Hidden ความลับที่ ‘ซ่อน’ ไว้ไม่เคยบอกใคร เจ้าของรางวัล ‘ผู้กำกับยอดเยี่ยม’ จากคานส์ปีล่าสุด

ข่าวทั่วไป Friday November 4, 2005 10:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--สหมงคลฟิล์ม
The Movie
มิคาเอล ฮาเนเก ไม่ใช่คนทำหนังธรรมดา
ทว่าหมอนี่เก่งกาจสุดยอดในการ ‘เล่นเกมจิตวิทยา’ กับผู้ชม
Funny Games ผลงานชิ้นที่น่าจะเรียกได้ว่าโด่งดังที่สุดของเขา ทำให้คนดูจำนวนไม่น้อยรู้สึกหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง มึนเหมือนถูกทุบหัว จนต้องลุกออกจากโรงกลางคัน ส่วนผู้ที่ใจแข็งนั่งดูต่อจนกระทั่งจบเรื่อง ก็ล้วนแต่บ่นพึมด้วยความอึดอัดคับข้องใจและสงสัยว่า ‘หนังบ้าอะไร ทำร้ายจิตใจกันได้ถึงเพียงนี้’
ปีนี้ฮาเนเกมีหนังเรื่องใหม่ แม้จะไม่โหดเหี้ยมทำร้ายจิตใจผู้ชมมากมายเท่า Funny Games แต่กระนั้นหนังก็ยังคงมีร่องรอยของ ‘สงครามจิตวิทยา’ และการเล่นกับความรู้สึกของผู้ชม ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผลงานชิ้นก่อนๆ ของเขา
หนังใหม่ของฮาเนเกเรื่องที่ว่านี้ชื่อ Hidden (หรือ Cach? ในภาษาฝรั่งเศส) เปิดฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งล่าสุด
หนังได้รับการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งจากทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ หนำซ้ำยังได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังที่ถือได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้มาประดับบารมีถึง 3 รางวัลด้วยกัน คือ รางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์นานาชาติ (FIPRESCI Prize), Prize of the Ecumenical Jury (มอบให้แก่หนังที่มีสาระด้านการสร้างความสมานฉันท์กลมเกลียวในหมู่มวลมนุษยชาติ ผู้ตัดสินรางวัลคือองค์กรทางคริสตศาสนา)
และที่ถือว่าเด็ดสุดก็คือ Hidden ทำให้ฮาเนเกคว้ารางวัล ‘ผู้กำกับยอดเยี่ยม’ จากคานส์ได้เป็นหนแรกในชีวิตด้วย
เรื่องลับๆ
เป็นเวลาหลายปีที่ชีวิตของ ฌอร์จส์ โลรองต์ ราบรื่นเป็นสุขมาโดยตลอด
เขาประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเป็นพิธีกรรายการวิจารณ์วรรณกรรมทางทีวี อีกทั้งยังมี อานน์ เป็นภรรยาที่น่ารัก และ เปียโรต์ ลูกชายวัย 12 ของทั้งคู่ ก็ไม่ใช่เด็กเหลวไหล ไม่เคยสร้างปัญหาน่าปวดหัวใดๆ ให้พ่อแม่
แต่แล้ววันหนึ่ง ความสงบสุขที่ว่านั้นกลับต้องถูกสั่นคลอนรุกล้ำ เมื่อจู่ๆ ฌอร์จส์ได้รับรูปวาดแบบเด็กๆ ที่ซุกซ่อนนัยของการ ‘ขู่ขวัญ’ พร้อมทั้งวิดีโอเทปปริศนาซึ่งเนื้อหาภายในเป็นการ ‘แอบถ่าย’ ภาพชีวิตประจำวันของเขากับครอบครัว
ทีแรกฌอร์จส์คิดว่า นี่อาจเป็นการกระทำของแฟนรายการสติไม่สมประกอบสักคน แต่เมื่อวิดีโอเทปม้วนต่อมา และภาพวาดชิ้นต่อมาถูกส่งถึงมือ ฌอร์จส์จึงตระหนักว่า แท้จริงแล้วเรื่องทั้งหมดนี้อาจเกี่ยวพันกับ ‘ความผิดบาป’ บางประการในอดีต
เป็น ‘ความลับ’ ที่เขาซุกซ่อนไว้ และไม่เคยเปิดเผยให้ใครได้ล่วงรู้
เหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากจะทำให้สมาชิกทั้งสามของครอบครัวโลรองต์ ประหวั่นพรั่นพรึงเหลือกำลังแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความแตกแยกและรอยร้าวบางๆ ระหว่างฌอร์จส์กับอานน์ — เพราะนี่เป็นครั้งแรกตั้งแต่แต่งงานกันมา ที่ฝ่ายแรกมีความลับ และฝ่ายหลังถูกกีดกันไม่ให้ร่วมรับรู้
ทั้งหมดนั้นทำให้ฌอร์จส์ตกอยู่ในสภาพ ‘หลังพิงฝา’ ‘กลืนไม่เข้า คายไม่ออก’
ในทางหนึ่งเขาต้องการปกปิดเรื่องราวในอดีตของตนเองไว้ ไม่ต้องการให้ใครรู้ และไม่อยากแม้แต่จะคิดถึง
ในอีกทางเขาจำต้องหวนกลับไปเผชิญหน้ากับมัน ทั้งนี้เพราะนี่เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เขาพบคำตอบว่า ใครคือบุคคลปริศนาเจ้าของวิดีโอเทปและรูปวาดเหล่านั้น
ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าเรื่องราวจะสรุปลงเอยอย่างไร ทว่านับจากนี้เป็นต้นไป แน่นอนว่าชีวิตของฌอร์จส์และครอบครัวโลรองต์ จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกเลย...
เมื่อ ‘ต่อมอยากรู้’ ถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง!
จุดเด่นอันดับแรกสุดของ Hidden อยู่ที่การเล่นเอาล่อเอาเถิดกับความ ‘อยากรู้อยากเห็น’ ของผู้ชม
ในช่วงเริ่มต้นของหนัง ฮาเนเกทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าตนเป็นฝ่ายเดียวกับฌอร์จส์และครอบครัว เราต่างสงสัยเหมือนที่ทั้งสามสงสัยว่า ใครกันหนอคือบุคคลลึกลับที่อยู่เบื้องหลังการคุกคามในครั้งนี้
แต่แล้วต่อๆ มา เมื่อเรื่องราวดำเนินคืบหน้าไปเรื่อย คำถามในหัวของผู้ชมก็กลับถูกปรับและเปลี่ยนเสียใหม่ — อย่างช้าๆ และค่อยเป็นค่อยไป ฮาเนเกทำให้ผู้ชมรู้สึก ‘ไม่สนิทใจ’ กับฌอร์จส์ (สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมที่น่าเคลือบแคลง จำพวก โกหกเมีย ไม่ยอมแจ้งความกับตำรวจ รวมถึงคำพูดและการกระทำก้าวร้าวที่เผยให้เห็นบ่อยครั้ง) จนท้ายที่สุดก็พลิกผันย้อนกลับไปถามว่า ‘แท้จริงแล้วฌอร์จส์ทำอะไรไว้กันแน่’
‘ความลับ’ และ ‘ความหลัง’ ของฌอร์จส์ ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ฮาเนเกบอกกล่าวอย่างชัดเจนว่า บางสิ่งบางอย่างบางเหตุการณ์ที่เลวร้ายได้เกิดขึ้นแน่ๆ เขากระตุ้น ‘ต่อมอยากรู้’ ของผู้ชมอยู่ตลอดเวลา ทว่ากลับหลบไปเลี่ยงมา แย้มนิดแย้มหน่อยแต่ไม่ยอมเฉลยสักทีว่า เหตุการณ์ที่ว่านั้นแท้จริงแล้วเป็นเช่นไรแน่
การเล่นสนุกความรู้สึกของคนดูเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสำหรับมิคาเอล ฮาเนเก แฟนหนังของเขาต่างก็ทราบดีว่า ก่อนดูหนังของเขา — ไม่ว่าเรื่องใด — จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม เพราะอย่างหนึ่งที่จะ ‘โดนแน่’ ก็คือ การถูก ‘หนังปั่นหัว’ ในลักษณะเช่นนี้
