ความจริงที่ต้องเช่าลิขสิทธิ์ ’ไอบีเอ็ม’

ข่าวทั่วไป Wednesday November 1, 2006 13:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--สปส.
ถูกกระพือข่าวเป็นระลอกอยู่หลายวันจนกลายเป็นข่าวใหญ่ กรณีโครงการต่อสัญญาเช่าลิขสิทธิ์ของบริษัทไอบีเอ็ม วงเงิน 50 ล้านบาทของสปส. ซึ่งบอร์ดปฏิเสธเพราะพบพิรุธทั้งตำหนิสปส.ที่ไม่ดำเนินการใดๆ จนหมดสัญญาเช่า ร้อนถึงรมว.แรงงานเคลียร์ข้อกล่าวหาด่วน!
นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยรายละเอียดเรื่องนี้ว่า การขอต่อสัญญาเช่าตามที่เป็นข่าว เป็นการต่อสัญญาเช่าใช้โปรแกรมระบบปฏิบัติการ OS/390 ไม่ใช่ต่อสัญญาเช่าคอมพิวเตอร์ ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวเป็นโปรแกรมที่ต้องทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมที่ระบบสารสนเทศของสปส.มีอยู่เท่านั้น เรียกทั่วไปว่าระบบปิด เครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงมาก ทำงานได้รวดเร็วหลายร้อยล้านคำสั่งต่อวินาที เหมาะกับการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลจำนวนมาก เช่น งานธนาคาร งานบริการของสายการบิน และงานของสำนักงานประกันสังคม
นอกจากนี้ ยังสามารถพ่วงต่อ และควบคุมอุปกรณ์รอบข้างได้เป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกัน และทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการที่แพร่หลาย เช่น Linux และระบบสารสนเทศตามสถาปัตยกรรมแบบเปิด ซึ่งมีใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ประเภทอื่นด้วย แม้ความนิยมในเครื่องเมนเฟรมจะน้อยลง เพราะราคาโปรแกรมแพง ผู้รู้มีน้อย แต่สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลจำนวนมาก ๆ ยังจำเป็นต้องใช้อยู่
- ระบบคอมพ์ สปส.ถูกออกแบบเฉพาะ
ระบบคอมพิวเตอร์ (ระบบสารสนเทศ) ของ สปส.ที่นำมาช่วยในการปฏิบัติงานและให้บริการผู้ประกันตนตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ถูกออกแบบให้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบเมนเฟรม และ OS/390 เท่านั้น ในปี 2533-2534 สปส.ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของ IBM จนปลายปี 2544 ได้เปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออัมดาห์ล มีสัญญาเช่า 3 ปี หมดสัญญาเช่าเมื่อ 9 ต.ค.’49 ที่ผ่านมาก่อนสิ้นสุดสัญญาได้เสนอขอเช่าต่ออีก 14 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.’49 - 9 ธ.ค.’50 และเรื่องกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงแรงงาน
- คาดอีก 4 ปีระบบเปิดสมบูรณ์
นายไพโรจน์ฯ กล่าวต่อว่า สปส.อยู่ระหว่างการพิจารณาระบบงานออกไปสู่ระบบเปิด หากพัฒนาได้สำเร็จสามารถยกเลิกระบบ OS/390 ได้ โดยคำแนะนำของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีฯ ธนบุรี พิจารณาแล้วเห็นว่า สปส.ยังจำเป็นต้องใช้ระบบเมนเฟรมและ OS/390 ต่อไปอีก จนกว่าการปรับระบบสารสนเทศไปสู่ระบบเปิดจะแล้วเสร็จ ต้องใช้เวลาไม่เกิน 4 ปี (เริ่มจากปี 2547) จึงจะสมบูรณ์ และแม้ว่าจะมีการพัฒนาไปสู่ระบบเปิดได้สำเร็จ สปส.ยังจำเป็นต้องใช้ระบบ OS/390 ต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้ระบบสามารถถ่ายโอนข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง และทำให้ระบบการบริการไม่หยุดชะงัก ด้วยเหตุนี้ สปส.จึงขอเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมและ OS/390 ต่อไป
