ประกันสังคมจัดระบบสวัสดิการ ลบภาพให้การรักษาแบบพลเมืองชั้น 2

ข่าวทั่วไป Wednesday October 4, 2006 11:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--สปส.
1 ใน 7 สิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมที่ผู้ประกันตนไปใช้บริการมากครองแชมป์ เป็นอันดับหนึ่งมาตลอดคือ ‘กรณีเจ็บป่วย’ และบ่อยครั้งเช่นกันที่ผู้ประกันตนมักร้องเรียนถึงการให้และรับบริการที่ไม่ประทับใจ ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น การรักษา การจ่ายยา หรือเวลารอพบหมอ ฯลฯ จะร้องเรียนตรงหรือร้องผ่านเว็บไซต์ สปส.และบ้างก็ร้องผ่านสื่อ
พบว่า ... ปัญหาข้อร้องเรียนนั้น เกิดจากผู้ประกันตนเองที่ไม่ทราบถึงสิทธิและขั้นตอนการขอรับบริการ และจากโรงพยาบาลบางแห่งที่ไม่ตระหนักถึงการเป็นผู้ให้บริการที่ดี ไม่สร้างความเข้าใจ ก่อตัวกลายเป็นภาพลบและขยายวงกว้างออกไปซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่เนือง ๆ ว่า ผู้ประกันตนเป็นคนไข้ชั้น 2 ของโรงพยาบาล!
โดยข้อเท็จจริงแล้ว ‘การให้บริการทางการแพทย์’ ของสำนักงานประกันสังคม กำหนดขอบเขตและครอบคลุมการให้บริการและดูแลผู้ประกันตนไว้ชัดเจน
สปส.กำหนดให้สถานพยาบาลต้องดูแลให้บริการทางการแพทย์แก่ลูกจ้างผู้ประกันตนได้รับสิทธิ คือ การตรวจวินิจฉัยและบำบัดทางการแพทย์จนสิ้นสุดการรักษา ได้รับบริการการกินอยู่และการรักษาพยาบาลสำหรับคนไข้ใน การได้รับยาและเวชภัณฑ์ที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานบัญชียาหลักแห่งชาติ การจัดส่งต่อเพื่อการรักษาระหว่างสถานพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยมีการให้สุขศึกษาและภูมิคุ้มกันโรคตามโครงการแห่งชาติ
ซึ่ง สปส.จ่ายค่าบริการทางการแพทย์แบบเหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลประกันสังคม ตามจำนวนผู้ประกันตนที่เป็นสมาชิกของสถานพยาบาล ไม่ว่าผู้ประกันตนจะมีการเจ็บป่วยและเข้ารับการรักษาหรือไม่ ก็ตาม และสถานพยาบาลต้องให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนจนสิ้นสุดการรักษา ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และจำนวนเงินที่ใช้ในการรักษา
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.’49 สถิติการเข้าไปใช้บริการของผู้ประกันตน สูงถึง 11,664,496 ครั้ง จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยไปแล้วถึง 8,433 ล้านบาท ด้วยปริมาณคนที่มาขอรับบริการขนาดนี้ ทำให้บางช่วงเวลาที่มาใช้สิทธิทางโรงพยาบาลตามบัตรฯ ไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง ทั้งยังมีโรงพยาบาลบางแห่งพยามยามลด/เลี่ยงการให้บริการทางการแพทย์ จนทำให้เกิดข้อร้องเรียนจากผู้ประกันตนและมีเข้ามาตลอด ทั้งเรื่องมาตรฐานการรักษา การจ่ายยา การวินิจฉัยโรคของแพทย์ รวมถึงระยะเวลารอพบแพทย์
ตัวเลขที่นำมาแสดงแค่ชี้ให้เห็นถึงอัตราการใช้บริการ สปส.ไม่คิดแก้ตัวและพร้อมแก้ไขจุดบกพร่อง จุดด้อย และรอยโหว่ให้ดีขึ้น ได้วางแนวทางและมาตรการในการรักษาคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลในโครงการประกันสังคมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน นั่นคือ... กำหนดมาตรฐานการตรวจสอบโรงพยาบาลทุก ๆ 6 เดือน โดยคณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.เป็นผู้ตรวจสอบความพร้อมของโรงพยาบาลในการให้บริการ และจัดให้มีตู้แสดงความคิดเห็นให้กับผู้ประกันตนที่มีต่อการใช้บริการว่ามีความพอใจหรือไม่อย่างไร ที่โรงพยาบาลทุกแห่งในโครงการฯ ทุกข้อมูลจะถูกรวบรวมนำไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไป
