กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--สหมงคลฟิล์ม
เมื่อฝรั่งยกกองมาถ่ายหนังใหญ่...นักเลงไทยมีหรือจะยอม
ปฏิบัติการฮาแบบไม่บันยะบันยังจึงเกิดขึ้น
ภารกิจชนิด ตาต่อตา ฟันต่อฟัน หัวใจต่อหัวใจ.....การระรานครั้งนี้มีฮาแน่
อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อ “เท่ง เถิดเทิง”ควงคู่ “โหน่ง ชะชะช่า”
เตรียมตัวเกะกะในแบบที่คุณต้อง "ฮาจนขากรรไกรค้าง" กันแบบตัวเป็น ๆบนจอใหญ่
“สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล” จับมือ “เวิร์คพอยท์เอ็นเทอร์เทนเมนท์”
พร้อมใจเขย่าแผ่นฟิล์มในแบบที่ทุกคนต้อง “ตะลึง”
ภาพยนตร์เรื่อง โหน่ง เท่ง นักเลงภูเขาทอง
ผลงานสร้างและจัดจำหน่ายโดย สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล /เวิร์คพอยท์เอ็นเทอร์เทนเมนท์
ผลิตโดย หัวฟิล์มท้ายฟิล์ม
กำหนดฉาย 30 มีนาคม 2549
แนวภาพยนตร์ ตลกย้อนยุค(คอมิดี้ พีเรียด)
อำนวยการสร้าง ปัญญา นิรันดร์กุล ,สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมงานสร้างและกำกับภาพยนตร์ พาณิชย์ สดสี
ดำเนินการสร้าง สุรกริช ศรัทธาธรรม
บทภาพยนตร์ พัลลภ สินธุ์เจริญ(บัวไร)
กำกับภาพ วินัย ปฐุมบูรณ์
ออกแบบงานสร้าง ศรีรุ้ง กิจเดช ( ผงวิเศษ )
กำกับศิลป์ สุดเขตร ล้วนเจริญ
ลำดับภาพ สมิทธิ์ ทิมสวัสดิ์
เทคนิคพิเศษ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์
ฟิล์มแลบส์ เดอะ โพสต์ บางกอก
บันทึกเสียง ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา
เพลงประกอบภาพยนตร์ บอย โกสิยพงษ์
ดนตรีประกอบภาพยนตร์ จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน
ออกแบบเครื่องแต่งกาย รัติกานต์ สุขชาตะ และ ณภัษ สุทราภิรักษ์กุล
ออกแบบทรงผม อนุชิต ว่านเครือ
แต่งหน้า โชคชัย แพงาม
นำแสดงโดย เท่ง เถิดเทิง,โหน่ง ชะชะช่า,นิกัลยา ดุลยา,อิสรีย์ สงฆ์เจริญ,นุ้ย เชิญยิ้ม, กิ๊บ โคกคูน,สีเทา,ดม ชวนชื่น,อภิชาต ชูสกุล,ครรชิต ขวัญประชา,SIMON ASSAF ,ANTHONY DONNELLY,โทน ชวนชื่น ,ชาติ ชวนชื่น ฯลฯ
เรื่องย่อ
บางกอก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ลิเกกำลังเสื่อมความนิยม มหรสพใหม่ที่เรียกกันว่า “ภาพยนตร์”หรือ “หนัง” กำลังเป็นที่จับตามอง แม้ในแง่กลุ่มคนดูจะไม่ได้แย่งกันอย่างเด่นชัด แต่ในแง่ศักดิ์ศรีของความเป็นมหรสพพื้นบ้านที่สืบสานต่อกันมาจนเป็นมรดกของชาติบัดนี้กลับถูกมหรสพต่างชาติรุกราน
เมื่อวิกลิเกต้นไทร ท้ายวัดสระเกษ วิกลิเกที่ยอมรับกันว่ามีคนดูอยู่ในอันดับต้น ๆ ของบางกอก เพราะติดใจในเรื่องราวที่ผูกขึ้นมาไม่ซ้ำใคร และลีลาของบุญเท่ง(เท่ง เทิดเถิง)กับลิ้นจี่(ฝ้าย- อิสรีย์ สงฆ์เจริญ) คู่พระนางสายเลือดแท้ๆของนายแดง (อุดม ชวนชื่น) เจ้าของวิก ทำให้วิกลิเกแห่งนี้ยังคงสร้างความสำราญอยู่ได้ จนมีจดหมายจากทางการขอความร่วมมืออำนวยความสะดวกให้กองถ่ายภาพฉายหนังเรื่อง “นางสาวสุวรรณ”กำลังจะมาใช้สถานที่ซึ่งมีต้นไทรและภูเขาทองมองเห็นเป็นเบื้องหลังโดยจำเป็นต้อง รื้อวิก
