กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมโครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-คลองมหาชัย โดยมีคณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ ณ สถานีสูบน้ำคลองสนามชัย เขตบางขุนเทียน จากนั้นตรวจงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองขุนราชพินิจใจ และสถานีสูบน้ำคลองพระยาราชมนตรี
โครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-คลองมหาชัย เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากในช่วงฤดูฝนน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณมากประกอบกับฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลติดต่อกันหลายวัน พร้อมทั้งน้ำทะเลหนุนสูง จึงทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งโดยปกติแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถรับน้ำได้ประมาณ 3,000 ลบ.ม./วินาที แต่เมื่อปีพ.ศ.2538 ในช่วงฤดูน้ำหลากมีน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 5,500 ลบ.ม./วินาที น้ำจึงล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเป็นบริเวณกว้าง ดังนั้นโครงการแก้มลิงจะทำหน้าที่รวบรวมน้ำ รับและดึงน้ำท่วมขังจากพื้นที่ทางตอนบนลงมาเก็บไว้ พร้อมทั้งกับระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก และการสูบน้ำที่เหมาะสม
ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-คลองมหาชัย กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และประตูเรือสัญจร โดยได้ขยายแนวคันกั้นน้ำจากถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ออกไปถึงแนวคลองหัวกระบือ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2541 โดยก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และประตูเรือสัญจร จำนวนรวมทั้งสิ้น 25 แห่ง โดยอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน จำนวน 10 แห่ง กรุงเทพมหานคร จำนวน 12 แห่ง และกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 3 แห่ง กรุงเทพมหานครได้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำถาวรตามคลองต่างๆ เพื่อควบคุมระดับน้ำในคลอง เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 จำนวนรวมทั้งสิ้น 12 แห่ง แล้วเสร็จจำนวน 6 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 6 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม จำนวน 1 แห่ง ความยาว 4,500 เมตร ซึ่งได้ผลงานรวม 54% คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2553
โครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-คลองมหาชัย จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร ด้วยการทำหน้าที่รับน้ำทางพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร และสมุทรสาครตอนบนไปลงคลองสนามชัย-คลองมหาชัย และแม่น้ำท่าจีน โดยแบ่งปริมาณน้ำให้ระบายไปตามคลองระบายน้ำ ออกสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร และเก็บชะลอน้ำตามประสิทธิภาพที่มีอยู่เดิมให้สมดุลกับปริมาณน้ำหลาก การปรับปรุงคลองระบายน้ำ ให้สามารถระบายน้ำได้ตามที่ได้ศึกษากำหนดแนวทางไว้พิจารณาเพิ่มคลองระบายน้ำ เพื่อชักน้ำลงสู่แก้มลิงให้ได้เร็วและมากขึ้น รวมถึงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำต่างๆ ตามความจำเป็น การดำเนินโครงการโดยประสานกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถดำเนินการก่อสร้างระบบระบายน้ำได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน เป็นการบรรเทาความเสียหายจากการเกิดอุทกภัย