กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--สหมงคลฟิล์ม
สิบสี่กุมภาพันธ์ สองพันสี่ร้อยแปดสิบสี่
วันแสนดี วันที่รัก ปักใจสอง
หวังให้เธอ เคียงอยู่ เป็นคู่ครอง
ไม่หวังปอง สิ่งอื่นใด ในโลกา
แต่ชะตา กลับกลั่นแกล้ง ไม่เข้าข้าง
จำต้องห่าง ร้างไกล ให้โหยหา
ขอจงรอ รอพี่หน่อย นะแก้วตา
รอพี่มา กลับใกล้ชิด นิจ...นิรันดร์
ในยุคสมัยที่ “มนุษย์” เมินเรื่อง “นรก-สวรรค์”
ไม่สนใจใน “กฏแห่งกรรม”
ไม่ศรัทธา “การทำความดี”
ไม่ใยดีในเรื่อง “ความรัก”
และไม่ปักใจเชื่อว่า “กระสือ” จะมีจริง
ผู้กำกับ “ยุทธเลิศ สิปปภาค” จะยำแกนเรื่องทั้งหมดมาให้ได้สัมผัสกันแบบ “ดราม่า” จริงจัง
แต่ไม่เจือจางอารมณ์ “ขันพองสยองเกล้า”ที่จะทำให้คุณต้องกลับไปทบทวนคำตอบของ “Do You Believe in Destiny?” กันใหม่อีกหลายตลบ
ผ่านการแสดงหนังใหญ่ครั้งแรกของนักแสดงหญิงรุ่นใหม่ “พลอย จินดาโชติ” และนักแสดงชายเจ้าบทบาท “เต้ ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์”
กับการถ่ายทอดความรักของพยาบาลสาวและภารโรงหนุ่มท่ามกลางบรรยากาศโรงพยาบาลเก่าแก่
ที่มีเสียงร่ำลือหนาหูถึง “กระสือสาว” นางหนึ่ง...อยู่บ่อยครั้ง
ในภาพยนตร์รักซาบซึ้งชวนสยอง ของยุทธเลิศ
“กระสือวาเลนไทน์”
9 กุมภาพันธ์ 2549
แล้วคุณจะซึ้งจนขนหัวลุก
[GHOST OF VALENTINE
]
แนวภาพยนตร์ ดราม่า-สยองขวัญ
กำหนดการฉาย 9 ก.พ. 2549
สร้างและจัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
ดำเนินงานสร้าง มหาการภาพยนตร์
อำนวยการสร้างบริหาร สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมงานสร้าง เอมอร ชนะภัย
กำกับภาพยนตร์ ยุทธเลิศ สิปปภาคบท
ภาพยนตร์ ยุทธเลิศ สิปปภาค
กำกับภาพ สมคิด พุกพงษ์
ลำดับภาพ ธวัช ศิริพงษ์
ออกแบบงานสร้าง ศรายุทธ์ พุ่มเพรา
กำกับศิลป์ คชา เรืองทอง
ออกแบบเสื้อผ้า รัศมิมาน สามะพุทธิ
แต่งหน้า-ทำผม ธนาวุฒิ บู่สามสาย
ภาพนิ่ง กันต์ สุสังกรกาญจน์
นำแสดงโดย ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์, พลอย จินดาโชติ, โกวิท วัฒนกุล,
วิยะดา อุมารินทร์, ด.ญ. อดิญา วัฒนชัยมงคล, ณรงค์ รตาภรณ์ (โกร่ง กางเกงแดง), อนันต์ แต่งผล (โพธิ์ทอง), สมัคร ผลประเสริฐ (ยอด นครนายก)
เรื่องย่อ
ณ โรงพยาบาลเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ...มีเรื่องราวความรักถือกำเนิดขึ้นพยาบาล “สาว” (พลอย จินดาโชติ) แสนสวยบุคลิกดี ซึ่งถึงแม้ว่าเธอเพิ่งจะย้ายมาประจำการ ณ โรงพยาบาลแห่งนั้นได้ไม่นานนัก แต่เธอก็เป็นที่รักใคร่ชอบพอของเพื่อนร่วมงานทุกคนในโรงพยาบาล ไม่เว้นแม้แต่ภารโรง “หนุ่ม” (เต้ ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์) คนซื่อที่ถูกชะตากับพยาบาลสาวตั้งแต่แรกเห็นในวันวาเลนไทน์ของปี 2549 นี้ด้วย
“ดอกกุหลาบ” ดอกแรกที่สาวได้รับจากภารโรงหนุ่มโดยบังเอิญในวันแห่งความรักนั้น นำไปสู่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งคู่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ประหลาดและความผูกพันกันอย่างคาดไม่ถึง
หรือพรหมลิขิตที่สาวเชื่อมั่นอยู่เสมอจะชักพาให้เธอพบกับความรักครั้งใหม่ หลังจากที่ถูกหักอกกับรักครั้งเก่า จนต้องพกพาความบอบช้ำย้ายเข้ามาทำงาน ณ โรงพยาบาลแห่งนี้...ที่ความรักกำลังดำเนินไป
ก่อนหน้านี้สาวมักจะมีอาการประหลาดที่ต้องตื่นขึ้นมาอาเจียนในทุก ๆ เช้า และทุกครั้งสิ่งที่เธออาเจียนออกมานั้นดูไม่แตกต่างจากรกเด็กที่เธอเคยเห็นในห้องคลอดเลยสักนิด รวมทั้งเธอยังมีอาการเห็นภาพซ้อน แวบเข้ามาในสมองอย่างไม่มีที่มาที่ไป และภาพที่เห็นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นภาพของโรงพยาบาลแห่งเดียวกันนี้ในยุคสงครามเมื่อกว่าหกสิบปีที่ผ่านมา
