“หอคำหลวง” อาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ กษัตริย์นักการเกษตรเอกของโลก เพื่อร่วมฉลองทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในงานมหกรรมพืชสวนโลก ราชพฤกษ์ 2549

ข่าวทั่วไป Monday June 5, 2006 16:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--รี้ด เทรดเด็กซ์
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานคณะอนุกรรมการ โครงการนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ชี้ “หอคำหลวง”เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่โดดเด่นและสง่างามที่สุดของงานเพื่อจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กษัตริย์นักการเกษตรเอกของโลก ในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา โดยงานก่อสร้างก้าวหน้ามากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์แล้วพร้อมเข้าตกแต่งในเดือนกรกฎาคมนี้
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานคณะอนุกรรมการ โครงการนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ หอคำหลวง เปิดเผยว่า “หอคำหลวง” เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่โดดเด่นและสง่างามที่สุดของงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 เพื่อจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กษัตริย์นักการเกษตรเอกของโลก ในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา โดยงานก่อสร้างก้าวหน้ามากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์แล้วพร้อมเข้าตกแต่งในเดือนกรกฎาคมนี้
“หอคำหลวง” ตั้งอยู่บนเนินดิน พื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร มีนายรุ่ง จันตาบุญ สถาปนิกบริษัทช่างรุ่งคอนสรัคชั่น เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างให้มีความวิจิตรบรรจงตามแบบสถาปัตยกรรมและประติมากรรมล้านนาที่จำลองมาจากภาพหอคำหลวงของเจ้าเมืองเชียงใหม่ในอดีต และนายปรีชา เผ่าทอง รับผิดชอบงานจิตรกรรมผาผนังด้านในของอาคาร โดย เน้นการแสดงถึงพระอัจฉริยะภาพด้านการเกษตร และความเป็นกษัตริย์นักพัฒนาขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีการใช้สื่อ Multimedia ในการนำเสนอข้อมูล
หม่อมเจ้าภีศเดช อธิบายเพิ่มเติมว่า บริเวณด้านหน้าหอคำหลวงมีการตกแต่งถนนทางเข้าด้วยซุ้มเฉลิมพระเกียรติจำนวน 30 ซุ้ม แต่ละซุ้มมีกรอบพระบรมฉายาลักษณ์สี่สีติดด้านหน้าและด้านหลัง พร้อมนำเสนอพระราชกรณียกิจและพระบรมราโชวาท แบ่งพื้นที่การแสดงนิทรรศการออกเป็น 2 ส่วน คือ ชั้นบนหอเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายในจัดให้มีการแสดงจิตรกรรมฝาผนังแบบล้านนาบอกเล่าเรื่องราวของพระองค์ท่าน อันเป็นพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาด้านต่างๆ ตรงกลางห้องโถง กำหนดให้มีการสร้างต้นโพธิ์ทอง หรือ ต้นทศพิธราชธรรม ประกอบด้วยใบทั้งหมด 21,915 ใบ เท่ากับจำนวนวันที่ทรงครองราชย์ และเป็นการแสดงถึงพระบารมีของพระองค์ท่านที่คุ้มครองพสกนิกรอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขตราบเท่าทุกวันนี้
บริเวณชั้นล่างของหอคำหลวง เป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในเหตุการณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 และ ปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และโครงการพระราชดำริเต็มรูปแบบสามมิติทั้ง แสง สี และ เสียง อลังการ แบ่งเป็น 9 โซน ได้แก่
โซนที่ 1 “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นการจัดแสดงปฐมบรมราชโองการ และนำเสนอภาพเหตุการณ์พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก
โซนที่ 2 “ธ ทรงมุ่งหวังที่จะเห็นความผาสุขของประชาชนชาวสยาม” แสดงนิทรรศการภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องที่ต่างๆ ที่เป็นภาพแห่งความทรงจำที่ประทับใจที่หาดูได้ยาก
โซนที่ 3 “จากจิตรลดาสู่พสกนิกร” นำเสนอโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา งานกิจกรรมด้านการเกษตรต่างๆ กว่า 40 ปี
โซนที่4 “น้ำแห่งพระราชหฤทัย”นำเสนอโครงการเรื่องน้ำที่เป็นทรัพยากร ธรรมชาติที่จำเป็นต่อการเกษตร อาทิ ฝายชะลอความชุ่มชื้น ฝนหลวง และ แก้มลิง
