กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--กรีนพีซ
เฮชพีกลับใจเริ่มออกผลิตภัณฑ์ปลอดสารเคมีพิษอันตราย โน้ตบุ๊ครุ่น ProBook 5310m ส่งผลให้คะแนนเฮชพีขยับขึ้นจากการจัดอันดับครั้งก่อน
การจัดอันดับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ฉบับที่ 13 ของกรีนพีซ ประสบผลสำเร็จในการผลักดันให้เฮชพีและแอปเปิลพัฒนาเพื่อเป็นผู้ผลิตสินค้าอิล็กทรอนิกส์สีเขียว โดยเฮชพีได้คะแนนขยับขึ้นจากการมีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ครุ่นใหม่วางขายที่ปลอดจากพลาสติกพีวีซี (PVC) และลดการใช้สารหน่วงไฟประเภทโบรมีน (BFRs) ในผลิตภัณฑ์ โดยเหลือเพียงเครื่องจ่ายไฟและสายเคเบิลที่ยังคงใช้สารอันตรายประเภทนี้อยู่
“เฮชพี เพิ่งเริ่มปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ของตนตามอย่างแอปเปิลที่ไม่ใช้สารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์มามากว่าหนึ่งปีแล้ว” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “การปรับเปลี่ยนของเฮชพีครั้งนี้ยังเป็นการช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ ให้ผลิตสินค้าที่ปราศจากสารเคมีอันตรายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นออกสู่ตลาด”
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กรีนพีซได้รณรงค์หน้าสำนักงานใหญ่ของเฮชพีที่พาโล อัลโต ประเทศสหรัฐอเมริกา และที่สำนักงานในประเทศจีน และเนเธอร์แลนด์ (1) เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์ให้ได้ภายในปี 2552 นี้ ล่าสุดเฮชพีจึงได้ออกผลิตภัณฑ์ ProBook 5310m (2) ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่เฮชพีได้เริ่มปฏิบัตินโยบายด้านการใช้สารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์ให้เป็นจริงมากขึ้น
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แอปเปิลได้ประกาศนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะส่งผลให้ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นในการจัดอันดับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวของกรีนพีซในฉบับต่อไป ในขณะนี้ผู้บริโภคทั่วโลกต่างตระหนักและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้แอปเปิลเดินหน้านโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (3)
เดลและเลอโนโวถูกหักคะแนนจากความล่าช้าในการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม เอเซอร์ได้แถลงว่าจะบรรลุเป้าหมายในการยกเลิกการใช้พลาสติกพีวีซีและสารหน่วงไฟประเภทโบรมีน (4) ในทุกผลิตภัณฑ์ให้ได้ภายในปีนี้ ขณะที่โตชิบาได้กำหนดระยะเวลาเพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายอันตรายในผลิตภัณฑ์ทุกประเภทภายในเดือนมีนาคม 2553
โนเกียยังคงรักษาตำแหน่งอันดับ 1 ไว้เช่นเดิม ด้วยคะแนน 7.5 จาก 10 คะแนน ตามด้วยซัมซุง 6.9 คะแนน โซนี อิริคสัน 6.5 คะแนน ส่วนฟิลิปส์กระโดดขึ้นจากอันดับ 7 เป็นอันดับ 4 ด้วยคะแนน 5.9 คะแนน และโซนี ก้าวจากอันดับ 12 ขึ้นสู่อันดับที่ 8
แอลอีจีตกลงจากอันดับ 4 เป็นอันดับ 11 เนื่องจากถูกหักคะแนนที่กลับคำในเรื่องกำหนดเวลาที่จะยกเลิกการใช้พีวีซีและสารหน่วงไฟประเภทโบรมีน (BFRs) ในทุกผลิตภัณฑ์ภายในปี 2553 แต่ในขณะนี้เหลือเพียงผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือเท่านั้นที่จะทำให้ได้ภายในปี 2553 ขณะที่โทรทัศน์และจอมอนิเตอร์กลับเลื่อนออกไปเป็นปี 2555 ฟูจิซึตกอยู่ในอันดับรั้งท้ายด้วยคะแนน 2.7 คะแนน แต่ยังคงมากกว่าเลโนโวที่ตกจากอันดับ 16 เป็นอันดับ 2 รองจากท้ายตารางด้วยคะแนน 2.5 คะแนน
“เพียงก่อนหน้าการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โคเปนเฮเกน เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ฟิลิปส์ เอเซอร์ และซัมซุงได้เริ่มตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายพลายกล่าว “อย่างไรก็ตาม บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิล โนเกีย และไมโครซอฟท์ ยังคงล้มหลวในการแสดงความเป็นผู้นำด้านการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ดูข้อมูลการจัดอันอันดับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวฉบับที่ 13 ของกรีนพีซได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/toxics/electronics/how-the-companies-line-up
หมายเหตุ
1 http://www.hp.com/hpinfo/globalcitizenship/environment/productdesign/materialuse.html
“เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันมีทางเลือกให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และไม่กระทบต่อประสิทธิภาพหรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยแล้ว เราจึงจะยุติการใช้สารหน่วงไฟประเภทโบรมีน(BFRs) และพีวีซี ในผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ภายในปี 2554”
2. http://www.hp.com/hpinfo/newsroom/press/2009/090915xa.html
3. http://www.apple.com/environment/complete-lifecycle/
4. พีวีซี (PVC) สามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบในระดับสูงต่อสิ่งมีชีวิต การปนเปื้อนสามารถเกิดขึ้นได้ในตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การใช้ผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการกำจัด ซึ่งเมื่อพีวีซีโดนความร้อน จะเปลี่ยนรูปเป็นไดออกซิน (Dioxin) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่รุนแรงที่สุด สารหน่วงไฟประเภทโบรมีน (BFRs) ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและสะสมในสิ่งแวดล้อมรวมถึงสิ่งมีชีวิตอย่างสัตว์และมนุษย์ และสามารถกระจายออกจากผลิตภัณฑ์ได้ในระหว่างการใช้งาน ตกค้างอยู่ในฝุ่นละอองทั่วไป ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงสิบปีที่ผ่านมายังพบว่ามีคนงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการกำจัดทำลายหรือรีไซเคิลต้องประสบปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการยุติการใช้สารเคมีอันตราย จึงเป็นทางออกของปัญหาที่ต้นเหตุ และยังทำให้การรีไซเคิลสามารถทำได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
http://www.greenpeace.org/international/campaigns/toxics/electronics/what-s-in-electronic-devices/bfr-pvc-toxic
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 081-658-9432
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร 089-487-0678
www.greenpeace.or.th