กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--มว.
ฝ่ายมาตรวิทยามิติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ประสบความสำเร็จในการศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่อง Dial Gauge Tester (Vertical Type) พิสัย (Range) : 0 - 25 mm ค่าความถูกต้อง (Accuracy) : ?3 mm พร้อมโปรแกรมการทำงานที่สอดคล้องกับข้อกำหนดตามมาตรฐานญี่ปุ่น (JIS B 7503:1997 และ JIS B 7515:198) สามารถรองรับกิจกรรมด้านการสอบเทียบ Dial Gauge, Dial Test Indicator ของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามข้อกำหนดของ ISO/IEC 17025 ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ
ในการนำเข้าเครื่องมือวัดละเอียดดังกล่าวด้วย Dial gauge เป็นอุปกรณ์มาตรฐานพื้นฐานสำหรับงานวัดด้านความยาวและมิติที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในภาค
อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ และอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า เป็นต้น โดยนำมาใช้วัดและตรวจสอบความถูกต้องของชิ้นงาน เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์และ สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและเป็นที่น่าเชื่อถือในระดับสากล ดังนั้น Dial Gauge จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการสอบเทียบเพื่อตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตาม หนึ่งในปัญหาด้านการสอบเทียบ Dial Gauge คือ ใช้เวลาในการสอบเทียบค่อนข้างมาก ดังนั้นฝ่ายมาตรวิทยามิติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ จึงดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่อง Dial Gauge Tester ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดระยะเวลาการสอบเทียบ Dial Gauge และยังคงความถูกต้องแม่นยำอยู่ในระดับมาตรฐานที่สากลยอมรับได้
การออกแบบและพัฒนาชุดดังกล่าว ได้ดำเนินการออกแบบลักษณะโครงสร้างสำหรับจับยึดตัวมาตรฐาน (Micrometer Head) และ Dial Gauge ที่ต้องการสอบเทียบ ให้มีลักษณะแนวตั้งเพื่อสะดวกสำหรับการวัด โดยอาศัยหลักการทางฟิสิกส์ควบคู่กับทฤษฎีมาตรวิทยา เพื่อลดค่าความคลาดเคลื่อน (Error) จากการติดตั้ง จากการวัด และจากบุคคลที่ทำการวัด ในขณะเดียวกันได้ออกแบบและพัฒนาโปรแกรม (Software) สำหรับการสอบเทียบ Dial Gauge โดยเฉพาะโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถรับสัญญาณจากตัวมาตรฐานได้โดยตรง ผ่านทางพอร์ตอนุกรมไปแสดงผลที่หน้าจอเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงค่าแก้ (Correction) ค่าความไม่แน่นอน (Uncertainty) พร้อมทั้งเขียนกราฟแสดงเกณฑ์การยอมรับได้โดยอ้างอิงมาตรฐานญี่ปุ่นสำหรับ Dial Gauge, Dial Test Indicator และ Bore Gauge และออกใบรับรองผลการสอบเทียบ (Calibration Certificate) โดยรูปแบบของใบรับรองผลการสอบเทียบผู้ใช้สามารถออกแบบให้สอดคล้องกับระบบคุณภาพของแต่ละบริษัทได้
งานวิจัยดังกล่าว ได้ผ่านการทดสอบความถูกต้องแม่นยำ โดยการเปรียบเทียบผลการวัดกับ Dial Gauge Tester ยี่ห้ออื่น พบว่า การพัฒนาเครื่อง Dial Gauge Tester แบบกึ่งอัตโนมัตินี้ สามารถลดเวลาการสอบเทียบจากเดิมได้ประมาณ 75% จากเวลาปกติของการวัด ซึ่งรวมเวลาของการวัด การประมวลผล และการออกใบรับรองผลการสอบเทียบแล้ว และมีความถูกต้องแม่นยำตามมาตรฐานสากล โดยการเปรียบเทียบผลการวัดได้ค่า EN Ratio ฃ 1 (ISO Guild 43) การวิจัยนี้นอกจากจะช่วยลดระยะเวลาในการสอบเทียบแล้ว ยังช่วยขจัดความผิดพลาดอันเกิดจากคน อีกทั้งเครื่อง Dial Gauge Tester นี้ยังมีราคาต่ำกว่าบริษัทผู้ผลิตประมาณ 40% ซึ่งเหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มี Dial Gauge เป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เป็นต้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
ส่วนประชาสัมพันธ์
โทร. 0 2577 5100 ต่อ 4227 คุณจันทร์วลี และคุณสุภัทรชัย
โทรสาร 0 2577 2859
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net