กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--เจเอสแอล
“สุริวิภา” เปิดตำหนักประถม ชมตำนาน
ผ่าน มรว. สุนิดา เหลนรัชกาลที่ 5 ผู้เจียมตัว เพราะไม่รู้จึงต้องทำ!!
หากจะแนะนำว่า “สุริวิภา” พุธที่ 2 สิงหาคม ศกนี้ เชิญพบกับ ธิดาของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมเพชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสองค์ที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 8 ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ผู้ชมคงนึกภาพราชนิกุลผู้สูงศักดิ์ดูเคร่งขรึม แต่หากจะแนะนำให้รู้จักสุภาพสตรีสูงวัยที่ยังคงความเก๋-เปรี้ยวอยู่ในที เป็นผู้ที่ริเริ่มทำอะไรหลายต่อหลายอย่าง นับตั้งแต่ริเริ่มเขียนข่าวซุบซิบคนแวดวงชั้นสูงในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับแรกๆ ของไทย และถึงวันนี้ ทั้งๆที่วัย 62 แล้ว ก็ยังริเริ่มบูรณะฟื้นฟูตำหนักประถมให้กลับมามีชีวิต และปลุกฮาร์พอายุเกือบร้อยให้กลับมาบรรเลงเพลง เพียงเท่านี้ก็คงทำให้ภาพของ ม.ร.ว. สุนิดา กิติยากร เด่นชัด และดูแตกต่างจากคำแนะนำแรก
“สุริวิภา” เปิดใจ ม.ร.ว. สุนิดา กิติยากร ถึงการทำงานมากมายในวัย 62 ว่า “คงเป็นเพราะว่า รู้ตัวดีว่าไม่ได้เรียนหนังสือสูง เลยต้องเจียมตัวว่าไม่มีความรู้ ก็เลยอยากรู้อยากเห็นอยากเรียนรู้ไปทั้งหมด และอยากให้คนอื่นได้รู้ต่อในสิ่งที่เรารู้ด้วย และเป็นเหมือนคนที่ถูกสาป ใครเค้าทำอะไรง่ายๆ เราไม่ทำ ต้องทำสิ่งที่ยากๆ แต่เวลาลงมือทำก็จะตั้งใจทำจริงๆ เหมือนการพาดหัวข่าวที่น่าสนใจ เนื้อในข่าวก็ต้องมีอะไรที่น่าสนใจใกล้เคียงจริงๆ อยู่ด้วย และยอมรับเป็นคนบ้ายอ อยากให้คนอื่นมาชื่นชม แล้วพอมีคนมาชม ก็ยิ่งต้องเฟื่องทำให้ดีขึ้น โชคดีที่รู้จักคนมากหน้าหลายตา ทำให้ได้เครือข่ายขยายความรู้เพิ่มขึ้น จึงกล้าทำหลายๆสิ่งเหล่านี้
เหมือนตอนที่เริ่มทำงานอายุ 19 หลังกลับจากอังกฤษได้ทำที่ “บางกอกเวิล์ด” บังเอิญได้เขียนข่าวประธานาธิบดีจอห์นเอฟเคนเนดี้ถูกยิง เป็นเล่มเดียวที่รายงานข่าวนี้ทันในเช้ารุ่งขึ้น ก็ภาคภูมิใจคิดว่าตัวเองเก่งทำได้ ทั้งที่ก่อนหน้าไม่เคยสนใจอ่านหนังสือพิมพ์เลย แต่ความจริงยังไม่รู้อะไรเลย ก็ต้องฝึกตัวเองอย่างหนัก อ่านหนังสือมากขึ้น จนได้ภาษาที่เข้ากับปากเราเอง เป็นศิลปะที่เราเรียนรู้ได้ และเริ่มรู้จักวางเครือข่ายกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่เรารู้จัก บางครั้งก็ใช้วิธีโทรศัพท์เช็คข่าว บางครั้งก็ไปงานเอง ในยุคนั้นงานปาร์ตี้สังสรรค์ไม่ได้จัดเก๋ๆให้คนรวยๆเท่านั้นต้องเป็นงานที่มีประโยชน์ด้วย และเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯยังทรงเสด็จฯออกงานกาชาดด้วยพระองค์เองทุกปี เราก็สนุกต้องปีน เสาไฟฟ้ารายงานข่าวกัน ในคอลัมน์ของเราจึงเป็นภาษาที่เปรี้ยวและมีข้อมูลลึก ก็เริ่มสนุกเพราะตอนนั้นคนรู้จักสุนิดามากขึ้น แต่ความเป็นจริง คนเขารู้จักคอลัมน์เรา ไม่ใช่ตัวเรา เขาวิ่งมาหาเราเพราะอยากให้เราเขียนถึงเขา ก็เข้าใจสัจธรรมข้อนี้มาตลอด เขียนข่าวสังคมจนมาทำบางกอกโพสต์และเริ่มช่วยกันตั้งเดอะเนชั่น ทำอยู่นาน จากที่เคยเขียนข่าวก็ให้ไปทำเรื่องบริหารจัดการ ไปนั่งเป็นประธานบ้าง พอหายเบื่อคิดคอลัมน์ใหม่ออกก็กลับมาทำข่าวอีก เปลี่ยนไปตามยุคที่เราโตขึ้นๆ
ในที่สุด ยิ่งเรารู้จักผู้ใหญ่ที่มีความสำคัญต่อประเทศต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เราก็คิดได้ว่า โธ่เอ๋ย! แท้จริงแล้วเราเป็นแค่กบในกะลา เป็นแค่อีกาคาบข่าว เขาเอาข่าวมาป้อนให้เราเพื่อประโยชน์ของเขาเท่านั้น ก็เริ่มเบื่อ ก็ค่อยๆ ถอยตัวเองออกมา ตอนนั้นก็อายุ 40 แล้วและเริ่มติดนวนิยายกำลังภายใน เลยออกจากงานมาอยู่ดูแลจัดบ้าน ทำสวน และใช้ชีวิตวัยรุ่นกับลูกสาวที่กำลังเข้ามหาวิทยาลัย ชดเชยช่วงวัยรุ่นของตัวเอง”
แต่ชีวิตที่คุณหญิง ม.ร.ว. สุนิดา กิติยากร บอกว่าเหมือนถูกสาป หยุดพักได้ไม่นาน ก็ต้องได้กลับมาทำงานเพื่อท่านแม่และเพื่อวงศ์ตระกูล “9 ปีที่แล้วหลังท่านแม่(พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา) สิ้นพระชนม์ มีตำหนักประถมที่ท่านรักมาก ซึ่งท่านขอพระราชทานรื้อถอนบางส่วนจากวังเพชรบูรณ์ ที่สี่แยกราชประสงค์ (ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ดพลาซ่า) มาปลูกสร้างใหม่ในซอยอัคนี เมื่อปี 2527 ซึ่งเป็นตำหนักที่ทูลกระหม่อมตา (สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุช) ทรงออกแบบเอง และเป็นที่ประทับต่อของท่านยาย ม.จ.บุญจิราธร จุฑาธุช หลังทูลกระหม่อมตาสิ้นพระชนม์ปี 2466 ก็เลยคิดว่าน่าจะทำเป็นบ้านอนุรักษ์ให้คนได้เห็นวิถีของเจ้านายศิลปินหนุ่ม เป็นการเปิดเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ให้คนได้ศึกษา จึงฟื้นฟูตำหนักประถมให้คนเข้าชมทุกเดือนธันวา-มกราคม ช่วงคล้ายวันสมภพท่านแม่ แล้วมอบเงินเข้าการกุศลให้กาชาดทั้งหมดทุกปี”
คุณหญิงจึงเมตตาพา “สุริวิภา” ชมทุกซอกทุกมุมของตำหนักเรือนไม้สักทองอายุเกือบร้อยปีที่สร้างตามรูปแบบเดิมถูกต้องตามหลักสถาปัตยกรรมจนได้รับรางวัลบ้านอนุรักษ์ดีเด่นจากสถาปนิกสยาม และทุกมุมของตำหนักก็ล้วนแต่มีเรื่องเล่าขานเป็นตำนาน ด้วยการตกแต่งในภายหลังเป็นไปดั่งจินตนาการของคุณหญิง