เท่านั้นไม่พอ สาวยังได้พบกับ “ภาพถ่ายเก่า ๆ ใบหนึ่ง” ในกล่องเหล็กซึ่งถูกวางอยู่ในห้องพักของเธอมาเนิ่นนาน ในภาพนั้นเป็นภาพของหนุ่มในชุดทหารสมัยสงครามถ่ายคู่กับเธอในชุดพยาบาลในยุคเดียวกัน และด้านหลังภาพถ่ายเป็นลายมือของหนุ่มที่เขียนถึงเธอ
จากข้อความบางอย่าง มันได้บ่งบอกว่า ในชาติที่แล้วทั้งสองคนนี้คือคู่รักกัน
แต่ยังไม่ทันที่สาวจะนำภาพถ่ายใบนั้นไปให้หนุ่มคลายความเคลือบแคลงสงสัยของเธอลง อุบัติเหตุหนึ่งกลับทำให้หนุ่มกลายเป็นอัมพาต และไม่สามารถสื่อสารใด ๆ ได้นอกจากแค่การกะพริบตา
หรือเวรกรรมกำลังจะตามมาสนองคู่รักเมื่อชาติที่แล้วคู่นี้อย่างเท่าทัน
ขณะเดียวกัน ในค่ำคืนแห่งความสับสน สาวกลับค้นพบความจริงอันน่าสะพรึงกลัวภายในร่างกายของเธออย่างยากที่เธอจะเชื่อได้มันคืออะไรกัน
หรือเธอเองจะมีส่วนผูกโยงกับ “กระสือสาว” ที่ถูกร่ำลือถึงบ่อย ๆ
ณ โรงพยาบาลเก่าแก่แห่งนี้...เรื่องราวความรักกำลังจะจบลง
เบื้องหลังงานสร้าง
ผู้กำกับมือฉมัง “ยุทธเลิศ สิปปภาค” เจ้าของผลงานสร้างชื่อสุดฮิตอย่าง มือปืน / โลก / พระ / จัน, กุมภาพันธ์, บุปผาราตรี, สายล่อฟ้า และ บุปผาราตรี เฟส 2 กลับมาอีกครั้งกับหนังดราม่า-สยองขวัญเรื่องล่าสุด “กระสือ วาเลนไทน์” ผลงานการกำกับภาพยนตร์ลำดับที่ 6 ที่จะมากล่อมให้คุณรู้ซึ้งว่า “ความรักไม่ใช่เรื่องพรหมลิขิต” อีกต่อไป ผสานไปกับเสียงฮาและความสยอง เพื่อรับขวัญเทศกาลวันแห่งความรัก...โดยเฉพาะ
“เดือนกุมภาพันธ์ที่เป็นเดือนแห่งความรัก ใคร ๆ ก็พูดถึงเรื่องความรักกัน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว แต่อยู่ ๆ พี่ก็คิดถึงเรื่องกระสือขึ้นมา อาจจะเป็นเพราะมันคือหนังเรื่องแรกที่ได้ดูในชีวิตตอนเด็ก ๆ ก็เป็นได้ มันเหมือนถูกฝังอยู่ในตัวเรามานานมาก นานจนอยู่ดี ๆ มันก็โผล่ขึ้นมา แล้วมาผนวกกับเรื่องราวความรักเข้า ถ้าเป็นเรื่องความรักของกระสือ มันจะน่าสนใจมั้ย เป็นเรื่องความรักของคนที่ไม่มีร่าง แต่หัวใจยังมีอยู่ เป็นหัวใจปกติของคนทั่วไป มันจะเป็นยังไง เรามองว่ามันเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ก็เริ่มจากตรงนี้แหละ”
“กระสือที่ใคร ๆ ก็มักจะมองว่าเป็นผีที่น่ากลัว น่าขยะแขยง แต่พี่ไม่ได้มองว่ากระสือเนี่ยเป็นผี พี่ว่ากระสือเนี่ยแตกต่างจากผีประเภทอื่น ๆ เพราะว่าผีประเภทอื่น ๆ เนี่ยคนจะกลัว และสามารถทำร้ายคนอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะนางนาค ไม่ว่าจะผีปอบ ไม่ว่าจะจูออน พวกนี้เค้าจะทำร้ายทุกคนได้ตลอด น่ากลัว แต่ส่วนกระสือเนี่ยส่วนใหญ่จะโดนทำร้าย หรือไล่ หรืออะไรก็ตาม กระสือในความรู้สึกพี่มันคือ ตัวประหลาด คนที่ผิดปกติ เป็นคนที่ผิดปกติมากกว่าเป็นวิญญาณของผี หรือเป็นผีจริง ๆ มันมีความเป็นคนอยู่ คือมันอาศัยอยู่บนร่างของคน ไม่ได้เกิดมาเป็นผีเลย มันก็เหมือนกับมนุษย์หมาป่าที่จะออกมาตอนพระจันทร์เต็มดวง แต่กระสือเนี่ยออกตอนกลางคืน หากินตอนกลางคืน แล้วสิ่งที่มันกินเนี่ย มันกินอุจจาระ กินเศษอาหาร กินรกเด็ก มันเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ทำไมมันต้องมากินอะไรแบบนี้”
Do You Believe in Destiny?...ครั้งหนึ่งผู้กำกับยุทธเลิศ เคยขับกล่อมคำถามนี้ให้ดังกึกก้องจากนิวยอร์คสู่บางกอกมาแล้วเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่กับหนังเรื่องใหม่ของเขาใน พ.ศ. นี้ เขาได้พลิกมุมมองความรักจากเดิมลงอย่างสิ้นเชิง ด้วยการขีดฆ่าคำว่า “พรหมลิขิต” ออกจากสารบบของ “ความรัก” และเปิดทักทายผู้ชมกับแง่มุมใหม่ของความรักที่เข้มข้นและจริงจังมากขึ้น...ไม่มีการล้อเล่นอีกต่อไป???