- เตรียมแผนรองรับ-ก่อนเลิกใช้ OS/390
สปส.มีแผนชัดเจนที่จะพัฒนาออกไปสู่ระบบเปิด ตลอดจนได้ออกแบบและจัดหาระบบคอมพิวเตอร์เตรียมรองรับการทำงานในระบบเปิดเพื่อไม่ต้องใช้งานระบบปฏิบัติการ OS/390 อีกต่อไป และเริ่มพัฒนาระบบสารสนเทศที่ต้องการใหม่ ๆ เช่น ระบบสารสนเทศประกันสังคมกรณีว่างงาน และระบบสนับสนุนงานผู้ป่วยโรคเอดส์ รวมทั้งจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบเปิดเพื่อเลิกใช้ OS/390 เสนอต่อคณะกรรมการกระทรวง ICT ตั้งแต่ปี 2547
แต่ก็มีอุปสรรคที่จะยกเลิกการใช้งาน OS/390 เพราะระบบงานสารสนเทศของ สปส.ที่ใช้ในขณะนี้ทำงานด้วยระบบซอฟท์แวร์ Sapiens ซึ่งทำงานได้เฉพาะบน OS/390 สปส.จำเป็นต้องพัฒนาระบบสารสนเทศใหม่ให้เป็นระบบเปิด ซึ่งได้จัดทำข้อกำหนดเสร็จมาตั้งแต่ปี 2548 และได้จัดหามาแล้วถึง 2 ครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นงานที่ซับซ้อนและต้องทำควบคู่ไปกับระบบงานที่ไม่สามารถหยุดให้บริการได้ ทั้งผู้เชี่ยวชาญระบบซอฟท์แวร์ Sapiens มีน้อย ความเสี่ยงในการปรับเปลี่ยนสูง และผู้ดำเนินการหาลำบาก แต่ สปส.พร้อมที่จะดำเนินการเรื่องนี้ให้สำเร็จโดยเร็ว และถูกต้องภายใต้ขั้นตอนและระเบียบที่ต้องปฏิบัติในฐานะหน่วยราชการ’ นายไพโรจน์ฯ ระบุ
- มีข้อจำกัด-ใช้วิธีพิเศษ
ด้วยระบบงานสารสนเทศ สปส.ต้องทำงานกับระบบปฏิบัติการ OS/390 บนเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเท่านั้น จึงได้ตรวจสอบแหล่งข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือ 4 แห่งได้แก่ สถาบัน GARTNER เป็นสถาบันกลางด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นที่ยอมรับทั่วโลก บริษัทฟูจิตสึ ซีสเต็ม บิสสิเนท เป็นผู้ให้บริการของเครื่องเมนเฟรม Amdahl ที่สปส.เช่าอยู่ บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) พบว่าตัวเครื่องเมนเฟรมเหลือผู้ผลิตรายเดียวคือ ไอบีเอ็ม และระบบปฏิบัติการ OS/390 ก็เป็นลิขสิทธิ์ของ ไอบีเอ็ม แต่ผู้เดียว
เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมและระบบปฏิบัติการ OS/390 ที่สปส.ต้องใช้ เป็นลิขสิทธิ์ของ ไอบีเอ็ม จึงเป็นข้อจำกัดทางเทคนิคที่ต้องระบุยี่ห้อ และการเช่า (จัดซื้อจัดจ้าง) ใช้วิธีพิเศษแทนการประกวดราคา เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ กำหนดว่า การจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ต้องดำเนินการโดยวิธีประกวดราคา ยกเว้นมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่จำเป็นต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะ จึงสามารถใช้วิธีพิเศษได้ และการประกวดราคาจะต้องมีผู้ผลิตไม่น้อยกว่า 3 ราย‘ขอยืนยันและให้ความมั่นใจกับสมาชิกกองทุนและประชาชนว่า การใช้จ่ายเงินกองทุนประกันสังคมเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกันตนโดยแท้จริง การกล่าวอ้างโดยปราศจากข้อเท็จจริง ๆ และไม่ได้ตรวจสอบก่อนนั้นทำให้สังคมสับสน ซ้ำร้ายส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม’ นายไพโรจน์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 www.sso.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