เมื่อย่างก้าวขึ้นชั้นสองของตำหนักที่เปิดโล่งจนลมโกรกผ่านอย่างชื่นใจ จะพบห้องโถงกลางที่ประดับด้วยพระฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 4 พระองค์ มีตู้ไม้โบราณแสดงของล้ำค่าตั้งโชว์ นับแต่พระสุพรรณบัฏทองคำหนัก 10 บาทของสมเด็จตา ที่มีตราแผ่นดินและเครื่องกุกุธภัณฑ์ เครื่องแก้วของใช้ที่มีตราพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ทุกห้องถัดไปสามารถเปิดโล่งถึงกันได้ทั้งหมด มีห้องบรรทมตกแต่งด้วยเครื่องเรือนโบราณ และเตียงไม้โบราณตัวเดิมที่ย้ายมาด้วย มีโคมไฟประดับแบบเดิม ห้องทรงพระอักษรที่มีโน้ตดนตรีของเจ้าฟ้าจุฑาธุช และทุกห้องล้วนประดับด้วยภาพถ่ายที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย โดยเฉพาะภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระโอรสหลายพระองค์ และอีกภาพชุดหนึ่งที่โดดเด่นพิเศษ คือ ภาพพิธีโสกันต์สุดท้าย ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ก่อนจะมีการเปลี่ยนระบอบการปกครองทำให้ไม่มีพิธีนี้อีกแล้ว ห้องใต้หลังคาแบบเรือนฝรั่งก็ได้ใช้ประโยชน์ ต่อมาได้พาชมตำหนักใหม่ ที่มีความงดงามของ “โถงทอง” ห้องโถงกลางของตำหนักที่ได้รับการปรับปรุงหลังถูกไฟไหม้เมื่อ 5-6 ปีก่อน บนตำหนักมีพระฉายาลักษณ์ของทูลกระหม่อมทวดลงยาสวยงาม มีภาพวาดคุณหญิงในวัย 17-18 โดยฝีมือ จักรพงษ์ โปษยกฤษณ์ ในรุ่นแรกๆที่ยังเป็นนักเรียนเพาะช่าง มีชั้นไม้วางโชว์ผลงานฝีพระหัตถ์เพนท์กระเบื้องของพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา และมีจานกระเบื้องฝีพระหัตถ์ประดับเช่นกัน ตำหนักนี้ยังคงมีเป็นที่ต้อนรับแขกสำคัญและงานสำคัญของตระกูลอยู่จนถึงทุกวันนี้ และทั้งสองหลังล้วนได้รับการบูรณะจากช่างของกรมศิลปากรเพื่อคงคุณค่าในแบบเดิมไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ม.ร.ว. สุนิดา กิติยากร ยังได้พาไปชมศูนย์ฮาร์พตำหนักประถม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณหญิงทำเพื่อสืบทอดมรดกของวงศ์ตระกูล แม้ว่าคุณหญิงไม่สามารถบรรเลงฮาร์พได้ แต่เมื่อได้รับฮาร์พเครื่องแรกของไทยที่มีอายุกว่า 90 ปี จากสมเด็จตา ซึ่งพระองค์ท่านเป็นเจ้าฟ้าศิลปินนักฮาร์พพระองค์แรกของไทย ก็ทำให้ทอดทิ้งไม่ลงต้องนำมาฟื้นฟูใหม่ จนกระทั่งทำเป็นโรงเรียน และโรงเรียนแห่งนี้ก็สามารถผลิตลูกศิษย์ที่ไปเล่นโชว์ที่ต่างประเทศจนได้รับคัดเลือกในระดับสากลมาแล้ว
ติดตามชมใน “สุริวิภา” วันพุธที่ 2 สิงหาคมนี้ เวลาดีสี่ทุ่มทางโมเดิร์นไนน์ทีวี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
วิรดา อนุเทียนชัย (วิ) 0 — 1804 - 5493
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net