“อย่างเรื่องอื่น ๆ เค้าอาจจะพูดถึงความรักประมาณว่า ความรักทำให้คนตาบอด, ความรักทำให้เกิดปาฏิหาริย์, ความรักคือพรหมลิขิต แต่กับ ‘กระสือวาเลนไทน์’ จะพูดถึงความรักในแง่ที่ว่า ความรักไม่ใช่เรื่องของพรหมลิขิต มันมีบางอย่างลิขิต ซึ่งมีพลังมากกว่าพรหม คือจะพูดในแบบจริงจังเลย ความรักไม่ใช่เรื่องที่จะมาล้อเล่นกันได้ง่าย ๆ”
“เรื่องนี้มันคงหนักไปในทางดราม่ามากกว่าที่จะเป็นหนังรักเพียว ๆ อารมณ์มันจะเป็นดราม่ามากกว่า คือพระเอกนางเอกจะไม่มีเวลาของความโรแมนติก แต่จะเป็นการเกี่ยวพันกันในเรื่องของชีวิต เป็นดราม่า เป็นหนังชีวิตมากกว่า เป็นชีวิตหนัก ๆ เลย แล้วก็จะมีความสยองขวัญกับตลกเข้ามาแทรกอยู่บ้าง”
หนังจะมาพร้อมนักแสดงคู่สยองขวัญวันวาเลนไทน์อย่าง “พลอย จินดาโชติ” นักแสดงหญิงรุ่นใหม่ที่จะมาหว่านเสน่ห์บนจอภาพยนตร์เป็นครั้งแรกคู่กับ “เต้ ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์” นักแสดงชายเจ้าบทบาท (ไอ้ฟัก, ซุ้มมือปืน) ร่วมด้วยนักแสดงรุ่นใหญ่มากฝีมืออย่าง โกวิท วัฒนกุล, วิยะดา อุมารินทร์ และนักแสดงรับเชิญมากมายตามสไตล์หนังยุทธเลิศ...เขาล่ะ
“นักแสดงทุกคนจะเลือกจากคาแร็คเตอร์และความเหมาะสมของบทเป็นหลัก แน่นอน เต้ (ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์) เนี่ยจะเห็นฝีมือการแสดงของเค้าแล้วไม่ต้องห่วง ส่วนพลอย (จินดาโชติ) ที่รับบทกระสือเนี่ย เป็นผู้หญิงที่สวยแต่ไม่อ่อนหวาน เหมือนนางเอก เหมือนกระสือหนังผีทั่วไป คือจริง ๆ บทนี้ ไม่ได้แพลนจะให้พลอย แต่ว่าตัวจริงของพลอยจะมีคาแร็คเตอร์แข็ง ๆ อยู่ด้วย คาแร็คเตอร์แบบนี้ พี่คิดว่ามันมีเสน่ห์บางอย่างกับตัวกระสือ เพราะกระสือเนี่ยจริง ๆ แล้วมันมีคาแร็คเตอร์ที่บอบบาง แต่ต้องสร้างคาแร็กเตอร์บางอย่างที่ปกปิดความรู้สึกที่บอบบาง ปกปิดความอ่อนแอของเค้าเอาไว้ ซึ่งคาแร็คเตอร์ของพลอยจะเหมาะและน่าสนใจที่จะเอามาทำเป็นกระสือ ส่วนอาโกวิทกับพี่อูมนั้นคือไม่ต้องห่วงล่ะ ทั้งคู่เป็นนักแสดงเจ้าบทบาทอยู่แล้ว ซึ่งถ้ามีโอกาสร่วมงานด้วยก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี และแกเองก็เอ็นจอยที่อยากจะทำงานกับเรากันด้วย”
“นักแสดงตลกที่มีในเรื่องก็คือ น้าโพธิ์ทอง มาจาก ‘สายล่อฟ้า’ ลุงโกร่ง มาจาก ‘มือปืน โลก พระ จัน’ คือแกก็ถาม ๆ มา ว่ามีบทไหนให้เล่นบ้างหรือเปล่า อีกคนก็ตลกเก่าเหมือนกัน น้ายอด นครนายก แล้วที่ไม่ใช่นักแสดงตลกแต่เป็นคนตลกก็คือ พี่อังเคิลกับพี่บุญถิ่น จาก ‘บุปผาราตรี’ ก็มาเล่นเป็นตำรวจเหมือนเดิม เหมือนที่เคยไปดูผีที่ออสการ์อพาร์ตเมนต์มาก่อน เพราะว่าโรงพยาบาลที่เกิดเรื่องเนี่ยเป็นท้องที่เดียวกันกับออสการ์ อพาร์ตเมนต์ ทั้งคู่ก็เลยต้องมาดูแลแถวโรงพยาบาลนี้ด้วยเหมือนกัน”
ในส่วนของโลเกชั่นที่ใช้ถ่ายทำนั้น หนังเลือกใช้สถานที่จริงอย่าง “โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “โรงพยาบาลรถไฟ” ย่านมักกะสัน เป็นสถานที่ถ่ายทำเกือบตลอดทั้งเรื่อง เพราะมีความพร้อมในทุก ๆ ด้านตามที่หนังต้องการให้เป็นฉากหลัง ดังนั้นจึงง่ายต่อการออกแบบงานสร้างในเรื่องนี้ที่จะอิงกับหลักความจริงให้มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลย
“หนังเรื่องนี้ไม่ได้ออกแบบอะไรมากมาย เราเลือกโลเกชั่นที่เหมาะ แล้วโลเกชั่นนี้มันก็มีอยู่แล้วด้วย เราไม่ต้องหาเราใช้สถานที่จริง ทุกอย่างจริงหมด ไม่มีการออกแบบ โรงพยาบาลก็โรงพยาบาลจริง บ้านพักหมอก็ของจริง ทุกอย่างจะจริงหมด”
และเมื่อพูดถึงในส่วนของการก่อร่างสร้างกระสือขึ้นมานั้น แน่นอนที่จะต้องมีเรื่องของเทคนิคซีจีเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยที่เข้ามาเสริมเนื้อเรื่อง เติมเต็มความสมบูรณ์ทางด้านอารมณ์เพื่อสร้างสีสันให้กับหนัง โดยไม่เบียดเบียนสาระสำคัญที่ผู้กำกับต้องการบอกเล่าแต่อย่างใด
“ซีจีในเรื่องนี้จะอยู่ที่ประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์เองนะ คิดว่าไม่เยอะเท่าไหร่ เพราะหนังพี่ไม่เน้นตรงส่วนนี้อยู่แล้ว ตัวกระสือจะทำเป็นหุ่น หล่อหัวขึ้นมา หล่อไส้ขึ้นมา ซึ่งพี่คิดว่าซีจีทำได้แต่ไม่ได้ในเรื่องความรู้สึก การหล่อไส้ขึ้นมามันได้ความรู้สึกเหมือนจริงมากกว่าซีจี ซีจีเอามาใช้ตอนลอย ตอนอะไรเท่านั้นเอง พี่ยังเชื่อว่าภาพที่เกิดจากคน มันใกล้ความจริงมากกว่าภาพที่เกิดจากซีจี”
แปลงร่าง...กระสือ
ทีมงานที่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างกระสือให้กับหนังก็คือ “เมคอัพ เอฟเฟ็กต์” ซึ่งในเรื่องนี้ต้องอาศัยมืออาชีพอย่าง “กบ-ธนาวุฒิ บู่สามสาย” ที่ผ่านงานมาแล้วหลายเรื่อง อาทิเช่น ชุมเสือแดนสิงห์ฯ, บุปผาราตรี, บุปผาราตรี 2 และนรก รวมถึงกวาดมาแล้วหลายรางวัลทางด้านนี้ ล่าสุด ผู้กำกับ-มือแต่งเอฟเฟ็กต์คู่บุญคู่นี้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งใน “กระสือวาเลนไทน์” ที่จะเน้นการสร้างกระสือขึ้นมาด้วยมือมากกว่าอาศัยเทคนิคซีจี ซึ่งทุกเอฟเฟ็กต์ที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเม็ดผื่นแพ้ แผลไฟไหม้ ไส้กระสือ หนวดเครา ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มาจากฝีมือของผู้ชายคนนี้เพียงคนเดียว
“การแต่งกระสือเนี่ย ตั้งแต่เริ่มแรกก็ต้องไปหา reference มาดู พี่ก็ไปหาไปดูมาที่โรงพยาบาลศิริราช ไปดูไส้ ไปดูเครื่องใน ไปดูอะไรต่าง ๆ มา เสร็จแล้วเราก็ใช้มิกซ์เอา โดยที่ใช้เครื่องในหมูมาเป็นแบบ ในวันที่ทำเนี่ย แบบว่าแทบจะเป็นลม เพราะว่าตอนสุดท้ายหล่อไส้ตอนประมาณตี 3 เพราะว่าเราเอาของจริงมาหล่อ แล้วพอแกะออกมามันมีน้ำ ข้างในมันก็จะเน่าแล้วอะไรอย่างงี้ คือตรงนั้นจะยากสุดแล้ว แต่ในเรื่องของการหล่อการฉีดโฟมอะไรต่าง ๆ ก็ไม่ยาก ที่ยากอีกทีก็คือ การแต่งสีและการจัดเรียงให้มันได้ compose ของไส้คนที่เหมือนจริง”
“แล้วอีกอย่างที่ยากก็คือ การหล่อหน้าน้องพลอยที่เล่นเป็นกระสือ แต่พอเทแบบออกมาแล้วเนี่ยมันจะไม่ค่อยเหมือนตรงที่สีผิวคน ลักษณะผิวของคน ๆ หนึ่งเม็ดสีนี่มันจะมีหลายสี แต่สีเวลาที่เราแต่งหน้าเนี่ยเราจะลงได้ทีละสี ถ้าลงไปซ้อน ๆ กันเนี่ยมันก็จะไม่เหมือน ลักษณะมุมองศาเวลาเฉดสีเนี่ยมันก็จะไม่เหมือน นี่คือความยาก แล้วก็เรื่องของทรงผม ซึ่งต้องคอนทินิวทั้งเรื่อง และผมเป็นทรงเดียวของกระสือ บางทีแบบว่าหยิกไป บางทีแบบว่ายืดไป ตรงเนี้ยถามว่ายากมั้ย จะว่ายากก็ยาก แต่ถ้าเราใส่ใจกับมันก็โอเค ไม่เหลือบ่ากว่าแรง เราก็ทำให้มันใกล้เคียงที่สุดอะไรอย่างงี้มากกว่า และถ้าพูดถึงการแต่งกระสือเนี่ย เวลาแต่งน้องเค้าจริง ๆ เลยเนี่ย ใช้ไส้ที่ทำไว้แล้วมาคล้องเนี่ยมันเร็ว เพราะทุกอย่างเตรียมไว้หมดแล้ว มันก็จะมีแค่เรื่องเสื้อผ้าสีเขียว กรีนสกรีนแค่นั้น พอใส่เสร็จก็คือคล้องคอได้เลย อาจจะช้านิดนึง เพราะอาจจะทำผมนิดหน่อย ก็คือแบบทำให้ธรรมชาติที่สุด อันนี้น่ะใช้เวลาไม่เท่าไหร่”
