประการแรก การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละรายนั้นอยู่ภายใต้สัญญาร่วมการงานที่เกิดขึ้นต่างเวลาและต่างคู่สัญญากัน โดยเอไอเอสได้ ทำสัญญาร่วมการงานกับ องค์การโทรศัพท์ฯ ซึ่งวันเริ่มทำสัญญา 27 มี.ค. 33 เอไอเอส จ่ายผลตอบแทนตามสัญญาให้กับองค์การโทรศัพท์ฯ เป็นค่าสิทธิการใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการ รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่ายและการใช้เลขหมายไว้แล้ว สำหรับของดีแทคได้ทำสัญญาร่วมการงานกับ การสื่อสารฯ ในวันเริ่มทำสัญญา 14 พ.ย. 33 โดยดีแทค จ่ายผลตอบแทนตามสัญญาให้กับการสื่อสารฯ เป็นค่าสิทธิการใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการ เพราะการสื่อสารฯ ไม่มีโครงข่ายใช้งานและเลขหมายในประเทศ ดีแทคจึงได้ขอใช้โครงข่ายขององค์การโทรศัพท์ฯและได้ทำข้อตกลงเรื่องค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (Access Charge) กับองค์การโทรศัพท์ฯ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 เพื่อขอใช้โครงข่าย ซึ่งเอไอเอสก็มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับสัญญา และข้อตกลงที่ดีแทคทำทั้งกับการสื่อสารฯ และองค์การโทรศัพท์ฯเหล่านั้นเลย
นอกจากนั้น ดีแทคมักกล่าวอ้างเพียงด้านเดียวว่า มีภาระเรื่องส่วนแบ่งรายได้ บวกค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสูงกว่าคู่แข่ง ทั้งๆ ที่ตกลงยินยอมทำสัญญา และข้อตกลงนั้นด้วยตนเอง แต่ดีแทคไม่เคยกล่าวถึงข้อได้เปรียบของสัญญาด้านอื่นๆ เช่น สัญญาร่วมการงานที่ ดีแทค ทำกับการสื่อสารฯนั้น ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ Digital ถึง 75 MHz ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินกว่าที่ผู้ประกอบการใดๆได้รับมา ดูคล้ายกับเป็นการกักกันคลื่นความถี่ไม่ให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาดได้ ทำให้ดีแทคมีสิทธิในคลื่นความถี่เหนือคู่แข่งขันเป็นอันมาก การจะพิจารณาเรื่องสัญญาต่างๆ ให้เท่าเทียม และเป็นธรรมตามอ้าง ต้องพิจารณาให้ครบทุกๆ ด้าน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องส่วนแบ่งรายได้อย่างเดียว ประการสำคัญดีแทคได้มีการนำคลื่นบางส่วน (25 MHz) โอนไปให้ WCS (12.5 MHz) และ SAMART (12.5 MHz) ในอดีต โดยเรียกร้องค่าโอนสิทธินั้นเพิ่มเติมจากผู้รับสิทธิหรือไม่? และได้นำรายได้จากค่าโอนสิทธิดังกล่าวนั้นแบ่งให้แก่ กสท. หรือไม่เช่นกัน นอกจากนี้ปัจจุบันคลื่นของดีแทคที่เหลือ 50 MHz ก็ยังถือว่ามากเกินไป เพราะว่าผู้รับสิทธิช่วงต่อจากดีแทคซึ่งมีขนาดความถี่เพียง 12.5 MHz ก็ยังสามารถดำเนินกิจการได้ ซึ่งหากภาครัฐนำคลื่นความถี่ดังกล่าวกลับคืนไปจัดสรรให้ผู้ประกอบการใหม่ จะเพิ่มผู้ประกอบการได้อย่างน้อยอีก 3 ราย
ประการที่สอง เรื่องการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ของพรีเพดนั้น เดิมการให้บริการเป็นชนิดโพสต์เพดทั้งสิ้น เมื่อมีการออกพรีเพด ซึ่งถือเป็นสินค้าต่างชนิดกัน ทั้งการคิดด้านต้นทุน และรายได้ ดีแทคจึงได้ทำหนังสือขอเสนออัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายของบริการพรีเพด จาก 200 บาท เป็นอัตราร้อยละ 18 ของรายได้จากราคาบัตรไปยังองค์การโทรศัพท์ฯ และองค์การโทรศัพท์ฯเห็นชอบตามข้อเสนอของดีแทค ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคจึงยอมลดให้ และได้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ตั้งแต่ 2 เม.