ฟิทช์ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศแก่หนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘A-(tha)’

ข่าวทั่วไป Monday September 18, 2006 09:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวแก่หนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ที่ระดับ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่มั่นคงของบริษัทในประเทศไทยในธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกอง (Dry Bulk Shipping) กลยุทธ์การจัดการกองเรือที่มีความหลากหลาย และความได้เปรียบทางด้านต้นทุนอันเนื่องมาจากการขยายกองเรือในช่วงปี 2546 ถึง 2548 ด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ ด้วยกองเรือปัจจุบันที่บริษัทเป็นเจ้าของจำนวน 45 ลำ ฐานธุรกิจการให้บริการที่กว้างขวาง ความถี่ของตารางการเดินเรือ และการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ TTA เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกองที่ใหญ่ในเส้นทางการเดินเรือสายที่มีการเติบโตสูงจากประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีน ไปยังประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง ฟิทช์กล่าวว่า ความเสี่ยงจากความผันผวนของความต้องการขนส่งสินค้าแห้งเทกองและอัตราค่าระวางเรือ (Freight Rates) ที่ส่งผลกระทบต่อ TTA นั้น น่าจะถูกลดทอนลงบางส่วนจากการให้บริการทั้งทางด้านการเดินเรือแบบประจำเส้นทางและแบบไม่ประจำเส้นทาง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานที่ไม่ได้มาจากธุรกิจเดินเรือ จากการที่บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด หรือ MML ซึ่งประกอบธุรกิจบริการงานนอกชายฝั่ง (Offshore Marine Services) เป็น 74% ในไตรมาสที่ 4 ของปีงบการเงิน 2549 (ช่วงสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2549) จาก 50% ในไตรมาสเดียวกันของปีงบการเงิน 2548 นอกจากนี้ บริษัทยังได้ทำสัญญาล่วงหน้าเช่าเหมาลำแบบเป็นระยะเวลา (Time Charters) ไว้แล้วจำนวน 42% และ 25% ของระวางบรรทุกสินค้าทั้งหมด ในปีงบการเงิน 2549 (สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2549) และปีงบการเงิน 2550 ตามลำดับ ฟิทช์กล่าวว่า สัญญาล่วงหน้าดังกล่าวน่าจะช่วยสร้างผลกำไรที่ค่อนข้างแน่นอน และกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งบางส่วนให้กับบริษัทได้ในอีกสองปีข้างหน้านี้
อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการที่บริษัทวางแผนจะออกหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่จำนวนไม่เกิน 8 พันล้านบาท ภายในปี 2549 เพื่อนำมาชำระคืนเงินกู้ที่มีหลักประกันเพื่อใช้ในการซื้อเรือเดินทะเลทั้งจำนวน ซึ่งหากแผนดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทได้ เนื่องจากระดับเงินกู้ที่มีหลักประกันที่สูงของ TTA นั้น จะลดทอนแนวโน้มอัตราการรับชำระหนี้คืน (Recovery Prospect) ของหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ในขณะเดียวกัน บริษัทต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงในด้านความผันผวนของวัฏจักรธุรกิจเดินเรือ และอัตราค่าระวางเรือ ซึ่งถูกลดทอนลงบางส่วนจากสัดส่วนหนี้สินที่ค่อนข้างต่ำโดยเปรียบเทียบ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงอายุเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของกองเรือที่ค่อนข้างสูง ซึ่งโดยทั่วไปจะส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่ำกว่ากองเรือที่มีอายุน้อย และยังมีความเสี่ยงในการดำเนินงานและการจัดซื้อเรือใหม่เพื่อทดแทนเรือเก่า (Reinvestment Risk) ที่สูงขึ้น เนื่องจากปริมาณเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองในตลาดมีจำนวนน้อย ประกอบกับระยะเวลาในการต่อเรือใหม่ที่ค่อนข้างยาว บริษัทอาจประสบปัญหาในการหาซื้อเรือลำใหม่ หรือซื้อเรือลำใหม่ในราคาที่สูงขึ้นมาก ถึงแม้บริษัทจะสามารถเช่าเรือเดินทะเลโดยทำสัญญาระยะสั้นถึงกลางเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้เรือเป็นการชั่วคราวได้ แต่อัตราค่าเช่าเรือ (Charter Rates) ที่มีความผันผวนสูงอาจส่งผลกระทบในทางลบแก่อัตราส่วนกำไรของบริษัทได้ อย่างไรก็ดี บริษัทสามารถจัดการความเสี่ยงในการดำเนินงานนี้ได้อย่างดีในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
การขยายกองเรืออย่างรวดเร็วส่งผลให้หนี้สินรวมของ TTA เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีงบการเงิน 2545 และมีจำนวน 9.7 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งในจำนวนนี้ ประมาณ 17% เป็นหนี้สินระยะสั้น จากการที่ค่าระวางเรืออ่อนตัวลงในช่วงที่ผ่านมา และการรวมหนี้สินของ MML จำนวน 2.7 พันล้านบาทในงบการเงินรวมของบริษัท ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ย้อนหลัง 12 เดือน (Adjusted Net Debt/ LTM EBITDAR) ของ TTA ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.8 เท่า ในงวดเก้าเดือนแรกของปีงบการเงิน 2549 จาก 1.0 เท่า และ 1.2 เท่า ในปีงบการเงิน 2547 และ 2548 ตามลำดับ ด้วยสมมติฐานแผนการลงทุนประมาณ 5.6 พันล้านบาท ในระหว่างปีงบการเงิน 2549 ถึง 2551 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (Adjusted Net Debt/ EBITDAR) ของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับที่ต่ำกว่า 2.0 เท่า ในปีงบการเงิน 2549 และทยอยปรับลดลงหลังจากนั้น เมื่อบริษัททยอยชำระคืนเงินกู้ ถึงแม้ว่าปัจจุบัน TTA จะมีหนี้สินที่มีหลักประกันอยู่ในระดับที่สูงมาก คิดเป็น 99% ของหนี้สินรวม และ 41% ของสินทรัพย์รวม โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีหลักประกันต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ย้อนหลัง 12 เดือน (Secured Debt/ LTM EBITDAR) ที่ 1.6 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 แต่แผนการกู้เพื่อนำเงินมาชำระคืนเงินกู้เดิมน่าจะทำให้ระดับหนี้สินที่มีหลักประกันปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 23% ของหนี้สินรวม หรือ 0.4 เท่า ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ในปีงบการเงิน 2549 ในด้านสภาพคล่อง บริษัทมีเงินสดจำนวน 1.7 พันล้านบาท และวงเงินสินเชื่อระยะสั้นจากธนาคารที่ยังไม่ได้ใช้อีกประมาณ 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2549 ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อความต้องการด้านสภาพคล่องของบริษัท
ติดต่อ
โสมสิริ ชฎาวัฒน์ +662 655 4753, เลิศชัย กอเจริญรัตรกุล +662 655 4760, Vincent Milton +662 655 4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