“แต่อันที่ต้องใช้เวลานาน ๆ จริง ๆ คือของอาเมา โกวิท ที่เล่นเป็นคนแพ้ดอกกุหลาบแล้วเม็ดผื่นจะขึ้นทั้งตัวเนี่ย ใช้เวลาแต่งนานอย่างต่ำสุดก็ 2 ชั่วโมงแล้ว เพราะต้องลงสีหลายขั้นตอนมาก ทำครั้งแรกประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าได้ ก็หลายครั้งอยู่กว่า 10 ครั้งได้ ก็ต้องลองผิดลองถูกดู แต่พอทำออกมาแล้วมันใช่ มันก็โอเค อย่างของอาเมาเนี่ยช่วงหลัง ๆ เนี่ยชินแล้วก็จะแต่งเร็วขึ้น ก็ประมาณชั่วโมงกว่า ๆ ก็เสร็จ เพราะเราได้แนวทางจากตอนแรกแล้ว ว่าเราทำต้องทำแค่ไหนอะไรยังไง”
“นอกจากนี้ก็มีเรื่องของหนวดเคราเต้ ปิติศักดิ์ หนวดเคราเนี่ยครั้งแรกแต่งช้าและยากมาก เพราะว่าเป็นอะไรที่มันไม่ใช่แต่งสำเร็จ ไม่ใช่หนวดที่ติดเป็นลักษณะแผงเข้าไปแล้วจบ มันเป็นหนวดที่ผู้กำกับต้องการให้เหมือนจริงมากและเป็นธรรมชาติที่สุด คือยุ่ง ๆ แล้วก็มีลักษณะเป็นรูขุมขน แต่ความเหมือนจริงเนี่ยเราจะมานั่งเรียงที่ละเส้นไม่ได้ ให้เค้าไว้ก็ไม่ทัน มันจะต้องใช้ลักษณะที่ว่ายุ่ง ๆ หรือว่าเป็นเลอะๆ แถมยังต้องแต่งให้เป็นหน้าที่หมองกร้าน หน้าที่เป็นแห้ง ๆ ผิวมัน ผิวอะไรอย่างงี้เข้ามาอีก ครั้งแรกเนี่ยตกประมาณ 3 ชั่วโมงกว่า 4 ชั่วโมง แต่พอถ่ายไปก็จะใช้เวลาน้อยลงประมาณชั่วโมงกว่า ซึ่งเราต้องรู้ว่าเค้าจะใช้แค่ไหน ตรงไหน เราต้องเซฟเวลาให้ทางกองถ่าย แล้วก็เซฟเวลาเรา แล้วงานของเราก็จะได้เต็มที่ด้วย”
“หลักการทำงานของพี่ส่วนใหญ่ ต้องคุยถึงพล็อตเรื่อง ความต้องการของเรื่อง ความต้องการของผู้กำกับ ระยะเวลาในการทำงานที่เหมาะสม เพราะบางทีผู้กำกับอยากได้ 100 แต่ในพล็อตเรื่องได้แค่ 90 ก็โอเคแล้ว แต่ผู้กำกับอยากได้ 100 เวลาทำงานมีไม่ถึง 50 อะไรอย่างเนี้ยก็ต้องคุยกัน แล้วทุกอย่างเราต้องบวกกันเฉลี่ยให้มันอยู่ตรงกลางที่สุด แต่ทางที่ดีที่สุดคือคุยกับผู้กำกับ เพราะผู้กำกับคือคนสร้างภาพ ทั้งหมดก็ออกมาเป็นภาพรวมที่เราดูแล้วสื่อกันได้รู้เรื่อง แล้วก็ให้ใกล้เคียงกันที่สุด เท่าที่จะทำได้ด้วยระยะเวลาที่กำหนด ด้วยเวลาที่มี ด้วยตัวแสดงที่จะรับได้หรือไม่ได้ เพราะว่าอุปกรณ์เอฟเฟ็คต์บางตัวมันอาจจะเสีย บางตัวมันก็อาจจะแบบธรรมดาไม่มีอะไร การแต่งกระสือเนี่ยมันต้องละเอียดนิดนึง เพราะว่าบางทีเราต้องใช้แค่ช่วงหน้าเฉย ๆ ก็ใส่เสื้อผ้าเป็นกรีนสกรีน เราก็ต้องมีไส้ปลอมมีพวงไส้ทั้งหมดเนี่ยแขวน มีสายไฟมีอะไรเยอะมาก ซึ่งบางทีเนี่ยตัวแสดงอาจไม่ชิน เพราะต้องก้มใช้แต่ช่วงหน้าแล้วแขวนไส้ลงมามันจะหนักนิดหน่อย บางทีก็อาจจะรำคาญ ตรงนี้ก็ค่อนข้างจะมีปัญหานิดนึง บางทีไส้มันก็จะไม่ได้องศาไม่ได้มุม แต่บางทีที่ใส่แล้วอยู่เฉย ๆ เนี่ย น้องเค้าก็ต้องเอามือมาช่วยประคอง ก็คือมันเป็นการร่วมมือของนักแสดง ที่แบบว่าถ้านักแสดงไม่ร่วมมือมันก็ไม่เสร็จ คือแบบว่าทุกคนโอเคร่วมมือกันช่วยเหลือกันดี ก็ชอบตรงนี้ ร่วมงานกันแล้วไม่ค่อยมีปัญหา”
คาแร็คเตอร์นักแสดง
