ก.ล.ต. ส่งผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการตรวจสอบการบันทึกลูกหนี้การค้าของ CIRKIT ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ข่าวทั่วไป Thursday July 20, 2006 09:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--ก.ล.ต.
สืบเนื่องจากการที่งบการเงินประจำปี 2546-2548 ของบริษัทเซอร์คิท อิเลคโทรนิคส์ อินดัสตรีส์ จำกัด มหาชน (“CIRKIT”) ได้รับรู้ขาดทุนจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญของลูกหนี้การค้าต่างประเทศรายหนึ่งทั้งจำนวนประมาณ 3,440 ล้านบาท เนื่องจากลูกหนี้ดังกล่าวได้ค้างชำระเป็นเวลานาน และผู้สอบบัญชีไม่สามารถใช้วิธีการตรวจสอบให้เป็นที่พอใจในความมีตัวตน รวมถึงความถูกต้องและความครบถ้วนของลูกหนี้รายดังกล่าว ซึ่งการตั้งสำรองนี้ คิดเป็นร้อยละ 93 ของขาดทุนสะสม ที่มีผลให้ CIRKIT มีขาดทุนเกินทุน 2,657 ล้านบาท และมีหนี้สินสูงกว่าทรัพย์สิน 835 ล้านบาท
นอกจากนี้ การไม่ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว ยังเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ CIRKIT ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จนนำไปสู่การเข้าฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายด้วยนั้น จากการตรวจสอบทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศ ปรากฏพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่า ลูกหนี้การค้าต่างประเทศรายที่บริษัทอ้างถึงนั้น ไม่มีตัวตน โดยน่าเชื่อว่าผู้บริหารของบริษัท 5 ราย ได้แก่ (1) นายศิวะ งานทวี ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร (2) นางวจนา ภูคาสวรรค์ รองประธานกรรมการ (3) นายสุกิจ งานทวี กรรมการ (4) Mr. Lee Wolff กรรมการผู้จัดการ และ (5) นายสมบูรณ์ กริชชาญชัย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายบัญชีการเงินและนำเข้าส่งออก มีส่วนร่วมรู้เห็นกันใช้กิจการที่ไม่ปรากฏว่ามีตัวตนดังกล่าวในการบันทึกค่าขายและลูกหนี้การค้าในงบการเงิน และใช้กิจการอีกแห่งหนึ่งในต่างประเทศที่พบความเกี่ยวข้องกับผู้บริหารข้างต้น เป็นตัวกลางในการรับชำระเงินจากลูกค้า และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทไม่ได้รับชำระหนี้จากลูกค้า (end customers) อย่างครบถ้วนตามข้อตกลงในทางธุรกิจ ซึ่งการกระทำดังกล่าว ก.ล.ต. พิจารณาเห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังทรัพย์สินของบริษัทเป็นของตนเองหรือบุคคลอื่น หรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้ CIRKIT ได้รับความเสียหาย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 และมาตรา 313 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ นอกจากนี้ ยังปรากฏพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่า ผู้บริหารข้างต้น (ลำดับที่ 1 3 4 และ 5) มีส่วนร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้กระทำเอกสารเท็จ และจัดทำบัญชีไม่ถูกต้อง หรือไม่ตรงต่อความจริง เพื่อลวงบุคคลอื่น อันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 312 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ด้วย ดังนั้น ก.ล.ต.จึงได้กล่าวโทษบุคคลข้างต้น รวมทั้งผู้สนับสนุนอีก 1 รายต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้พิจารณาสอบสวนและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อนึ่ง การกล่าวโทษข้างต้น ทำให้ผู้บริหารของ CIRKIT ทั้ง 5 ราย มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ตามความในข้อ 3 (3) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 5/2548 เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ลงวันที่ 17 มกราคม 2548 ตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ก.ล.ต.จึงไม่อาจแสดงชื่อบุคคลข้างต้นในระบบข้อมูลรายชื่อผู้บริหารบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ และแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพิจารณาดำเนินการกับบริษัทจดทะเบียนที่มีผู้บริหารซึ่งมีลักษณะต้องห้ามต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ฝ่ายงานเลขาธิการ : 0-2695-9503-5 e-mail : info@sec.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