นอกจากนี้ มาตรฐานและการให้บริการของโรงพยาบาลในโครงการประกันสังคมทุกแห่ง จะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกับการให้บริการผู้ป่วยทั่วไป คือ เวลาที่ต้องใช้ในการลงทะเบียนและทำบัตรผู้ป่วยไม่เกิน 30 นาที รอตรวจโรคไม่เกิน 1 ชั่วโมง รอรับยาและชำระเงิน ไม่เกิน 30 นาที เวลาเฉลี่ยที่ผู้ป่วยพบแพทย์ในการตรวจไม่ต่ำกว่าคนละ 5 นาที ดังนั้น ในกรณีการตรวจทั่วไป เวลาที่ใช้ในการรับบริการทั้งหมดไม่เกิน 3 ชั่วโมง
ทำไม ... ต้องแยกผู้ป่วยประกันสังคมออกจากผู้ป่วยทั่วไป
เหตุที่โรงพยาบาลแยกผู้ป่วยประกันสังคมออกจากผู้ป่วยทั่วไป ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตนในการใช้สิทธิ โดยที่ สปส.ได้กำหนดมาตรฐานการให้บริการเช่นเดียวกับผู้ป่วยทั่วไป โดยเฉพาะการสั่งจ่ายยาให้กับผู้ประกันตนจะต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานบัญชียาหลักแห่งชาติ และไม่เรียกเก็บเงินเพิ่ม ตลอดจนมีมาตรการควบคุมคุณภาพของโรงพยาบาล โดยสุ่มตรวจเป็นระยะ ๆ หากโรงพยาบาลใดไม่ปฏิบัติตามตามข้อตกลงจะมีบทลงโทษ คือ ว่ากล่าวตักเตือน ลดจำนวนโควตาผู้ประกันตนลงในปีต่อไป ส่งเรื่องให้แพทยสภา และยกเลิกสัญญาจ้าง
ส่วนการเลือกโรงพยาบาลนั้น สปส.ให้ผู้ประกันตนเลือกโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาได้ด้วยตัวเอง และเพื่อให้เกิดความพึงพอใจและสะดวกยิ่งขึ้น ได้จัดให้มีการเปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นประจำทุกปี อยู่ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ซึ่ง สปส.จัดส่งรายละเอียดให้กับนายจ้าง/สถานประกอบการทุกแห่ง
หากมีเหตุการณ์ทำให้ไม่ได้รับการบริการที่ดี หรือต่ำกว่ามาตรฐาน ให้แจ้งรายละเอียดต่างๆ ที่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ เช่น ชื่อ -นามสกุล เลขที่บัตรประชาชน วัน/เวลาที่รับการรักษา แพทย์ผู้รักษา มาที่ สปส.หรือเว็บไซต์ www.sso.go.th หรือสายด่วน 1506 เพื่อที่จะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามขั้นตอนกับโรงพยาบาลต่อไป
ในขณะนี้ สปส.เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อลบความรู้สึก ‘การเป็นคนไข้ชั้น 2 ของผู้ประกันตนให้ได้’ โดยเพิ่มคุณค่าบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลให้มีศักดิ์ศรีในการรับบริการทางการแพทย์ โดยการจัดตั้งศูนย์พึ่งได้ รับเรื่องและให้คำปรึกษาบริการทางการแพทย์ ให้รางวัลแก่โรงพยาบาลเพื่อกระตุ้นให้มีการส่งเสริมการบริการที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อให้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น ลดขั้นตอนต่าง ๆ ที่ยุ่งยากลง ผู้ประกันตนจะได้รับบริการแบบ one stop service
รวมถึงปรับปรุงและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคม เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย ขยายสิทธิประโยชน์กรณีการรักษาโรคจิต เพิ่มสิทธิการบำบัดรักษาจากการเสพยาเสพติด ปรับเพิ่มอัตราค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณี ชราภาพ รวมถึงกรณีทันตกรรมด้วย
สปส.ไม่เคยปัดภาระออกจากตัว ไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นเพียงข้อร้องเรียนหรือข้อบกพร่อง มุ่งสร้างมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้สมาชิก ให้ได้รับบริการและสวัสดิการที่ดีอย่างเต็มกำลัง
นับแต่นี้ไป ... มาตรฐานการรักษาพยาบาลให้กับสมาชิกประกันสังคมทุกคนจะเป็นแบบมืออาชีพ เพื่อลบภาพการให้การรักษาแบบแยกชั้นวรรณะ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 / www.sso.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