พลอย จินดาโชติ (สาว) — พยาบาลสาวแสนสวยที่ผิดหวังจากความรักมาจากต่างจังหวัด จึงมุ่งสู่กรุงเทพฯ เพื่อที่จะลืมอดีต และตามหาสิ่งที่ตัวเองต้องการในอนาคต ซึ่งตัวจริงของสาวจะเป็นคนที่เชื่อมั่นในความรักและพรหมลิขิตมาก ๆ โดยไม่รู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของเธอเองนั้นเป็นเช่นไร
“คือเรื่องนี้ บทพูดของพลอยจะน้อยค่ะ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์เยอะมาก ๆ เพราะฉะนั้น เหมือนกับว่า เวลาที่เราจะแสดงอะไรออกไป ก็จะต้องสื่อให้ค่อนข้างชัดเจนว่า ตอนนั้นตัวละครกำลังรู้สึกอะไรอยู่ ตรงนี้ค่ะที่จะยาก วันแรกก่อนที่จะมาถ่ายก็รู้สึกกดดัน เพราะเราไม่รู้ว่าจะเตรียมตัวยังไง เราไม่รู้ว่าที่เราเตรียมมามันถูกหรือเปล่า จะตรงตามที่ผู้กำกับต้องการมั้ย แต่หลังจากที่มาร่วมงานวันแรกแล้วก็คือ มีการปรับตัวแล้วก็เริ่มรู้แล้วว่ากองนี้ทำงานกันยังไง เราก็สบายใจขึ้น ปัญหาในการแสดงคือบางทีพลอยจะเกร็ง แบบกลัว ๆ ว่าเราเล่นอย่างนี้จะดีมั้ย คือเราจะเป็นกังวลก่อนแสดงจริงน่ะค่ะ แต่ก็อาศัยคุยกับผู้กำกับเพื่อทำความเข้าใจบทค่ะ แต่พี่ต้อมผู้กำกับก็มีปรับบทให้เข้ากับตัวพลอยมากขึ้นด้วย”
พลอย จินดาโชติ เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม จบการศึกษาปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ภาคภาษาอังกฤษ
อดีตดรัมเมเยอร์โรงเรียนบดินทร์เดชาผู้นี้ เข้าสู่วงการด้วยการถ่ายโฆษณาทีวี และเล่นละครเรื่องแรก ตอนที่กำลังศึกษาอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 5 เรื่อง “มณีหยาดฟ้า” โดยแสดงเป็นน้องสาวของแอน ทองประสม จากนั้นก็พักงานยาวเพื่อมุ่งมั่นในการเรียนเพียงอย่างเดียว จนเข้ามหาวิทยาลัย จึงหันมาเล่นละครอีกครั้งเรื่อง “ทะเลฤาอิ่ม” ทางไอทีวี และมีละครต่อจากนั้นอีกหลายเรื่อง อาทิเช่น กุหลาบเล่นไฟ, กลลวงรัก, อังกอร์ 2 และกำลังถ่ายทำละครเรื่อง กลรักเกมพยาบาท อยู่
ล่าสุด เธอเลื่อนชั้นเป็นนางเอกหนังจอใหญ่เรื่องแรกคู่กับ “เต้ ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์” ในหนังดราม่า-สยองขวัญวันแห่งความรักเรื่อง “กระสือวาเลนไทน์” ผลงานการกำกับเรื่องใหม่ของ “ยุทธเลิศ สิปปภาค” ในบทพยาบาลชื่อ “สาว” ที่เชื่อในเรื่องพรหมลิขิต และต้องมาผจญกับเรื่องของผีกระสือในโรงพยาบาลที่เธอเพิ่งย้ายเข้ามาประจำการ
ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์ (หนุ่ม) — ภารโรงหนุ่มที่มีบุคลิกไม่ค่อยสมประกอบ ไม่พูดไม่จากับใครเท่าไรนัก แต่ก็เป็นคนจิตใจดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น หนุ่มเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยทำให้พยาบาลสาวค้นพบความลับบางอย่างแห่งตัวตนของเธอ
“ผมคิดว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรก็แล้วแต่เนี่ย มันก็เป็นเรื่องของเวรกรรมอยู่แล้ว เราอาจจะเรียกกันคนละอย่าง อาจจะไม่ได้เรียกว่าเวรกรรมก็ได้ แต่อาจจะเรียกว่ากรรมและการกระทำ ซึ่งเหมือนกับว่า ถ้าเราตั้งใจอ่านหนังสือ เราก็ได้ผลสอบที่ดี นี่มันก็เหมือนเป็นเวรกรรมนะผมว่า เพราะมันขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา ถ้าเราทำดีก็ได้ดี ถ้าเราทำชั่วเราก็ได้สิ่งที่ชั่วกลับมา อย่างเรื่องเกี่ยวกับความรักของคนคู่นี้ที่ไม่ใช่รักธรรมดา แต่เป็นรักที่คิดว่ามีคติสอนใจให้กับคนดูด้วย เรียกว่ามันเป็นความรักที่แน่แท้ ไม่มีอะไรที่จะเทียบเคียง 2 คนนี้ได้เลย แต่ในความรักที่แท้ขนาดนี้ มันกลับมีเรื่องของผลกรรมหรือเวรกรรม อะไรที่เกินความรักสอดแทรกอยู่ด้วย”