โซนที่5 “ดินดีเพิ่มผล”นำเสนอโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรดินโดยนำหญ้าแฝกมาใช้ในการป้องกันปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน
โซนที่6 “คุณค่าป่าไม้เพื่อชีวิต” นำเสนอเรื่องทรัพยากรป่าไม้ ได้แก่ โครงการป่าชาวบ้าน ปลูกป่า 3 อย่าง แต่ได้ประโยชน์ถึง 4 อย่าง ปลูกป่าเปียก การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก การปลูกป่าในที่สูง และ การปลูกป่าในใจคน
โซนที่7 “ขจัดสิ้นพืชเสพติด ราษฎรอยู่ดีมีสุข” นำเสนอเรื่องโครงการหลวง ทรงริเริ่มแนวทางการพัฒนา เพื่อช่วยให้ชาวเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีที่ดินทำกินที่ถาวร ลดการตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นต้นน้ำลำธารเพื่อทำไร่ ที่สำคัญยังช่วยลดเนื้อที่ในการปลูกฝิ่นที่เป็นภัยร้ายแรงของประเทศ
โซนที่8 “แหล่งเรียนรู้คู่ธรรมชาติ” นำเสนอเรื่องศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ. จันทบุรี
และ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ. นราธิวาส
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เพื่อเป็นศูนย์รวมของการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย แสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ขยายผลในการพัฒนาให้ประชาชนอยู่ดีกินดีต่อไป
โซนที่9 “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทฤษฎีใหม่ และ ผลผลิตแห่ง ความสำเร็จ” นำเสนอเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นแนวทางให้ประชาชนในทุกระดับ ให้ดำเนินไปในทางสายกลางเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นต้น
“หอคำหลวงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นศูนย์รวมใจของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ และทรงเป็นกษัตริย์นักการเกษตรที่ยิ่งใหญ่ของโลก หลังจากเสร็จสิ้นงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติแล้วจะเป็นส่วนแสดงถาวร เพื่อเปิดให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยในด้านเกษตร และได้รับทราบถึงพระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงงานตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ครบรอบ 60 ปี” หม่อมเจ้าภีศเดช กล่าว
ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ กล่าวว่า งาน “ราชพฤกษ์ 2549” เป็นงานที่รวมสุดยอดความมหัศจรรย์แห่งพันธุ์ไม้เขตร้อนชื้นไว้มากที่สุดกว่า 2,200 ชนิด รวมกว่า 2.5 ล้านต้น และยังเป็นการประกาศศักยภาพการผลิตพืชผลทางการเกษตรของไทยด้วย โดยเฉพาะไม้ดอกไม้ประดับ สมุนไพร พืชสวนครัว พันธุ์ไม้หายาก และพืชผลทางการเกษตร เพื่อแสดงศักยภาพในการเพาะปลูกพันธุ์ไม้เขตร้อนและเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านการเกษตรของประเทศไทย และเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านพรรณไม้เขตร้อนทั่วโลก ตามแนวคิดหลักของงาน คือ “เพื่อนำความรักสู่มนุษยชาติ” (To Express the Love for Humanity)
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวต่อไปว่า การจัดงานครั้งนี้ได้รับการรับรองระดับ A1 อย่างเป็นทางการจากสำนักงานมหกรรมโลก (Bureau of International Exposition) สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (Association of Horticulture Producers - AIPH) และ ภายใต้การสนับสนุนจาก สมาพันธ์ดอกไม้โลก (World Flower Council - WFS) และสมาคมพืชสวนนานาชาติ (International Society for Horticultural Science - ISHS) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพในการจัดงานของประเทศไทยทุกด้าน ซึ่งขณะนี้ด้านการก่อสร้างโดยรวมมีความก้าวหน้าไปมากกว่า 70% แล้ว และการตอบรับเข้าร่วมงานครั้งนี้ทั้งจากนานาประเทศทั่วโลก และองค์กรในประเทศไทยเป็นไปอย่างคึกคักเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติฯในวโรกาสสำคัญนี้
