กทช. เริ่มดำเนินการขยายให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงสู่แดนทุรกันดารประเดิมโครงการนำร่องหมู่บ้านอายุ 200 ปี มีโทรศัพท์ใช้เป็นเครื่องแรก

ข่าวทั่วไป Thursday February 23, 2006 13:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--กทช.
ปัจจุบันโอกาสในการสื่อสารเพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารในชุมชนชนบทห่างไกลหรือท้องถิ่นทุรกันดาร ไม่ทัดเทียมกับชุมชนในเขตเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อด้วยโทรศัพท์ ทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังนั้นคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. จึงได้เร่งรัดในการเสริมโอกาสให้กับประชาชนในถิ่นทุรกันดารในการติดต่อสื่อสารกับสังคมภายนอกเพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ (Digital Divide) การให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงเป็นนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วน เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติต้องดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด กทช. จึงมีมติให้ดำเนินการขยายการให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ในระยะแรก 6,000 หมู่บ้านและ 4,000 สถานีอนามัย โดยประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์และได้รับประโยชน์จากบริการการแพทย์ทางไกลจะมากขึ้นถึง 2 ล้านคน
พลเอกชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธาน กทช. กล่าวว่าการดำเนินงานเพื่อเพิ่มโอกาสการสื่อสารของประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารนั้นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กทช.ซึ่งได้แก่ บริษัททีโอที จำกัด(มหาชน)และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) จะเป็นผู้จัดทำเพื่อให้บริการด้านโทรคมนาคมแก่ประชาชนในชนบททั่วประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินการระยะแรก 3 ปี และขยายโทรคมนาคมทั่วประเทศในระยะต่อไป
ทางด้านนายอาทร จันทวิมล กรรมการ กทช. ผู้รับผิดชอบทางด้าน USO กล่าวเสริมว่าโครงการที่จัดในครั้งนี้เป็นการนำร่องที่หมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งจะทำให้หมู่นี้มีโทรศัพท์ใช้เป็นเครื่องแรก หลังจากตั้งหมู่บ้านมานานกว่า 200 ปี โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่มีศักยภาพในการทำงานในถิ่นทุรกันดารประกอบด้วย บมจ. กสท. โทรคมนาคม บมจ.ทีโอที บริษัทชินแซทเทิ่ลไลท์ บริษัทสามารถเทเลคอม บริษัทเอเชียส รวมทั้งบริษัทควอลคอม ส่งอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาร่วมทดลอง เพื่อหาข้อมูลด้านเทคนิค ข้อมูลด้านสังคม
นายอาทร จันทวิมล กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายในระยะแรกคือหมู่บ้านที่ยังไม่มีโทรศัพท์ใช้มีอยู่ 6,000 หมู่บ้าน สถานีอนามัยอีก 4,000 แห่ง ก็ไม่มีโทรศัพท์ใช้เช่นกัน การทดลองครั้งนี้เป็นกิจกรรมเร่งรัดในการขยายบริการโทรคมนาคมที่ทันสมัยเข้าสู่พื้นที่ทุรกันดาร เพราะถ้าดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้อาจต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปี การให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง หรือ USO เพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปบริการให้กับผู้ที่ไม่มีโอกาสรับบริการ หรือผู้ที่ได้รับบริการต่ำกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้ กทช. ยังมีโครงการที่จะนำร่องในเขตอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยโครงการดังกล่าวเพื่อต้องการลดช่องว่างทางการเข้าถึงการสื่อสารทางโทรคมนาคมระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท โดยให้มีการบริการสื่อสารโทรคมนาคม บริการโทรศัพท์สาธารณะให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักประชาสัมพันธ์
02-271 3511, 04-751 1026--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