เต้-ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์ เกิดเมื่อพ.ศ. 2525 จบการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา เขานักแสดงหน้าใหม่ที่ก้าวเข้าสู่วงการจากการประกวด โตโยต้า พรีเซนเตอร์ และแม้จะผ่านผลงานภาพยนตร์มาเพียง 2 เรื่อง (ไอ้ฟัก, ซุ้มมือปืน) แต่ฝีมือทางการแสดงก็เข้าขั้นยอดเยี่ยมจนกวาดรางวัลทางการแสดงมาครองได้ทุกสถาบันจากภาพยนตร์เรื่อง “ไอ้ฟัก” ซึ่งเพิ่งเป็นผลงานเรื่องแรกของเขาเท่านั้นเอง
กับหนังเรื่องล่าสุดเรื่องนี้ บทบาทที่เขาได้รับในบทภารโรงหนุ่มที่ไม่ค่อยสมประกอบและต้องพิการเป็นอัมพาตในช่วงกลางเรื่องอีกด้วยนี้ แน่นอนที่เขาย่อมจะต้องสร้างความประทับใจในฝีมือการแสดงให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
โกวิท วัฒนกุล (หมอใหญ่) - หมอเจ้าของโรงพยาบาลที่มีนิสัยขี้หลี เป็นหมอที่ค่อนข้างจะมัวเมาในกามารมณ์ เป็นผู้ที่รับสาวเข้ามาทำงานในโรงพยาบาลของตน เพื่อหวังที่จะเคลมสวาททุกครั้งที่มีโอกาส หมอใหญ่เป็นคนที่แพ้เกสรดอกไม้ โดยเฉพาะกับดอกกุหลาบ ทุกครั้งเพียงแค่ได้กลิ่น ผื่นแพ้ก็จะขึ้นเต็มตัวพร้อมกับอารมณ์เดือดที่คุกรุ่นตามไปด้วย
“เป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์มาก ก็เป็นแฟนหนังของคุณต้อมมานาน โน่นเลยตั้งแต่ มือปืน โลก พระ จัน, กุมภาพันธ์, บุปผาราตรี 1-2 จนกระทั่งมา สายล่อฟ้า พอมาร่วมงานกันครั้งแรกก็ยังสงสัย ถามทีมงานว่า ต้อมเนี่ยเค้าเคยเป็นผู้ช่วยของใครมาก่อนหรือเปล่า เราก็พยายามนึกว่า เคยร่วมงานกันมาก่อนหรือไม่ เห็นความจัดเจน
คล่องตัวในการทำงาน ก็เลยถาม เคยมีประสบการณ์มา
มากแค่ไหน อยากจะรู้ ก็เลยถามทีมงาน ปรากฏว่า ต้อมไม่ได้เรียนการแสดงมาเลย ไม่ได้เรียนการถ่ายทำภาพยนตร์มาเลย เฮ้ย ไม่ได้เรียนการถ่ายทำมา แล้วมันรู้เรื่องทั้งหมด แล้วมาทำหนังแต่ละเรื่องเป็นร้อยล้าน ๆ ได้ยังไง งงมาก พอหลังจากรู้อย่างงั้นแล้ว ก็เฝ้าสังเกตดูการทำงาน ได้เห็นว่าทั้งหมดเกิดจากจินตนาการของผู้กำกับคนนี้คนเดียวเลย นิทานเรื่องนี้บอกให้รู้ว่า บางทีไม่จำเป็นต้องมีปริญญาผู้กำกับภาพยนตร์ ถึงจะทำหนังดีได้ ไม่จำเป็น”
โกวิท วัฒนกุล เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2497 ที่จังหวัดชัยภูมิ เข้าสู่วงการด้วยการแสดงหนังเรื่อง “วันสังหาร” (2524) เป็นเรื่องแรก ก่อนที่จะตามมาด้วยหนังแอ็คชั่นอีกกว่า 40 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะเป็นผู้สร้างสีสันในบทสมทบให้กับหนังทุกเรื่องที่เขาแสดง
นักแสดงมากฝีมือรุ่นเก๋าของวงการผู้นี้ ห่างหายจากจอไปนานกว่า10 ปี ในช่วงปี พ.ศ. 2533 — 2546 โดยหันไปรับงานละครมากกว่า เขาเพิ่งกลับมาอีกครั้งในช่วงยุคปัจจุบัน กับหนังพีเรียดเรื่อง “ขุนศึก” (2546) และตามมาด้วยหนังอีกหลายเรื่องเช่น 102 ปิดกรุงเทพปล้น (2547), เจ้าสาวผัดไทย (2547), ซีอุย (2547)