“ขณะนี้นานาประเทศตอบรับยืนยันเข้าร่วม จัดสวน เพื่อเฉลิมฉลองแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างเป็นทางการ 32 ประเทศ จาก 5 ทวีปทั่วโลก ได้แก่ ทวีปเอเชีย (14 ประเทศ)ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเชีย กัมพูชา ลาว อินโดนีเชีย อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ ปากีสถาน จีน และบรูไนทวีปยุโรป (5 ประเทศ) ได้แก่ ตุรกี สเปน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และบัลกาเรีย ทวีปแอฟริกา (8 ประเทศ) ได้แก่ มอริเตเนีย เคนย่า ไนจีเรีย กาบอง ซูดาน โมร็อกโก ตูนิเซีย และแอฟริกาใต้ ตะวันออกกลาง (3 ประเทศ)ได้แก่ กาตาร์ อิหร่าน และเยเมน ทวีปอเมริกา (2 ประเทศ) ได้แก่ บราซิล และ ตรินิแดดแอนด์โตเบโก โดยได้เริ่มการก่อสร้างสวนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2549
แต่ละประเทศก็จะมีHigh Light ต่างๆมาแสดงเต็มที่ อาทิประเทศญี่ปุ่น ไฮไลท์ของสวนญี่ปุ่น ในครั้งนี้ จะมีการจำลองภูเขาไฟฟูจิ อันเป็นสัญลักษณ์ประจำประเทศ และนำ ดอกบัว Oga-hasu นี้ ที่หลับไหลในซากฟอสซิลมามากกว่า 2,000ปี มาปลูกเพื่อให้คนไทยได้ดูเบ่งบานอีกครั้งในประเทศไทยด้วย ประเทศเนเธอร์แลนด์ เนรมิตสวนสวยด้วยพรรณไม้ทิวลิป จากเนเธอร์แลนด์และจำลองกังหันฮอลล์แลนด์ แสดงเอกลักษณ์ของประเทศมาตกแต่งสวน ประเทศกาตาร์จำลองแผนที่ประเทศกาตาร์ลงบนสวนและเน้นการจัดสวนทะเลทรายที่มีความพิเศษของทรายขาวบริสุทธิ์ และ ประเทศ สเปน นำพรรณไม้หลากหลายสี จัดสวน แต่งพื้นที่ด้วยหินสี และหินจากภูเขาไฟ และจะนำต้นมังกรอายุกว่า 1,000 ปีมาจัดแสดง พร้อมทั้งนำการแสดงระบำฟามิงโก้ที่มีชื่อเสียงเข้ามาแสดงในงานด้วย
ด้านการมีส่วนร่วมจากในประเทศในการจัดสวนเฉลิมพระเกียรติฯประเภทองค์กรเป็นการนำทฤษฎีการเกษตรของในหลวง มาเป็นแนวคิดการจัดสวน อาทิ ทฤษฎีหญ้าแฝกรักษาการยึดตัวของดิน และทฤษฎีการเกษตรแบบพอเพียง เป็นต้น เพื่อให้สวนที่จัดขึ้นเป็นแหล่งความรู้ให้กับเกษตรกร และประชาชนชาวไทย ได้น้อมนำทฤษฎีในหลวงไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้มีองค์กรยืนยันตอบรับเข้าร่วมจัดสวน 22 องค์กร แบ่งเป็น 8หน่วยงานราชการ/จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดราชบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา องค์การสวนพฤกษศาสตร์ และ โครงการหลวง 3 รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การท่าเรือแห่งประเทศไทยการประปานครหลวง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ 8 บริษัทเอกชน ได้แก่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปราณ เดอ สยาม จำกัด
งานมหกรรมพืชสวนโลกฯ “ราชพฤกษ์ 2549” กำหนดจัดระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 — 31 มกราคม 2550 (รวม 92 วัน) ณ ต.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่ คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานจากประชาชนชาวไทยและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนตลอดระยะเวลาการจัดงาน 3 เดือน
ข้อมูลสำหรับกองบรรณาธิการ
งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ “ราชพฤกษ์ 2549” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 — 31 มกราคม 2550 (รวม 92 วัน) ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง ต.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่ บนพื้นที่ 470 ไร่ เป็นงานที่รวมสุดยอดความมหัศจรรย์แห่งพรรณไม้ในพื้นที่เขตร้อนชื้นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ที่มีความหลากหลายมากที่สุดของพรรณไม้กว่า 2,200 ชนิด กว่า 2.5 ล้านต้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และฉลองพระชนมายุ 80 พรรษา เพื่อแสดงศักยภาพด้านการเกษตรของประเทศไทย
เป็นการจัดงานมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีนโยบายที่จะให้พื้นที่จัดงานเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเชียงใหม่ และเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านพืชสวนของประเทศภายหลังการจัดงานจบสิ้นลง ส่งผลให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหลายด้าน อาทิ ด้านการส่งออก ภาพลักษณ์ของประเทศด้านพืชสวน และด้านการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานจากประชาชนชาวไทยและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนตลอดระยะเวลาการจัดงาน 3 เดือน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ:-
นวพร โรจน์อารยานนท์ (มุก) 02-6867252 หรือ 05-9079490 email:nawaporn@royalfloraexpo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