บุญเท่งและชาวคณะ(นุ้ย เชิญยิ้ม, กิ๊บ โคกคูน) ไม่ยอมถึงกับประกาศกร้าวให้ “สยามต้องเลือกว่าถ้ามีนางสาวสุวรรณต้องไม่มีลิเกต้นไทร” แน่นอน สยามเลือก “นางสาวสุวรรณ” การต่อต้านขัดขวางทุกรูปแบบจึงได้เริ่มขึ้น โดยมีน้อยโหน่ง(โหน่ง ชะชะช่า)นักเลงคุมถิ่นที่มาติดพันลิ้นจี่น้องสาวบุญเท่งเข้าร่วมด้วย
เรื่องราวคงจบลงโดยง่าย ถ้านางเอกที่แสดงเป็นนางสาวสุวรรณ ไม่ใช่คนเดียวคนนั้นที่บุญเท่งเฝ้าฝันถึง ....เธอชื่อ นวลจันทร์(นิกัลยา ดุลยา)
บุญเท่ง ต้องเลือกระหว่างชาวคณะลิเกกับนวลจันทร์ ส่วนน้อยโหน่งยังไงก็เลือกลิ้นจี่อยู่แล้ว แต่ถ้าการขัดขวางนี้ไม่สำเร็จความรักของเขาก็หมดอนาคตด้วย
เรื่องราวของความรัก บนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นศิลปิน บุญเท่งและน้อยโหน่งจำต้องทำตัวเป็นนักเลง
เตรียมตัวนับถอยหลังประกาศสร้างความฮาแบบไม่เกรงใจ ปูพรมยืนยันฉาย “โหน่งเท่งนักเลงภูเขาทอง” พร้อมกันทุกโรงทั่วประเทศ 30 มีนาคม พ.ศ. 2549
เกร็ดและรายละเอียดงานสร้าง “โหน่งเท่งนักเลงภูเขาทอง”
เมื่อ “เวิร์คพอยท์เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ”ยักษ์ใหญ่ในวงการทีวี แท็คทีมกับ “สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล” ยักษ์ใหญ่ในวงการภาพยนตร์ เตรียมสร้างปรากฏการณ์ใหม่บนแผ่นฟิล์มด้วยการ จับเอา “โหน่งชะชะช่า” และ “เท่ง เถิดเทิง” มาประชันบทบาท สุดครื้นเครง เชือดเฉือนความสนุกสนานด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเป็นครั้งแรกบนโลกภาพยนตร์ กับ“โหน่งเท่งนักเลงภูเขาทอง” สุดยอดภาพยนตร์ เฮฮาสนุกสนานขำขันคอมิดี้ต้อนรับศักราชใหม่ ๒๕๔๙ ในนาม “หัวฟิล์มท้ายฟิล์ม” บริษัทผลิตภาพยนตร์น้องใหม่ล่าสุดของเมืองไทย จากผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ “พาณิชย์ สดสี” ผู้อยู่เบื้องหลังการปลุกปั้นความสำเร็จและความโด่งดังให้ “หม่ำ จ๊กมก” “เท่ง เถิดเทิง” “โหน่ง ชะชะช่า” ไปจนถึงอารมณ์ยียวนกวนขากรรไกรของแต่ละปฏิบัติการของเหล่า “แก๊งค์๓ ช่า” (จากรายการชิงร้อยชิงล้าน) ก่อนจะไปสร้างความเกรียวกราวในรายการยอดนิยมต่างๆของเวิร์คพอยท์เอ็นเทอร์เทนเมนท์มานานกว่าทศวรรษ ผนึกกำลังสร้างสรรค์ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ภายใต้ปฏิบัติการปกป้องเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความรักชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟันที่รับประกันว่าฮากระจายของ “เสือน้อยโหน่ง” ผู้มาพร้อมปืนลูกโม่คู่ใจ และ “บุญเท่ง” พระเอกยี่เกขวัญใจยายยก(เพราะแก่กว่าแม่) ๒ นักเลงชื่อก้องแห่ง “ภูเขาทอง” มาในบรรยากาศย้อนยุคกลับไปยัง “บางกอก” ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๖ กว่า๘๐ ปีที่แล้ว งานนี้สร้างเซอร์ไพรส์อย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนเมื่อโหน่ง และเท่งแปลงโฉมเป็นครั้งแรกให้กลายเป็น ๒ นักเลงแห่งภูเขาทองตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้า โดย “เท่ง เถิดเทิง” ลงทุนให้ช่างผมใช้บัตเตอร์เลี่ยนเบอร์๑ ตัดให้ผมสั้นกุดชนิดติดหนังศรีษะเลยทีเดียวให้สอดคล้องกับทรงผมของผู้คนในบางกอกยุคนั้น ผลที่ได้ก็คือ “ผมทรงมหาดไทย”หรือ “ทรงกะลา” สำหรับพี่เท่งเป็นรางวัลติดตัวไปตลอดการถ่ายทำ แต่ยังต้องกลับมาไถอีกเป็นระยะๆ เหลือเส้นผมเพียง ๑ กระจุกกลางศรีษะให้พอหวีเป๋ได้ ส่วนพื้นที่รอบศรีษะทั้ง ๓ ด้านไม่ต้องพูดถึงรับประกันว่าเขียวอี๋ชนิดได้ใจ ขณะที่ตัว “โหน่งชะชะช่า” ก็ไม่ยอมแพ้ลงทุนบอกเลิกผมทรงไม่มีหัว(หัวโล้น) กลับมายอมเลี้ยงผมให้ยาวเป็นครั้งแรก พร้อมกับพยายามไว้หนวด แต่ที่รู้กันว่าโหน่งชะชะช่าเป็นคนไม่ค่อยมีผมหรือขนเพราะฉะนั้นการเป็น “นักเลงภูเขาทอง”ของโหน่งครั้งนี้สร้างความหนักใจให้เกิดกับโหน่งพอสมควรเส้นผมขึ้นได้เพียง ๒ ซม.ด้วยระยะเวลาเลี้ยงนานถึง ๒-๓ เดือน แต่ก็อุตสาห์ไปหาหนวดแบบต่าง ๆ มานำเสนอผกก. โดยตัวพี่โอ๋พาณิชย์ สดสีผกก.เองนึกไปถึงคาล์ก เกเบิ้ล และลือชัย นฤนาท ซึ่งมีเอกลักษณ์อยู่ที่หนวด แต่พอเห็นหนวดดีไซน์เองของโหน่งมาเสนอ กลับชื่นชอบในไอเดีย จนท้ายที่สุดกลายเป็นหนวดประจำตัวของ “เสือน้อยโหน่ง” ที่รับประกันว่าน่าจะถูกใจใครต่อใครอีกหลายคน ขณะที่เสื้อผ้าที่นักแสดงต้องสวมใส่ ก็จะเป็นการประยุกต์หรืออ้างอิงจากเสื้อผ้าของผู้คนในยุคนั้น
ในส่วนของรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ “โหน่งเท่งนักเลงภูเขาทอง” น่าจะเป็นที่ถูกใจแฟน ๆแก๊งค์สามช่าไม่ยาก ทุกองค์ประกอบล้วนอัดแน่นไปด้วยรสชาติแห่งความสุข สนุกสนานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการได้ ๒ ตัวแสดงระดับแม่เหล็ก อย่างโหน่งเท่ง ที่ต่างฝ่ายต่างระดมปล่อยมุขกันไม่มียั้ง พร้อมเสริมทัพนักแสดงระดับฝีมือทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่มาร่วมสร้างสีสันให้กับภาพยนตร์ โดยเฉพาะกลุ่ม นุ้ย เชิญยิ้ม,พ่อดมชวนชื่นและกิ๊บโคกคูนที่ต่างเคยร่วมงานกันมาก่อนหน้าและรู้ทางกันเป็นอย่างดี ขณะที่องค์ประกอบสำคัญๆทางเทคนิคอย่างงานกำกับภาพซึ่งได้วินัย ปฐมบูรณ์ ผู้กำกับภาพมือดีจากวงการโฆษณา ,ละคร รวมทั้งงานภาพยนตร์อย่าง๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง มารับผิดชอบรวมไปถึงการออกแบบงานสร้างที่ได้ ศรีรุ้ง กิจเดช (ผงวิเศษ) โปรดักชั่นดีไซนเนอร์มือดีซึ่งผ่านการยอมรับในในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบฉากรายการต่าง ๆของเวิร์คพอยท์มาตลอด มาร่วมเนรมิต “บางกอก”ในพุทธศักราช ๒๔๖๖ ให้คืนกลับมาโลดแล่นมีชีวิตอีกครั้งบนจอภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ได้นักเขียนบทอารมณ์ดีอย่าง“บัวไร”ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการดึงเอาเสน่ห์และความสามารถทางการแสดงของเหล่านักร้องลูกทุ่งทั่วฟ้าเมืองไทยมาถ่ายทอดลงภาพยนตร์เป็นครั้งแรก จนคนไทยทั้งประเทศฮาขากรรไกรค้างมาแล้วจาก “มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม” อีกหนึ่งความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยที่สามารถกวาดรายได้อย่างสูงสุดกว่า ๘๐ ล้านบาทมาแล้ว แต่ที่มองข้ามไปไม่ได้เลยคือการได้ผู้กำกับที่ผ่านการร่วมงานกันมาก่อนหน้า “ชนิดมองตาก็รู้ใจ”หรือ “อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่” กับโหน่งเท่งมาแล้วกับละครแก๊งค์สามช่ากว่า๔๐๐-๕๐๐ ตอนอย่าง โอ๋ พาณิชย์ สดสี ซึ่งเข้าใจธรรมชาติของนักแสดงทั้งสองเป็นอย่างดีและรู้วิธีที่จะรับมือหรือดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวโหน่งเท่งมาถ่ายทอดลงบนจอภาพยนตร์ได้อย่างเต็มที่ เพราะอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะที่ปรากฏขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง “โหน่งเท่งนักเลงภูเขาทอง”ผ่านรูปแบบและวิธีการทำงานที่สอดรับกันเป็นอย่างดีระหว่างนักแสดงและผู้กำกับซึ่งมีทั้งตามบท หรือแสดงสดพร้อมเซอร์ไพรส์ที่กิดขึ้นได้ทุกวินาที อาทิ โหน่งเท่งเตี๊ยมมุขกันเองเพื่อหักหลังทีมงานและผู้กำกับ หรือผกก.เตี๊ยมกับนักแสดง ตลอดจนการวางรูปแบบของสารพัดมุขฮาใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นตามสถานการณ์ต่าง ๆ จากสูตรการทำงานเฉพาะของทั้ง๓ คนนี้ที่ไม่เหมือนใคร
นอกจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะทางผู้กำกับได้สอดแทรกแง่มุมทางศิลปะและแนวคิดของวัฒนธรรมผ่านเรื่องราวง่าย ๆที่ไม่ซับซ้อนแต่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสนุกสนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เราจะรับมือกับการไหล่บ่าของวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้าสู่ผืนแผ่นดินได้อย่างไร”ในขณะเดียวกัน “ศิลปะแต่ละแขนงไม่เคยทำร้ายกัน” แต่ขณะเดียวกันก็สอดแทรกเกร็ดบางส่วนทางหน้าประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกของสยามประเทศที่มีชื่อว่า“นส.สุวรรณ” ถึงขนาดที่ว่าในภาพยนตร์ได้มีการนำเอา เดล และ เฮนรี่ ๒ บุคคลที่มีตัวตนจริง ๆในประวัติศาสตร์มาถ่ายทอดลงบนภาพยนตร์