แม้ระดับการยั่วเย้ากระเซ้าแหย่ของฮาเนเกใน Hidden จะ ‘ฉูดฉาด’ น้อยลงพอสมควรเมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาเคยทำไว้ในหนังเรื่องก่อนๆ (กรณีคลาสสิกก็คือ Funny Games หนังระทึกขวัญที่เล่าเรื่องของครอบครัวแสนสุขซึ่งถูกไอ้โรคจิต 2 คนบุกเข้ามาทำร้ายถึงในบ้าน เป็นธรรมดาที่ผู้ชมจะต้องเอาใจช่วยผู้บริสุทธิ์ ซึ่งฮาเนเกก็ทำทีว่าใจดี หยิบยื่นความหวังให้ผู้ชมครั้งแล้วครั้งเล่า แต่แล้วในที่สุดก็กลับชักมือดึงมันกลับ แถมยังกระทืบซ้ำจนหัวจิตหัวใจคนดูแหลกละเอียดยับเยิน) กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โดยรวมแล้ว Hidden ยังคงเป็นหนังซึ่งฮาเนเกแสดงฝีมือการทำหนังและเล่นเกมในเชิงจิตวิทยาเอาไว้ได้อย่างเฉียบขาดที่สุดเรื่องหนึ่ง
หนังดูสนุก มีลูกล่อลูกชนในการบีบคั้นความรู้สึกของผู้ชม นอกจากนั้นยังสามารถตรึงความสนใจได้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง
ส่วนการที่มัน ‘คล้ายๆ’ ว่าจะรุนแรงน้อยลงนั้น ก็ไม่ใช่เพราะฮาเนเก ‘ใจดี’ ขึ้น
ตรงข้าม ตานี่ยังใจร้ายมากเท่าเดิม เพียงแต่หนนี้เขา ‘เหลี่ยมจัด’ มากขึ้น มีวิธี ‘ล่อเหยื่อ’ ที่แนบเนียนมากขึ้น...ก็เท่านั้นเอง!
Cast & Crew
The Director - มิคาเอล ฮาเนเก
เกิดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 1942 ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมัน แต่ย้ายมาโตที่ออสเตรีย
พ่อคือ ฟริตซ์ ฮาเนเก เป็นทั้งนักแสดงและผู้กำกับชาวเยอรมัน ส่วนแม่คือ เบียทริซ ฟอน ดีเจนส์ชิลด์ เป็นนักแสดงชาวออสเตรีย
มิคาเอล ฮาเนเก เคยร่ำเรียนทั้งทางด้านการละคร จิตวิทยา และปรัชญา จนท้ายที่สุดก็คว้าปริญญาโทมาได้ถึง 2 ใบใน 2 สาขาหลัง (จิตวิทยาและปรัชญา)
ฮาเนเกเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการเขียนบทละคร จากนั้นก็เขยิบมาเป็นผู้กำกับละครเวทีและหนังทีวีเมื่อต้นยุค 70
กว่าที่ฮาเนเกจะได้เริ่มกำกับภาพยนตร์เรื่องยาว ก็ปาเข้าไปอายุ 47 — The Seventh Continent (1989) เนื้อหาเล่าถึงโศกนาฏกรรมความแตกร้าวของครอบครัวหนึ่ง หนังได้รับคำชื่นชมอย่างกว้างขวาง จุดเด่นคือการแสดงให้เห็นแง่มุมทางจิตวิทยาที่น่าสนใจ และภาวะโดดเดี่ยว การสื่อสารที่ล้มเหลวของตัวละคร ก็ได้รับการถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมา
ที่สำคัญก็คือ นี่คือหนังเรื่องแรกในไตรภาคที่ฮาเนเกเรียกว่า ‘my country’s emotional glaciation’ ซึ่งมีบอกเล่าสาระเรื่องความห่างเหินของผู้คน ความเฉยชาของสังคม และความรุนแรงในโลกสมัยใหม่ - หนังอีก 2 เรื่องที่อยู่ในไตรภาคชุดนี้ก็คือ Benny’s Video (1992) และ 71 Fragments of a Chronology of Chance (1994)