ย. 44 มาจนถึงขณะนี้ ซึ่งทรูมูฟก็ได้รับสิทธิในลักษณะเดียวกันไปด้วย ทำให้เอไอเอสมีหนังสือถึงองค์การโทรศัพท์ฯ เพื่อขอความชอบธรรมเมื่อ 5 มี.ค. 44 โดยมีการเสนอให้คำนวณจากหลักการด้านต้นทุน รายได้ที่เหมาะสม และทางองค์การโทรศัพท์ฯก็มีคณะทำงาน พิจารณาเห็นว่า สินค้าพรีเพดดังกล่าวมีส่วนแบ่งรายได้ (ค่าสิทธิ / ค่าใช้โครงข่าย ซึ่งใช้น้อยกว่าโพสต์เพด) เป็น 20% ก็เหมาะสมกับสินค้าพรีเพดดังกล่าว เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกันและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยองค์รวม ซึ่งเป็นการอนุมัติหลังได้หลักการการอนุมัติให้แก่ดีแทค ตามที่เอไอเอสขอความชอบธรรมและได้ลงนามในสัญญาใช้อัตราดังกล่าว ตั้งแต่ 15 พฤษภาคม 2544 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันดีแทคได้รับประโยชน์จากสิทธิดังกล่าวเป็นเงิน 47,762 ล้านบาท และถ้าทำการคำนวณตามฐานลูกค้าที่มีอยู่จะได้รับประโยชน์ไปจนสิ้นสุดอายุสัญญาเป็นเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท ส่วนทรูมูฟได้รับประโยชน์จากสิทธิดังกล่าวเช่นกันเป็นเงิน 21,311 ล้านบาท และจะได้รับประโยชน์ไปจนสิ้นสุดอายุสัญญาเป็นเงินประมาณ 1 แสน ล้านบาท
ประการต่อมาที่กล่าวหาว่า เอไอเอสใช้อำนาจกดดันคู่แข่งขัน ด้วยการลดอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่าต้นทุนนั้น ไม่เป็นความจริง โดยนโยบายเอไอเอสยึดถือการแข่งขันโดยใช้คุณภาพของเครือข่าย ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จากเอกสารโฆษณาต่างๆในอดีตที่ผ่านมา และจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด การลดอัตราราคาต่ำนั้น คู่แข่งเป็นผู้เริ่มทำก่อน เอไอเอสทำหลังคู่แข่งมาโดยตลอด และการลดก็ลดอยู่ในราคาเดียวกับที่คู่แข่งลด ซึ่งทำเพื่อรักษาลูกค้าของเอไอเอสไว้ โดยผลประโยชน์ทั้งหมดนั้นก็ตกอยู่กับผู้บริโภค
เรื่องของการคงเลขหมายโทรคมนาคม ( Number Portability) ก็เป็นเรื่องที่เอไอเอสเห็นชอบตั้งแต่ต้นมาโดยตลอด เพราะเชื่อว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค และเอไอเอสเองก็ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมไว้แล้วเช่นกัน เพราะเอไอเอสเชื่อว่า Number Portability จะก่อให้เกิดผลดีแก่การดำเนินธุรกิจของเอไอเอส
ดังนั้น จึงขอเรียนให้ทราบถึงข้อมูลโดยครบถ้วนดังกล่าว และเอไอเอสขอยืนยันว่าเรามีความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจที่ตั้งอยู่บนบริษัทธรรมภิบาล (Good Governance) โปร่งใส และตรวจสอบได้ อีกทั้ง มุ่งดูแลลูกค้า โดยให้บริการที่พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานอย่างไม่หยุดยั้ง จึงขอเชิญชวนให้ผู้ที่ประกอบธุรกิจนี้ ร่วมกันพัฒนาบริการและมีการแข่งขันทางการตลาดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า ไม่ใช่มุ่งหวังแต่เรียกร้องผลประโยชน์เพื่อตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ “
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ส่วนงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส
วราลี จิรชัยศรี, 0 2299 5063, 08 1811 2412, waraleej@ais.co.th
ฉัตรกุล สุนทรบุระ, 0 2687 4123, 08 1846 9889, chatkuls@ais.co.th