ฟิทช์ ประเทศไทย ปรับลดอันดับเครดิตของตราสารหนี้ค้ำประกันของบริษัท ไพรมัส ลีสซิ่ง

ข่าวทั่วไป Wednesday August 23, 2006 13:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศลดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ของหุ้นกู้ค้ำประกันภายใต้ Medium-Term Note Programmes และตั๋วแลกเงินค้ำประกันที่ออกโดยบริษัทไพรมัส ลีสซิ่ง จำกัด (“ไพรมัส”) เป็น ‘BB+(tha)’ จากระดับ ‘BBB-(tha)’ (BBB ลบ (tha)) แนวโน้มอันดับเครดิตยังคงเป็นลบ การปรับลดอันดับเครดิตดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการที่ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตIssuer Default Ratings (“IDRs”) ของ บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ (“ฟอร์ด”) และ บริษัทฟอร์ด มอเตอร์เครดิต (“ฟอร์ด เครดิต”) เป็น ‘B’ จาก ‘B+’ ไพรมัสเป็นบริษัทย่อยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยของ ฟอร์ด เครดิต แห่งสหรัฐอเมริกา โดยฟอร์ด เครดิตยังเป็นผู้ค้ำประกันตราสารหนี้ของไพรมัส อันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ค้ำประกันที่ออกโดยไพรมัส มีพื้นฐานมาจากการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและเต็มจำนวนจาก ฟอร์ด เครดิต และความน่าเชื่อถือของ ฟอร์ด และ ฟอร์ด เครดิต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของไพรมัส บริษัททั้งสองนี้ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา
การปรับลดอันดับเครดิต IDR ของฟอร์ด เครดิต หรือการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของประเทศไทย (ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว IDR ที่ระดับ ‘A’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ในอนาคต จะยังคงส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ค้ำประกันของไพรมัส โดยทั่วไปแล้ว แนวโน้มอันดับเครดิตจะบ่งชี้ถึงทิศทางการปรับอันดับเครดิตที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 1 — 2 ปีข้างหน้า
ตามที่ได้ระบุไว้ในประกาศของฟิทช์ วันที่ 18 สิงหาคม 2549 การปรับลดอันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของฟอร์ดมีพื้นฐานมาจากการปรับลดการผลิตอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสที่ 3 และ 4 ซึ่งสะท้อนถึงการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดของผลิตภัณฑ์หลักประเภทต่างๆที่มากขึ้น กระแสเงินสดที่เป็นลบ ซึ่งได้รวมต้นทุนในการปรับโครงสร้างต่างๆแล้ว อาจจะมีมูลค่าเกิน 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2549 ซึ่งได้นับรวมกระแสเงินสดจ่ายจากสินทรัพย์เพื่อการดำเนินงานและจากการปรับโครงสร้าง กระแสเงินสดจ่าย ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการปรับโครงสร้างจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2550 ถึงแม้ว่าผลขาดทุนจากการดำเนินงานอาจจะลดลงสืบเนื่องมาจากความพยายามในการลดต้นทุน การสูญเสียส่วนแบ่งตลาดที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือสภาวะทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงในปี 2550 น่าจะส่งผลให้กระแสเงินสดจ่ายของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่สูงและสภาพคล่องยังคงลดลงต่อไป ถึงแม้ว่าสภาพคล่องจะยังคงเพียงพอ ความคืบหน้าในการลดโครงสร้างต้นทุนและการรักษาระดับความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้การค้าจะยังคงมีความสำคัญในระยะสั้น อันดับเครดิต IDR ของฟอร์ด เครดิต ยังคงสัมพันธ์กับอันดับเครดิตของฟอร์ด เนื่องมาจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ใกล้ชิดระหว่างกัน ฟิทช์คาดการณ์ว่า ผลกำไรและเงินปันผลของฟอร์ด เครดิตน่าจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2549 โดยมีสาเหตุหลักมาจากยอดสินเชื่อและอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยที่ลดลง ฟอร์ด เครดิต ได้รับประโยชน์จากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อของบริษัทที่ดีขึ้น แต่อัตราการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นดังกล่าวนี้ได้รับการคาดการณ์ว่าจะช้าลงในอนาคต ฟิทช์เชื่อว่าฟอร์ดเครดิตจะยังคงรักษาระดับสภาพคล่องได้ในระดับที่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตของบริษัท ความสามารถของฟอร์ด เครดิต ในการขายสินทรัพย์ซึ่งมีหลายประเภทของบริษัท หรือการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ยกตัวอย่างเช่นสินเชื่อลูกค้ารายย่อย สินทรัพย์ที่ให้เช่า และสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ นอกจากนี้ ฟอร์ด เครดิตยังคงถือเงินสดในสัดส่วนที่สูง รวมทั้งสินทรัพย์ของบริษัทจะหมดอายุสัญญาเร็วกว่าหนี้สินของบริษัท
ในฐานะที่เป็นบริษัทสนับสนุนการให้สินเชื่อของรถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศของฟอร์ด ไพรมัสนับว่ามีความสำคัญต่อการดำเนินงานของฟอร์ดในประเทศไทย ยอดสินเชื่อเช่าซื้อของไพรมัสลดลงถึง 14% ในปี 2548 โดยมีสาเหตุมาจากการแข่งขันที่สูงขึ้น แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม รายได้ของบริษัทยังคงต้องพึ่งพายอดขายของรถยนต์ ฟอร์ด, มาสด้า, แลนด์ โรเวอร์ และ วอลโว่ ซึ่งยอดขายดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบหากความเสียหายของฟอร์ดรุนแรงขึ้น
คุณภาพสินทรัพย์ของไพรมัสในขณะนี้ยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยอัตราส่วนยอดรวมสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้สูญตัดบัญชีต่อยอดสินเชื่อทั้งหมด อยู่ในระดับที่ต่ำ ที่ 1% ณ สิ้นปี 2548 ระดับสำรองหนี้สูญของบริษัทมีมูลค่ามากกว่า 2 เท่าของยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้นปี 2548 การเติบโตที่สูงของสินเชื่อของไพรมัสซึ่งต้องพึ่งพาการจัดหาเงินทุนจากการก่อหนี้ ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับสูง ถึงแม้ว่าอัตรานี้จะลดลงมาจาก 19.4 เท่า ณ สิ้นปี 2547 เป็น 12.6 เท่า ณ สิ้นปี 2548 ความกังวลของฟิทช์เกี่ยวกับอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูงของบริษัทถูกลดทอนด้วยการค้ำประกันหุ้นกู้ของฟอร์ด เครดิต
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