ทั้ง Benny’s Video และ 71 Fragments of a Chronology of Chance ล้วนแล้วแต่ได้รับเสียงวิจารณ์ในทางบวก นอกจากนั้นยังเป็นหนังที่ส่งให้ชื่อของมิคาเอล ฮาเนเก เป็นที่รู้จักในแวดวงเทศกาลหนัง - โดยเฉพาะอย่งยิ่งทางฝั่งยุโรป — มากกว่าเดิม เนื่องจากเรื่องแรกได้รับรางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์นานาชาติ (FIPRESCI Prize) ที่เทศกาลหนังยุโรป และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเวียนนา ส่วนเรื่องหลังก็ไม่น้อยหน้า คว้า 3 รางวัลใหญ่ คือ หนังยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และรางวัลจากสมาคมนักเขียน-นักวิจารณ์คาทาลัน ที่เทศกาลหนังนานาชาติคาทาโลเนียน ประเทศสเปน มาครองได้สำเร็จ
ในปี 1997 ฮาเนเกโด่งดังถึงขีดสุดด้วยหนังใจร้ายที่ช็อกคนดูอย่างรุนแรง เรื่อง Funny Games หนังเดินทางไปคว้ารางวัลสำคัญๆ จากเทศกาลหนังหลายรายการ ที่สำคัญก็คือ นี่เป็นหนังเรื่องแรกของฮาเนเกที่ได้รับเลือกให้เข้าฉายในสายประกวด เพื่อเข้าชิงรางวัลปาล์มทอง (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ด้วย
หลังจาก Funny Games ออกฉาย ดูเหมือนว่าชื่อ ‘มิคาเอล ฮาเนเก’ จะสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องหมายรับประกันคุณลักษณะบางประการของหนังได้ ฮาเนเกทำให้ผู้ชมและนักวิจารณ์ตระหนักโดยทั่วกันว่า หนังของเขาไม่ใช่หนังประเภท ‘อารมณ์ดี๊ดี’ แทบไม่มีแง่มุมสดชื่นสดใส ทว่าจะบีบคั้นคุกคามประสาทอย่างหนัก ชนิดที่คนดูเองก็คาดไม่ถึง
ผลงานหลังจากนี้ของฮาเนเกประกอบด้วย
The Castle (1997) หนังที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมคลาสสิกของนักเขียนชีวิตรันทด ฟรันซ์ คาฟกา
Code Unknown (2000) หนังมึนๆ ที่มี จูเลียต บิโนช รับบทนำ หนังได้รับ Prize of the Ecumenical Jury และได้รับเลือกให้เข้าฉายในสายประกวดที่คานส์
The Piano Teacher (2001) หนังที่ดูสนุกมากที่สุดเรื่องหนึ่งของฮาเนเก เนื้อหาเล่าถึงชีวิตมืดหม่นเพี้ยนพิลึกของครูสอนเปียโนทึนทึก ดัดแปลงจากนิยายของ เอลฟรีเด เยลิเน็ก นักเขียนชาวออสเตรียซึ่งเป็นเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2004 หนังกวาดรางวัลสำคัญๆ จากเทศกาลหนังใหญ่ๆ มาเพียบ ส่วนที่คานส์นั้น The Piano Teacher ได้รับเลือกให้เข้าฉายในสายประกวด ซึ่งแม้ที่สุดแล้วหนังจะพลาดรางวัลนี้ไป แต่ก็ไปคว้า 3 รางวัลสำคัญอื่นมาแทนได้ คือ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (อิซาแบลล์ อูแปต์) นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (เบอนัวต์ มาฌิเมล์) และรางวัลกรังปรีซ์
The Time of the Wolf (2004) การร่วมงานครั้งที่ 2 ของอิซาแบลล์ อูแปต์และมิคาเอล ฮาเนเก ใช้ฉากหลังเป็น ‘โลกประหลาด’ ที่ไม่สามารถระบุเวลาและสถานที่ได้ โดยรวมแล้วหนังค่อนข้างเนิบช้า หดหู่ และบีบคั้น กระนั้น สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับ ‘หนังแบบฮาเนเก’ ดีอยู่แล้ว นี่ถือว่าเป็นผลงานที่เข้าขั้น ‘ได้มาตรฐาน’ ทีเดียว (ได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ที่เทศกาลหนังคาทาโลเนียน ประเทศสเปน)
สำหรับ Hidden นั้น เป็นผลงานกำกับเรื่องล่าสุดของฮาเนเก น่าสนใจอย่างไร? ยอดเยี่ยมแค่ไหน? คำตอบอยู่ที่ 3 หน้าแรก...
