ใช้โซลาร์เซลล์ไทย ประหยัดเงินได้นับ 100 ล้านบาทต่อปี

ข่าวทั่วไป Monday November 27, 2006 11:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--ก.พลังงาน
หลังจากราคาน้ำมันขึ้นสูงถึงลิตรละ 30 บาท ก็มีการพูดถึงพลังงานทดแทนอื่น ๆ มากขึ้น ทั้งพลังงานน้ำ พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีความเชื่อว่า พลังงานแสงอาทิตย์นั้นไกลเกินฝัน เพราะมีราคาแพงจนไม่คุ้มทุน แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์ที่ทุ่มเทให้กับการพัฒนางานด้านนี้อยู่หลายท่าน และในที่สุดก็ทำวิจัยประดิษฐ์อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ได้ในชีวิตประจำวันกลายเป็นพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพชนิดหนึ่งของประเทศไทยได้แล้ว
รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิวิทยาศาสตร์ ดร.ปรีชา-ประไพ อมาตยกุล กล่าวถึงการเปิดตัวหนังสือ “พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานทดแทนวันนี้” เป็นหนังสือที่จะให้คำตอบได้อย่างดีสำหรับการทำความเข้าใจในการนำโซลาร์เซลล์มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างคุ้มค่า และประหยัดเงินตราได้เป็นอย่างดี เพราะพลังงานแสงอาทิตย์นี้เป็นพลังงานที่บริสุทธิ์ปราศจากมลพิษและไม่ต้องเสียเงินไปซื้อหา ทำให้เศรษฐกิจของประเทศชาติได้รับผลกระทบเกิดปัญหาเหมือนในขณะนี้
ทางมูลนิธิฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนพลังงาน และราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ พลังงานแสงอาทิตย์จึงเป็นประเด็นที่มูลนิธิฯ ให้ความสนใจและเมื่อรวบรวมข้อมูลแล้วก็เห็นสมควรนำมาเผยแพร่สู่สาธารณชนพร้อมเสนอแนะเชิงนโยบายแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการสนับสนุนนักวิจัยไทยด้านเซลล์แสงอาทิตย์ที่พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา โดยมีต้นทุนราคาถูกเพราะสามารถใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศมาผลิตได้ แต่มีประสิทธิภาพสูงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางวิชาการในการพัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง โดยไม่ต้องนำเข้าเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศ นับเป็นการรองรับปัญหาการขาดแคลนพลังงานในอนาคต หากได้รับการสนับสนุนที่ดีก็อาจจะสามารถผลิตเพื่อการส่งออกเป็นการนำเงินตราเข้าประเทศได้อีกด้วย
นายปกรณ์ สุพานิช ผู้ช่วยนักวิจัย สถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ขอประกาศเชิญชวนบริษัทเอกชนผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์ โดยใช้เทคโนโลยีของ สวทช. โดย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ของ สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแผ่นโพลิเมอร์โปร่งแสง ชนิด Ethylene Vinyl Acetate (EVA) สำหรับห่อหุ้มเซลล์แสงอาทิตย์ได้เป็นผลสำเร็จ จึงขอเชิญชวนผู้สนใจผลิตจแผ่นฟิล์มโพลิเมอร์โปร่งแสงเชิงพาณิชย์ที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตหรือการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมผลิตแผ่นฟิล์มโพลิเมอร์โปร่งแสงเชิงพาณิชย์ ที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตหรือการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมผลิตแผ่นโพลิเมอร์หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคุณสมบัติของแผ่นฟิล์มโพลิเมอร์โปร่งแสง คือ ป้องกันความชื้นได้ตลอดอายุการใช้งาน สามารถทนความร้อนและแสงอัลตราไวโอเลต ทำให้ประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ไม่ลดลง และมีต้นทุนต่ำสามารถผลิตในปริมาณมาก ทำให้ต้นทุนแผ่นฟิล์มโพลิเมอร์โปร่งแสงที่ผลิตได้ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ
ขณะนี้ สวทช. กำลังดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดฟิล์มบางแบบซิลิคอน ที่มีประสิทธิภาพเฉลี่ยประมาณ 7 % และต้นทุนการผลิตต่ำ จึงขอเชิญชวนภาคเอกชนตั้งโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดกำลังการผลิตเฉลี่ยประมาณ 10 เมกะวัตต์ต่อปี ภายใต้การดูแลและให้คำปรึกษาของ สวทช. ตามสัญญาการอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยีการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี หรือสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โทรศัพท์ 02-564-7000 ต่อ 1619 (คุณธนา) หรือ 2711 (คุณปกรณ์) โทรสาร 02-564-7003 หรือ 02-564-7059 e-mail : thana@tmc.nstda.or.th หรือ pakorn@tmc.nstda.or.th เว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th (รับจำนวนจำกัด)
จากความสำเร็จในการพัฒนาการ “ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดฟิล์มบางแบบซิลิคอน” ที่มีคุณภาพระดับสากล ต้นทุนต่ำ ระยะเวลาคืนทุนเร็วและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงขอเชิญชวนผู้สนใจลงทุนตั้งโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์ที่มีขนาดกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ต่อปี โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 380 ล้านบาท (ไม่รวมมูลค่าเทคโนโลยี) และผู้สนใจลงทุนต้องมีประสบการณ์ ด้านการผลิตหรือการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ ไฟฟ้า พลังงานและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยขอเชิญชวนบริษัทเอกชนผลิตแผ่นฟิล์มโพลิเมอร์โปร่งแสงเชิงพาณิชย์สำหรับอุตสาหกรรมผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