ตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุกองทุน ETF ตราสารทุนช่วยเพิ่มสภาพคล่อง พร้อมเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในตลาดทุน

ข่าวทั่วไป Thursday August 31, 2006 17:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--ตลาดหลักทรัพย์
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ศึกษาโอกาสและข้อจำกัดของการออกกองทุน ETF สำหรับตราสารทุน (Equity Exchange Traded Fund — Equity ETF) เผยจะเป็นตราสารใหม่ที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องของตลาด และตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนในและต่างประเทศมากขึ้น และยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนไทย เตรียมเชิญผู้จัดการกองทุนระดับโลกและหน่วยงานกำกับดูแลร่วมประชุมเดือนก.ย. นี้
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รายงาน SET Note ฉบับที่ 7/2549 ซึ่งศึกษาเรื่อง “การออกกองทุน Equity ETF ในไทย : โอกาสและข้อจำกัด” พบว่า กองทุน Equity ETF จะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนที่ต้องการความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้นโดยตรง นอกจากนี้ Equity ETF ยังจะเป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้กับตลาดทุนไทย และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่อุตสาหกรรมหลักทรัพย์โดยรวมด้วย
“กองทุน Equity ETF พูดง่าย ๆ ก็คือ กองทุนเปิดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซื้อขายสะดวกเหมือนหุ้น แต่กระจายความเสี่ยงเหมือนกองทุนอินเด็กซ์ (index fund) ที่เสียค่าบริหารจัดการต่ำกว่ากองทุนอื่น ๆ” ดร. เศรษฐพุฒิกล่าว
กองทุน Equity ETF เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ที่รวมเอาคุณสมบัติเด่นของหุ้นและกองทุนเปิดไว้ด้วยกัน โดยมีคุณสมบัติเหมือนหุ้น ในแง่ที่ต้องซื้อขายผ่านโบรกเกอร์เท่านั้น สามารถซื้อขายและรู้ราคาซื้อขายได้ตลอดเวลา (real time) ไม่มีกำหนดอายุโครงการ ด้านคุณสมบัติที่คล้ายกองทุนเปิด คือ สามารถเพิ่มหรือลดหน่วยลงทุน Equity ETF ได้ real time มีนโยบายการลงทุนคล้ายกับ Index Fund แต่ราคาซื้อขายของหน่วยลงทุนมักจะเท่ากับมูลค่าต่อหน่วย ไม่มีส่วนลดทางราคาเหมือนกับกองทุนจดทะเบียนอื่น เพราะมีคุณสมบัติพิเศษที่ส่งเสริมการดูแลสภาพคล่อง (market making) และทำกำไรจากส่วนต่างของราคา (arbitrage)
ด้วยเหตุนี้เอง กองทุน Equity ETF จึงเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนหน้าใหม่ที่ต้องการลงทุนในหุ้นแต่ไม่กล้ารับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นโดยตรง เป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้กับตลาดทุนไทยให้ครบวงจรยิ่งขึ้นโดยให้มีผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงดัชนีทั้งในตลาดอนุพันธ์และตลาดตราสารทุน ซึ่งสอดคล้องและส่งเสริม SET50 Index Futures ส่งผลทำให้เพิ่มสภาพคล่องให้กับกลุ่มหุ้นและตราสารอนุพันธ์ อีกทั้งยังสร้างโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนและบริษัทหลักทรัพย์ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
“สำหรับผู้ลงทุนรายย่อย กองทุน Equity ETF เมื่อเทียบกับหุ้นแล้ว จะกระจายความเสี่ยงได้มากกว่า เพราะกองทุนจะลงทุนในกลุ่มหุ้น ตามดัชนีที่ใช้อ้างอิง ทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากนักเมื่อราคาหุ้นตัวใดตัวหนึ่งปรับลดลง และมีมืออาชีพด้านการลงทุนคอยดูแลและคอยตัดสินใจให้ และถ้าเทียบกับกองทุนรวมประเภทอื่น ๆ กองทุน Equity ETF จะมีสภาพคล่องที่สูงกว่าเพราะผู้ลงทุนสามารถซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทุกวันและรู้ราคาได้แบบ real time และมี ผู้ดูแลสภาพคล่อง (market maker) อย่างน้อยหนึ่งรายรับผิดชอบดูแลสภาพคล่องของหน่วยลงทุน นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่กองทุน Equity ETF เรียกเก็บต่ำกว่ากองทุนอื่น ๆ เนื่องจากมีกลยุทธ์การลงทุนแบบ passive” ดร. เศรษฐพุฒิกล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเตรียมการอีกมากเพื่อให้กองทุน Equity ETF ประสบความสำเร็จในไทย หรือเพื่อให้กองทุน Equity ETF มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าการซื้อขายที่สูง เนื่องจากวัฒนธรรมการลงทุนในไทยไม่นิยมลงทุนในกองทุนรวม เมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นโดยตรง (stock picking) และตลาดทุนไทยไม่จูงใจให้เกิด market maker และยังมี ช่องทางในการซื้อขายที่ค่อนข้างจำกัด เช่นไม่มีบริการให้คำปรึกษาทางการเงินที่คิดค่าธรรมเนียมจากผู้ลงทุนโดยตรง (fee-based advisory) ต้องซื้อขายผ่านบล.เท่านั้น
ดร. เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า “กลุ่มผู้ลงทุนในกองทุนรวมส่วนใหญ่มักเลือกลงทุนในกองทุนแบบ active management แทนที่จะลงทุนใน index fund โดยปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ index fund เป็นเพียงร้อยละ 2 หรือประมาณ 7,000 ล้านบาท ของมูลค่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารทุนทั้งหมด”
จากการศึกษาพบว่า การที่จะทำให้กองทุน Equity ETF ประสบความสำเร็จกับทุกฝ่าย จำเป็นจะต้องมีอุปสงค์ที่เพียงพอ อ้างอิงดัชนีที่มีสภาพคล่องสูงที่เอื้อให้ทำ market making และมีกลไกมารองรับการทำ arbitrage ดังนั้น ถ้าอยากเห็นกองทุน Equity ETF สำเร็จดังที่กล่าว จำเป็นจะต้องอาศัยแรงผลักดันจากทุกฝ่าย เช่น การสำรวจตลาดเพื่อการออกกองทุน Equity ETF ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้ลงทุนเป้าหมายมากที่สุด การทำการตลาดและการให้ความรู้ กลยุทธ์การสร้างอุปสงค์และสร้างวัฒนธรรมการลงทุนในกองทุน และการพัฒนากลไกการลงทุนและปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สถาบันตัวกลาง เป็นต้น
“หลังจากที่ได้ศึกษาถึงโอกาสและข้อจำกัดของ Equity ETF ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานที่คณะทำงานส่งเสริมธุรกิจกองทุนรวมอีทีเอฟตราสารทุนแล้ว กิจกรรมต่อไปคือ การสร้างความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการก.ล.ต. เตรียมจัดประชุม ETF Forum หัวข้อ “การออกกองทุน Equity ETF กองแรกในไทย: โอกาสและข้อจำกัด” ในวันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2549 ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น โดยได้เชิญผู้จัดการกองทุนชั้นนำของโลกที่มีประสบการณ์การจัดตั้งและบริหารกองทุน ETF เช่น Barclays Global Investors (BGI) State Street Global Advisors (SSgA) Market maker ของกองทุน ETF ชั้นนำ เช่น Citigroup มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และเสนอแนวคิดการพัฒนาตลาดกองทุน Equity ETF หลังจากนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำการสำรวจตลาด เพื่อพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่อไป” ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานวิจัยฯ กล่าว
ปัจจุบัน กองทุน ETF เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในวงการตลาดทุนทั่วโลก มูลค่าทรัพย์สินของ ETF ทั่วโลกรวมกัน มีอัตราการเติบโตแบบสะสม(Compound Annual Growth Rate) ประมาณร้อยละ 70 หรือเกือบเท่าตัวทุก ๆ ปีตั้งแต่ปี 2536 โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันกว่า 18 ล้านล้านบาท ณ เดือนพ.ค. 2549 ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นตลาดเกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งตลาดใหม่อย่างจีน ได้มีการจัดตั้งและซื้อขายกองทุน ETF แล้ว
ผู้สนใจรายงานผลการศึกษาเรื่อง “การออกกองทุน ETF ในไทย : โอกาสและข้อจำกัด” รวมถึงพัฒนาการในด้านต่างๆ ของตลาดทุนไทยและต่างประเทศ สามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ www.set.or.th/setresearch/setresearch.html
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร.0-2229 — 2036/ กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037 /
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049/วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