ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัทฟินันซ่า จำกัด (มหาชน)

ข่าวทั่วไป Tuesday February 7, 2006 10:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของบริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) (“FNS”) ที่ระดับ ‘BBB(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F3(tha)’ ฟิทช์ยังได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ แก่ตั๋วแลกเงิน มูลค่า 420 ล้านบาท อายุ 270 วัน ซึ่งออกโดย FNS และได้รับการค้ำประกันเงินต้นในสัดส่วน 50% โดย The Netherlands Development Finance Company (“FMO”)
อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงโครงสร้างของ FNS ที่เป็นบริษัทโฮลดิ้ง การกระจายความเสี่ยงของรายได้ และเงินกองทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่ได้ประกอบไปด้วยสถาบันการเงินที่แข็งแกร่ง ความเสี่ยงทางด้านเครดิตและความเสี่ยงทางด้านตลาด (market risk) ที่อาจเกิดขึ้นได้ และการพึ่งพารายได้ค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์ และรายได้จากการลงทุนและการค้าหลักทรัพย์เพื่อบริษัทเอง (proprietary trading) ที่ค่อนข้างผันผวน แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ชี้ให้เห็นถึงการที่บริษัทน่าจะรักษาระดับความสามารถในการทำกำไร สถานะเงินกองทุนและสภาพคล่องไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์กล่าวว่าความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นจากการที่อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้หรือความผันผวนของตลาดซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของ FNS
ในเดือนเมษายน 2548 ธนาคารแห่งประเทศไทย (“BOT”) ไม่อนุมัติแผนการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคารของฟินันซ่า เครดิต (“FC”) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจเงินทุนของ FNS ด้วยเหตุผลที่ว่า FC มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามเกณฑ์ผู้มีสิทธิที่จะขอยกฐานะเป็นธนาคาร ในขณะที่การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อนุมัติแผนการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคารของ FC ได้เพิ่มความกังวลของฟิทช์ต่อ FNS ฟิทช์มีความเห็นว่าการไม่อนุมัติแผนดังกล่าวยังไม่ปรากฎว่าส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการระดมเงินทุน สภาพคล่อง และการดำเนินงานของบริษัท
FNS รายงานกำไรสุทธิที่ระดับ 477.6 ล้านบาท ในปี 2547 ลดลงจากระดับ 578.6 ล้านบาท ในปี 2546 การลดลงของกำไรสุทธิดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการลงทุนที่ลดลงและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและธุรการที่สูงขึ้น ในปี 2547 รายได้จากการลงทุนและรายได้จากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ คิดเป็นสัดส่วน 24.3% และ 44% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ตามลำดับ ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2548 กำไรสุทธิลดลงเป็น 161.5 ล้านบาท จาก 378.8 ล้านบาท ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2547 เนื่องมาจากรายได้ค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่ลดลงและการลดลงอย่างต่อเนื่องของรายได้จากการลงทุน
ฟิทช์กล่าวว่าความเสี่ยงทางด้านเครดิตของ FNS มีพื้นฐานมาจากธุรกิจเงินทุนและการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ FNS อยู่ที่ระดับ 328.4 ล้านบาทหรือ 12.7% ของสินเชื่อทั้งหมด ลดลงจากระดับ 345.4 ล้านบาทหรือ 15.4% ณ สิ้นปี 2547 อย่างไรก็ตาม ระดับสำรองหนี้สูญของบริษัทอยู่ในระดับต่ำที่ 98.8 ล้านบาท ระดับสำรองหนี้สูญดังกล่าวเทียบเท่ากับ 30.1% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สะท้อนถึงความเสี่ยงที่บริษัทอาจต้องกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติม ฟิทช์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าบริษัทลูกซึ่งดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ของ FNS ก็เผชิญกับความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าซึ่งซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยการใช้บัญชีมาร์จิ้นและความเสี่ยงจากการรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ความเสี่ยงทางด้านตลาดของ FNS อยู่ในระดับสูงเช่นกัน เนื่องมาจากการที่บริษัทต้องพึ่งพาการลงทุนและการค้าหลักทรัพย์เพื่อบริษัทเอง ค่อนข้างมาก
อัตราส่วนสินทรัพย์หมุนเวียนต่อหนี้สินหมุนเวียนของ FNS ที่ 1.2 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 ได้ชี้ให้เห็นว่าบริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับภาระหนี้สินระยะสั้น บริษัทยังมีวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินประมาณ 2 พันล้านบาท FMO ยังได้ให้วงเงินในการค้ำประกันหนี้บางส่วนแก่ FNS ในกรณีที่บริษัทต้องการที่จะระดมเงินทุนผ่านการออกตราสารหนี้
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 อัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ของ FNS อยู่ที่ 32% ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอสำหรับการประกอบธุรกิจวาณิชธนกิจ อย่างไรก็ตาม การที่ FNS ขาดการสนันสนุนจากผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ หรือในช่วงที่สภาวะตลาดผันผวน บริษัท แนเชอรัล พาร์ค (“NPARK”) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ FNS มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอ และได้ประกาศว่ามีความประสงค์ที่จะขายหุ้นใน FNS
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