Director’s Note
บางส่วนของความเป็นโหน่งเท่งนักเลงภูเขาทอง
ความจริงหรือแรงบันดาลใจ FACT
เป็นเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่ง เราเรียกว่าเป็นโรงลิเกโรงหนึ่ง ซึ่งในยุคนั้นก็จะมีตรอก ซึ่งมีอยู่จริง ๆนะจะอยู่ในอดีตแถวๆภูเขาทอง จะมีตรอกอยู่ตรอกหนึ่งซึ่งมีชื่อว่าตรอกพระยาเพชร เป็นตรอกที่เป็นชุมชนของคนที่เป็นนาฏศิลป์ไทย ลิเก ละครนอกละครใน หนังเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตรงนั้นซึ่งก็เลยกำหนดให้โรงยี่เกทรงเครื่องวิกของนายแดงตั้งอยู่ตรงนั้น โดยในยุคเดียวกันมันก็มีภาพยนตร์เข้ามาฉายในพระนครซึ่งเป็นที่ฮิตมาก คนจะแห่ไปดูกันมากเลย แต่ไม่มีหนังไทยนะ
รูปแบบ STYLE
โหน่งเท่งนักเลงภูเขาทอง เป็นหนังพีเรียด ที่เป็นคอมิดี้ แต่ว่าเราไม่ได้ทำให้เป็นพีเรียดแท้แบบของชิ้นนี้หลุดจากยุคไม่ได้นะ หนังเรื่องนี้จึงนำเสนอออกมาเป็นพีเรียดที่มีดีไซน์ เราอยากให้เป็นหนังพีเรียดที่มีภาพแปลกแตกต่างจากหนังพีเรียดทั่วๆไป เราก็เลยเซ็ทฉากขึ้นมาใหม่ จะเป็นเซ็ทแบบที่ไม่เคยเห็นในหนังเรื่องอื่น สีสันจะจัดกว่าความจริงในยุคนั้น เพราะเป็นทางภาพของหนังสมัยนั้น อย่างเช่นที่เราไปเซอร์เวย์ รีเสิร์ชมาว่าคนยุคนั้นนิยมใส่เสื้อสีขาวกันมากเลย หรือไม่ก็สีเทา หรือสีแดงน้ำหมาก เพราะฉะนั้น ถ้าเอาคนใส่เสื้อสีขาวไปยืนบนฉากที่เป็นสีขาวมันก็จะไม่สวย ตัวฉากก็จะมีสีที่เข้มกว่าความเป็นจริง เพื่อให้ภาพมันออกมาสวยด้วย มันเป็นพีเรียดที่มีการดีไซน์ออกมาอีกนิดหนึ่ง แต่ว่าก็ไม่ได้ดูออกมาสมัยใหม่มากเกินไป จะดูออกมาเป็นโพสต์โมเดิร์นมากกว่า เรื่องราวเกิดขึ้นในยุค ๒๔๖๖จนถึงยุค ๗๐ ประมาณยุคร.๖
ผู้กำกับภาพยนตร์ / ควบคุมการผลิต ( Director / Producer )
พาณิชย์ สดสี ( โอ๋ )( PHANICH SODSEE )
วัน/เดือน/ปีเกิด 18 ตุลาคม 2507
การศึกษา จบการศึกษาระดับ ปริญญาตรี คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ( สาขาประติมากรรม )
ประวัติการทำงาน
- 2533 Creative บริษัท Grabity Production
- 2534 Creative เวทีทอง และชิงร้อย
- 2534 เปิดตัว หม่ำ จ๊กมก ในรายการชิงร้อย ชิงล้าน
- 2535 Producer ชิงร้อย
- 2537 กำกับละครเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า
- 2541 สร้างแก๊งสามช่า
- 2544 Creative Group Head บริษัท เวิร์คพอยท์เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด ( มหาชน )
- 2544 ผู้จัดการฝ่ายผลิต ร่วมดูแลการผลิต และพัฒนาทุกรายการ ของเวิร์คพอยท์ฯ
- 2547 ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต
- 2548 Executive Vice President ( Production ) บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็น
เทอร์เทนเมนท์ จำกัด ( มหาชน ) ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายผลิต
- 2548 Director / Producer ภาพยนตร์เรื่อง โหน่งเท่ง นักเลงภูเขาทอง
- 2548 Managing Director บริษัท หัวฟิล์ม ท้ายฟิล์ม จำกัด
- 2548 ดูแลการผลิตรายการชิงร้อย ชิงล้าน
รายละเอียดนักแสดงและคาแรคเตอร์
เท่ง เถิดเทิง (พงษ์ศักดิ์ พงษ์สุวรรณ) รับบท “บุญเท่ง”
พระเอกลิเกเลือดใหม่ ขวัญใจแม่ยกวัยทอง ลูกเล่นลีลาแพรวพราวสมกับเป็นทายาทผู้สืบทอดศิลปะลิเกจากนายแดงผู้เป็นพ่อ นักเลงตัวจริงแห่งภูเขาทองที่แม้ภายนอกอาจจะดูเลือดร้อนไปหน่อย แต่ข้างในหัวใจมีเลือดศิลปินเต็มเปี่ยมแถมด้วยเลือดรักที่ร้อนแรงที่แม้ฝนฟ้าก็หยุดหัวใจที่มีให้ “นวลจันทร์”ของเขาคนนี้ไม่ได้ แม้คนรอบข้างจะบอกว่ารักครั้งนี้จะเหมื๊อน... เหมือนหมามองเครื่องบินก็ตาม
ประวัติเท่ง
7 เมษายน (ไม่ระบุปีพ.ศ.) เด็กชายพงษ์ศักดิ์ พงษ์สุวรรณ ลืมตาดูโลกใบสวยที่จังหวัดสุโขทัยในครอบครัวของลิเก แต่แล้วโชคชะตาก็ทำให้เขาต้องกลายมาเป็นตลกคาเฟ่มือดีที่ตลกรุ่นพี่อย่าง หม่ำ จ๊กมก เห็นความตั้งใจเลยสะกิดมาร่วมงานในรายการ “ระเบิดเถิดเทิง” ด้วยความฮาไม่เหมือนใครทำให้บอสใหญ่แห่งเวิร์คพอยท์ฯ อย่าง คุณปัญญา นิรันดร์กุล ชวนให้ร่วมเป็นหนึ่งในแก๊งสามช่า โดยตั้งชื่อใหม่ให้ว่า “เท่ง เถิดเทิง” และกลายเป็นตลกชื่อดังอันดับต้นๆ ของเมืองไทยไปโดยปริยาย และด้วยผลงานทางด้านการแสดงที่รับประกันความฮา ทำให้เท่งได้รับการทาบทามให้ร่วมแสดงภาพยนตร์ดังๆ มาแล้วหลายเรื่อง อาทิ มือปืนโลกพระจัน, เจ็ดประจัญบาน, แอบ..คนข้างบ้าน และ หลวงพี่เท่งที่โกยเงินทะลุ 100 ล้านแบบผ่านฉลุย
โหน่ง ชะชะช่า (ชูศักดิ์ เอี่ยมสุข) รับบท “เสือน้อยโหน่ง”
หนุ่มทะเล้นจอมวางแผนที่ยกตัวเองขึ้นเป็นนักเลงคุมพื้นที่ พ่อเสือปืนแกว่งแห่งภูเขาทอง (ยิงทีไรไม่โดนเป้าสักที) มาดราชสีห์แต่ใจปลาซิว มีเรื่องเมื่อไรเป็นต้องให้ “บุญเท่ง” ช่วย แม้จะไม่เอาถ่านในเรื่องชีวิตตัวเอง แต่เรื่องหัวใจแล้ว ทุ่มเทให้ “ลิ้นจี่” น้องสาวของบุญเท่งคนเดียวเท่านั้น เมื่อคิดจะรักกับน้องสาวนักเลง ทางเดียวที่จะทำให้ความรักสำเร็จได้ คือการเป็นคู่หูของบุญเท่งและพร้อมก้าวเป็นนักเลงภูเขาทองอย่างเต็มตัว
ประวัติโหน่ง ชะชะช่า
โหน่ง ชะชะช่า หรือชื่อตามบัตรประชาชน “ชูศักดิ์ เอี่ยมสุข” แจ้งเกิดเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2516 ด้วยความเป็นคนอารมณ์ดีและมีบุคลิกที่โดดเด่นทำให้ให้ได้เข้าร่วมงานกับบริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ด้วยการประเดิมรับบท “ฮะโหน่ง” ในรายการระเบิดเถิดเทิง และทำให้ได้เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในแก๊งสามช่าในรายการชิงร้อยชิงล้านชะชะช่าในเวลาต่อมาไม่นานนัก จนกลายเป็นตลกชื่อดังของเมืองไทยในที่สุด จนเจ้าตัวตั้งฉายาตัวเองว่า “ตลกซูเปอร์สตาร์” ส่วนผลงานทางด้านภาพยนตร์นั้น โหน่งประเดิมเล่นเรื่องแรกคือ ผีแม่ม่ายป้ายแดง ตามมาด้วย คนปีมะ, ฟอร์มาลีนแมน รักเธอเท่าฟ้า, สายล่อฟ้า, เอ๋อเหรอ, คนหอน..ขี้เรื้อน,เสือภูเขา และล่าสุดกับ “โหน่ง เท่ง นักเลงภูเขาทอง”
