ดอนบอสโกฉลอง 60 ปี เปิดสอนวิชาชีพผู้พิการทางการได้ยินแห่งแรกในเอเชีย

ข่าวเทคโนโลยี Friday August 11, 2006 11:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--โรงเรียนดอนบอสโก กรุงเทพฯ
ดอนบอสโกฉลอง 60 ปีเปิดสอนวิชาชีพเทคโนโลยีการพิมพ์ให้กับผู้พิการทางการได้ยินฟรีเป็นแห่งแรกในเอเชียด้วยงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรในประเทศเยอรมนีกว่า 29 ล้านบาท เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ในการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้และสร้างอนาคตให้กับเยาวชนด้อยโอกาส พร้อมแนะแนวทางการจัดการป้องกันเหตุทะเลาะวิวาทในหมู่นักศึกษาอาชีวะซึ่งเป็นอีกปัญหาสำคัญในสังคมไทยปัจจุบัน
ภารดา สุวรรณ จูฑะสมพากรผู้จัดการโครงการ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โรงเรียนดอนบอสโก กรุงเทพฯ มีปณิธานตั้งมั่นที่จะให้โอกาสกับเด็กกำพร้าและเด็กยากจนที่ด้อยโอกาสในการเรียนรู้วิชาชีพโดยไม่มีค่าบำรุงการศึกษา เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีอนาคตที่ดีและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติต่อไป ในโอกาสของการฉลองครบรอบ 60 ปีของการดำเนินงาน โรงเรียนดอนบอสโกได้ริเริ่มการเรียนการสอนในโครงการเรียนร่วมหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช) สาขาวิชาการพิมพ์ให้กับคนพิการทางการได้ยินในซึ่งนับเป็นอีกย่างก้าวที่สำคัญที่จะแสดงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของคณะนักบวชซาเลเซียนในการก่อตั้งโรงเรียนเพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพสำหรับเยาวชนอย่างแท้จริง
เมื่อพ.ศ. 2529 โรงเรียนดอนบอสโกได้เปิดทำการเรียนการสอนหลักสูตรภาคค่ำ สาขาวิชาชีพทางการพิมพ์ให้กับผู้พิการทางหูที่มีอายุระหว่าง 15-22 ปี และมีผู้ที่เข้ารับการอบรมจากหลักสูตรดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 190 คน ต่อมาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการศึกษาและเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ส่งผลกระทบกับผู้ที่มีวุฒิการศึกษาจำกัดในเรื่องของอัตราค่าตอบแทน ดังนั้นโครงการดังกล่าวจึงจำเป็นที่จะต้องล้มเลิกไป
“เราได้มองเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะขยายโอกาสการเรียนรู้ให้กับเยาวชนผู้พิการได้มีวุฒิการศึกษาเทียบเท่ากับคนทั่วไป ทางโรงเรียนจึงได้ริเริ่มเปิดโครงการเรียนร่วมหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช) สาขาวิชาการพิมพ์ สำหรับคนพิการทางการได้ยิน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นแห่งแรกในทวีปเอเชีย โดยการเปิดรับผู้พิการทางการได้ยินที่จบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 3 ทั้งชายและหญิงชั้นเรียนละ 20 คน เข้าร่วมโครงการดังกล่าวฟรีตลอดระยะเวลา 3 ปีของการเรียน สำหรับโครงการเรียนร่วมหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช) สาขาวิชาการพิมพ์ให้กับคนพิการทางการได้ยินนี้ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนการฝึกอาชีพแผนกการพิมพ์ให้กับผู้พิการทางการได้ยินจากองค์การคริสโตเติล บินเดินมิชชั่น (CBM) ในรูปแบบเครื่องจักร เป็นจำนวนเงินประมาณ 265,000 ยูโร (ประมาณ 13.25 ล้านบาท) และยังจะได้รับการสนับสนุนจากโครงการ BMZ โดยกระทรวงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศเยอรมนี ในระหว่างปีพ.ศ. 2549-2551 ด้วยงบประมาณ 16 ล้านบาท ในรูปแบบของเครื่องจักร” นายวิชัย ศรีสุระ ผู้ประสานงานโครงการกล่าว