บท “หมอใหญ่” ใน “กระสือวาเลนไทน์” คืออีกหนึ่งการแสดงที่มีสีสันที่นักแสดงชั้นครูผู้นี้ฝากเอาไว้ ซึ่งแว่วมาว่าอาจจะเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของเขา...ก็เป็นได้
วิยะดา อุมารินทร์ (ผอูญ) — หัวหน้าพยาบาลที่มีสัมพันธ์สวาทลับ ๆ กับหมอใหญ่ และทันทีที่พยาบาลสาวเข้ามาทำงานในโรงพยาบาล ก็เกิดความอิจฉา เกิดอาการหึงหวง โดยที่ไม่รู้ว่า จริง ๆ แล้ว ตัวตนของพยาบาลสาวนั้นเป็นเช่นไร
“บทนี้จะผิดแผกไปเลย ตรงกันข้ามกับตัวจริงเลยค่ะ ตัวจริงจะเป็นคนอารมณ์ดี คุยเล่นสนุกสนาน แต่ในเรื่องนี้จะเป็นคนเครียด ขี้หึง ขี้ระแวง ขี้อิจฉาอะไรต่าง ๆ นานา จริง ๆ แล้วพี่ก็มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องวิญญาณนะคะ การเวียนว่ายตายเกิด การทำกรรมดีกรรมชั่วอะไรอย่างเงี้ยก็เชื่ออยู่แล้ว ทีนี้พอได้มาเล่นหนังผีเนี่ย มีความรู้สึกว่า เค้าทำเพื่อสะท้อนออกมาว่า สิ่งที่เราเชื่อก็คือสิ่งที่อยู่ในใจของเราเองนี่แหละว่าเราได้ทำอะไรไว้ แล้วผลที่ได้รับกลับคืนมามันจะเป็นยังไง”
วิยะดา อุมารินทร์ เกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม เข้าสู่วงการด้วยการแสดงหนังเรื่อง “เทพธิดาโรงแรม” (2517) เป็นเรื่องแรก และมีผลงานต่อจากนั้นยาวเป็นหางว่าวอีกกว่า 70 เรื่อง ผู้ชมส่วนใหญ่จะรู้จักเธอเป็นอย่างดีจากเรื่อง “อีพริ้งคนเริงเมือง” (2523) ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลงานสร้างชื่อเสียงให้เธอเป็นอย่างมาก
แต่หลังจากปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา เธอก็ห่างหายจากการแสดงหนังใหญ่ไปนานพอสมควร จะมีก็นาน ๆ ครั้งกับการแสดงในบทรับเชิญนั่นเอง แต่เธอก็ไม่ได้ทิ้งการแสดงไปเสียทีเดียว เพราะเธอยังมีงานแสดงละครทีวีอยู่เป็นส่วนใหญ่
ล่าสุด นักแสดงหญิงเจ้าบทบาทรุ่นเก๋าผู้นี้กำลังจะกลับมาเติมรสชาติและสีสันอันจัดจ้านทางการแสดงกับ “กระสือวาเลนไทน์” ให้ได้เห็นการแสดงที่เข้าถึงบทร้ายแต่เกลียดไม่ลงอันเป็นเสน่ห์ของเธอกัน
“ยุทธเลิศ สิปปภาค” วิพากษ์มุมมองความรักครั้งใหม่ใน “กระสือวาเลนไทน์”
“ต้อม ยุทธเลิศ สิปปภาค” ผู้กำกับมากฝีมือคนหนึ่งของวงการหนังไทย มีความสนใจทางด้านศิลปะมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ หลังจากจบการศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาได้ก่อตั้งบริษัทรับออกแบบขึ้นด้วยตัวเอง ก่อนที่จะค้นพบว่า งานออกแบบภายในไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการที่จะทำจริง ๆ
เขาจึงตัดสินใจมุ่งสู่เมืองนิวยอร์คเพื่อที่จะเรียนทางด้านภาพยนตร์โดยตรง แต่ด้วยปัจจัยด้านการเงินไม่เอื้ออำนวย ทำให้เขาเลือกลงเรียนทางด้านศิลปะแทน เพื่อที่จะหาประสบการณ์ชีวิตที่นิวยอร์คต่อได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ เขาจะได้ใช้เวลาอยู่ที่ร้านหนังสือใหญ่อย่างบาร์นส์แอนด์โนเบิล (Barnes and Noble) เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์จากการอ่านด้วยตัวเอง
หลังจากจบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เขาตัดสินใจกลับบ้านเกิดเพื่อตามล่าความฝันของตน ความฝันที่จะเป็น “ผู้กำกับภาพยนตร์”
ไม่ต้องบอกก็คงรู้กันว่า เขาสามารถคว้าความฝันของเขามาครองได้สำเร็จหรือไม่
(ยังมีต่อ)