ยา-นิกัลยา ดุลยา รับบท “นวลจันทร์”(มิสไทยแลนด์เวิลด์ประจำปี2004)
สาวสวยสูงศักดิ์ลูกสาวคนเดียวของพระยารุ่นใหญ่ที่เพิ่งจบจากเมืองนอก นางเอกภาพยนตร์ “นางสาวสุวรรณ” ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกของไทย ความสวยของเธอเขย่าหัวใจบุญเท่ง (อย่างแรง) ตั้งแต่แรกเห็น แม้จะเป็นสาวที่ชายทั้งเมืองหมายตาแต่เธอก็ไม่ยอมให้ชายใดประชิดตัวได้ ต้องพกไม้บรรทัดมาวัดระยะประชิดเสมอ แต่ใครจะรู้ว่าหนุ่มหน้าคมอารมณ์หวานอย่าง “บุญเท่ง” ก็แหวกกฏเหล็กของเธอซะได้สิน่า...
ประวัติยา
สาวสวยยะลาที่นอกจากจะกวาดรางวัลความสามารถด้านการเรียนมาแล้ว ด้านความสวยก็ไม่แพ้กัน เธอคนนี้ขึ้นเวทีการันตีความงามครั้งแรกด้วยตำแหน่ง “ธิดายะลาประจำปี 2542” ในเวทีบ้านเกิด จากนั้นความสวยของเธอก็ประกาศศักดาอีกครั้งในเวทีระดับประเทศ ด้วยตำแหน่งมิสไทยแลนด์เวิลด์ 2004 อย่างภาคภูมิใจ และล่าสุดกับหน้าที่นางเอกเต็มตัวในผลงานท้าทายที่ได้รับโอกาสประกบคู่กับตลกหน้าหยกระดับประเทศอย่าง “เทิง เถิดเทิง” ในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ “โหน่งเท่ง นักเลงภูเขาทอง”
ฝ้าย-อิสรีย์ สงฆ์เจริญ รับบท “ลิ้นจี่”
น้องสาวแท้ๆ ที่พ่อแม่ยืนยันว่าคลานตามกันมาต่อจากบุญเท่ง แต่ใครๆ ต่างสงสัยว่าทำไมหน้าตาผิวพรรณถึงได้ผิดกันไกลขนาดนั้น เป็นนางเอกลิเก ที่หน้าหวานเมื่อยามโปรยเสน่ห์ แต่กลายเป็นแม่เสือเวลาไม่ได้ดั่งใจ นอกจากเล่นลิเกแล้ว หน้าที่หลักอีกอย่างคือการรับพวงมาลัย (สื่อรัก)จากเสือน้อยโหน่ง ที่เทียวขายขนมจีบทั้งเช้าสายบ่ายเย็นแบบไม่เว้นวันหยุดราชการ แต่ไหงดันมาตกบ่วงเสน่ห์ของเสือน้อยโหน่งไปได้
ประวัติฝ้าย
ด้วยความเป็นเด็กสาวหน้าหวานใส ฝ้ายจึงเข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการเป็นนางแบบโฆษณามากมายตั้งแต่อายุเพียง 14 ปีและอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์, วีเจ, นางแบบ, และเล่นละครดังที่รับบทประกบหนุ่มหล่อ “ปิ๊ป รวิชญ์ เทิดวงศ์” ในละคร “นิราศสองภพ” และล่าสุดกับการแสดงบนจอเงินครั้งแรกประกบ 2 นักเลงอารมณ์ทะเล้นอย่างโหน่งชะชะช่าและเท่งเถิดเทิงแบบใกล้ชิด พร้อมทีมทัพตลกระดับประเทศในภาพยนตร์คอมิดี้เรื่องยิ่งใหญ่อย่าง “โหน่งเท่งนักเลงภูเขาทอง
พร้อมด้วยนักแสดงสมทบมากมาย
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net