ภารดา สุวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานของโรงเรียนที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนทางด้านทุนทรัพย์จากผู้มีจิตศรัทธาทั้งในและนอกประเทศด้วยดี นอกจากนี้แล้วโรงเรียนดอนบอสโกยังได้รับเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐบาลได้แก่ กระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการมนุษย์เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาทต่อปี และกระทรวงศึกษาธิการยังได้ให้ความช่วยเหลือในด้านเงินอุดหนุนสำหรับเงินเดือนครูมาตลอด โดยโรงเรียนดอนบอสโกได้ดำเนินนโยบายโดยยึดแนวทางตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งของโรงเรียนจะเกิดจากการจ้างงานโดยองค์กรต่าง ๆ ที่นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับโรงเรียนแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติงานจริงไม่เพียงแต่ในด้านความชำนาญทางวิชาชีพเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย และการปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ โดยนักศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ได้ทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว การให้นักศึกษาได้ทำงานหนักตลอดเวลา แม้กระทั่งในช่วงปิดภาคการศึกษา กฎระเบียบที่เข้มงวด ความใกล้ชิดระหว่างอาจารย์และนักศึกษา ทำให้โรงเรียนไม่เคยมีปัญหาของความขัดแย้งระหว่างสถาบันในกลุ่มนักศึกษาอาชีวะซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่สังคมต้องให้ความสนใจ
“อาจารย์ส่วนใหญ่ที่นี่ล้วนเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนของเรา โดยบางส่วนได้เริ่มปฏิบัติงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์ในขณะที่ยังเรียนอยู่ จึงทำให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างอาจารย์และนักเรียนอย่างแน่นแฟ้น นอกจากนั้นแล้วยังมีการประสานความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่าง 3 องค์กรหลักของโรงเรียน ได้แก่ คณะผู้บริหารโรงเรียน, สมาคมศิษย์เก่าดอนบอสโก สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนดอนบอสโกในการติดตามพฤติกรรมของนักศึกษาอย่างใกล้ชิดทำให้เราสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับนักศึกษาในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อได้เป็นอย่างดี” ภารดา สุวรรณ กล่าวสรุป
สำหรับโรงเรียนดอนบอสโก กรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2489 โดยคณะนักบวช-
ซาเลเซียนในประเทศไทยเพื่อสนองพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ที่จะให้มีโรงเรียนสอนวิชาชีพเช่นโรงเรียนอาชีวะซาเลเซียนที่ได้ทรงทอดพระเนตรเมื่อคราวเสด็จประพาสประเทศอิตาลีเมื่อปี พ.ศ.2477 ต่อมาในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารฝึกงานช่างกล และตึกอาคารเรียน 5 ชั้น พร้อมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการต่างๆ ของโรงเรียนทุกแผนก และในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเปิดโครงการเรียนร่วมหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาการพิมพ์ สำหรับคนพิการทางการได้ยิน และทรงวางศิลากฤษ์อาคาร 60 ปีอนุสรณ์ดอนบอสโก กรุงเทพฯ ในโอกาสฉลองครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้งโรงเรียน
ปัจจุบัน โรงเรียนดอนบอสโก กรุงเทพฯ มีนักเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 845 คน ใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาเครื่องมือกลและซ่อมบำรุง, สาขาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สาขาวิชาเครื่องกล (ยานยนต์) และสาขาวิชาการพิมพ์ และนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 412 คน ใน 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาข่างเทคนิคอุตสาหกรรม, สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง และสาขาวิชาเทคนิคยานยนต์ (ปี พ.ศ.2550 จะเปิดเพิ่มเติมในสาขาวิชาการพิมพ์) โดยมีอาจารย์และบุคลากรจำนวนทั้งสิ้น 205 คน และมีผู้สำเร็จการศึกษาทั้ง 2 ระดับแล้วกว่า 12,500 คน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