Cast
ดาเนียล ออเตย์ (รับบท ฌอร์จส์ โลรองต์)
แม้ว่าชื่อของ ดาเนียล ออเตย์ จะไม่คุ้นหูนักดูหนังชาวไทยนัก แต่แท้ที่จริง สำหรับในวงการหนังของประเทศฝรั่งเศส รวมถึงประเทศอื่นๆ ในฝั่งยุโรปแล้ว ออเตย์ถือว่าเป็นนักแสดงที่ได้รับการยอมรับว่า ‘ฝีมือเป็นเลิศ’ มากที่สุดคนหนึ่ง (เคยมีหนังที่ออเตย์ร่วมแสดงอย่างน้อยเรื่องหนึ่งเข้ามาฉายในบ้านเรา นั่นคือ The Eight Days ซึ่งออเตย์ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมที่เทศกาลหนังเมืองคานส์จากหนังเรื่องนี้ด้วย)
ดาเนียล ออเตย์ เกิดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 1950 ที่เมืองอัลเจียร์ส ประเทศฝรั่งเศส (ปัจจุบันคืออาณาเขตของประเทศอัลจีเรีย) พ่อแม่เป็นนักร้องโอเปรา
ออเตย์เริ่มงานแสดงในวงการละครเวทีก่อน จากนั้นจึงหันเหมาเล่นหนังใหญ่ในช่วงกลางทศวรรษที่ 70
ผลงานช่วงแรกของออเตย์อยู่ในกลุ่ม ‘ตลกชวนหัว’ เสียเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา งานที่ทำให้เขาได้รับเสียงชื่นชมและความชื่นชอบจากนักวิจารณ์และคนดู กลับเป็นงานประเภทดรามา - โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังดรามาบีบคั้นซึ่งเป็นหนังในดวงใจของใครหลายคนอย่าง Jean de Florette และ Manon of the Spring (เรื่องราวต่อเนื่องกัน สร้างในปี 1986 ทั้งคู่ ดัดแปลงจากนิยายของ มาร์เซล ปาโญล)
รวมถึงหนังรักที่ ‘จี๊ดมาก’ เรื่อง A Heart in Winter (1992 — ออเตย์รับบทนำคู่กับ เอ็มมานูเอล เบอาต์ อดีตภรรยาของเขา)
Hidden เป็นการร่วมงานครั้งแรกของดาเนียล ออเตย์ กับมิคาเอล ฮาเนเก
จูเลียต บิโนช (รับบท อานน์ โลรองต์)
แม่ของ จูเลียต บิโนช เป็นนักแสดง ส่วนพ่อเป็นศิลปินและผู้กำกับละครเวที
เธอเกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 1964 ที่ปารีส เคยศึกษาด้านการแสดงที่โรงเรียนศิลปะการละครกรุงปารีส จากนั้นก็เจริญรอยตามเท้าแม่ ด้วยการเข้าสู่วงการ เป็นนักแสดงเต็มตัว
ในระยะเริ่มต้น บิโนชรับบทเล็กๆ ในหนังฝรั่งเศสหลายต่อหลายเรื่อง จนกระทั่งในปี 1985 จึงเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อได้ร่วมงานกับ ฌอง-ลุก โกดาร์ ใน ‘หนังอื้อฉาว’ ของเขาเรื่อง Je Vous Salue, Marie (นำเรื่องราวการประสูติจากครรภ์บริสุทธิ์ของพระเยซูมาเล่าใหม่ ใช้ฉากหลังเป็นยุคสมัยปัจจุบัน)
อย่างไรก็ตาม หนังที่ถือได้ว่าเป็นการ ‘แจ้งเกิด’ อย่างแท้จริงของจูเลียต บิโนช ก็คือ The Unbearable Lightness of Being (1988) ผลงานกำกับของ ฟิลิป คอฟแมน ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมยอดเยี่ยมของ มิลาน คุนเดอรา
นับถึงวันนี้ บิโนชมีผลงานการแสดงรวมแล้วเกือบ 40 เรื่อง ได้รับรางวัลนับไม่ถ้วน นอกจากนั้นยังเคยร่วมงานกับผู้กำกับดังๆ ทั้งในยุโรปและฮอลลีวูดมาหลายคน
ก่อนหน้านี้บิโนชเคยรับบทนำในหนังของมิคาเอล ฮาเนเกมาแล้วครั้งหนึ่ง คือ Code Unknown
Hidden นั้นเป็นการร่วมงานกันครั้งที่ 2 ของทั้งคู่
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

แท็ก จิตวิทยา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