กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--แม็กซิม่า คอลซัลแตนท์
กว่าที่ อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค) จะเนรมิต โครงการ “ห้องสมุดดนตรีอิเล็กทรอนิกส์” (Virtual TK Music Library) ประเดิมศักราชใหม่ 2549 เบื้องหลังคลังข้อมูลดนตรีหลากหลายทั้งไทยและเทศนี้ ต้องจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลมหาศาลจากนักวิชาการ นักร้อง นักดนตรี และผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการดนตรีโดยเฉพาะ กว่า 100 ชีวิต ซึ่งงานนี้ ทีเค ปาร์ค รับรองได้ว่าข้อมูลต่างๆ ภายในโครงการห้องสมุดดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ผ่านการคัดสรรและตรวจทานมาแล้วจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจในดนตรีแต่ละประเภทอย่างลึกซึ้ง และวันนี้เรามีโอกาสมานั่งพูดคุยกับ 2 ท่านที่เรียกได้ว่าเป็นหัวหอกสำคัญของแวดวงดนตรีไทย ได้แก่
เจ้าพ่อวงการเพลงลูกทุ่งเจนภพ จบกระบวนวรรณเผยความรู้สึกที่ได้มีส่วนร่วมในการถ่ายทอดข้อมูลเพลงไทยลูกทุ่ง ในโครงการห้องสมุดดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ของ ทีเค ปาร์ค ว่า “ดีใจมากที่เพลงไทยลูกทุ่งกลับมาได้รับความสนใจ และมีระบบการรวบรวมที่ทันสมัย จริงจังใน ทีเค ปาร์ค พร้อมเสริมเทคนิคลูกเล่นแพรวพราวมากมาย ซึ่งเชื่อว่าคนรักเพลงลูกทุ่งไม่ผิดหวังแน่นอน โดยส่วนที่ผมจัดหาข้อมูลให้ เริ่มตั้งแต่ ประวัติศิลปิน รูปภาพศิลปิน ต้นฉบับเพลง เนื้อเพลง ทำทั้งหมด เพื่อเป็นทำเนียบ 100 ศิลปินลูกทุ่งดีเด่น ข้อมูลเหล่านี้ผมมีอยู่แล้วบ้าง อันเกิดจากการศึกษาค้นคว้ามาตลอดชีวิต ขณะที่บางส่วนที่ไม่รู้ก็ต้องไปเรียนถามครูเพลงอย่าง ครูพยงค์ มุกดา, ครูลพ บุรีรัตน์ เป็นต้น ความยากง่ายของเรื่องนี้ผมมองว่าอยู่ที่ ทีเค ปาร์ค ทำสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย การพยายามเก็บข้อมูลจากที่ต่างๆ จึงยุ่งยาก โดยเฉพาะเรื่องไทยลูกทุ่งที่ถูกลืมไปกับวันเวลา เรื่องภาพ เรื่องเพลง บางครั้งหากันแทบเลือดตากระเด็น หาภาพศิลปินไม่ได้ก็ต้องหาปกเทป ปกเทปไม่มี ก็ต้องหาภาพเขียนแทน เพลงก็ต้องเป็นมาสเตอร์เท่านั้น เพราะต้องการให้เกียรติกับศิลปินเจ้าของเสียงจริง อย่างนี้เป็นต้น สำหรับ 100 ศิลปินที่เลือกมานี้ก็ใช้หลักที่ว่าเป็น 100 ศิลปินที่คนไทยควรรู้จักเช่นเดียวกับ 100 หนังสือที่คนไทยควรอ่านหรือ 100 หนังไทยที่คนไทยควรดู พร้อมคัดเพลงที่น่าสนใจของศิลปินท่านนั้นๆ อีก 3 - 5 เพลงประกอบด้วย คือผมต้องการปูพื้นฐานเรื่องศิลปินเรื่องเพลงไปก่อน จากนั้นผมจะใส่ข้อมูลเรื่องพัฒนาการ ยุคสมัย ความเป็นมาของเพลงไทยลูกทุ่ง ต่อไปเด็กๆ จะได้รู้ว่าเพลงลูกทุ่งเพลงแรกชื่อเพลงอะไร ร้องยังไงด้วย ในฐานะที่ผมเป็นคนที่อยู่ในวงการเพลงไทยลูกทุ่งมานาน ผมต้องกล่าวย้ำอีกครั้งว่าดีใจและภูมิใจอย่างยิ่งที่มีการจัดทำโครงการห้องสมุดดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น เพราะเพลงลูกทุ่งในความรู้สึกของผมก็เหมือนกับลมหายใจของคนไทยทั้งแผ่นดิน เป็นเพลงประเภทเดียวที่กล่าวถึงทั้งวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของคนไทย เป็นทุกรูปแบบของชีวิตความเป็นไทย ก็อยากจะฝากทุกๆ คนไว้ว่าถ้ามีโอกาสมีเวลาก็ลองไปใช้บริการนี้ดู เพื่อสืบทอดเพลงไทยลูกทุ่งของชาติเราต่อไป”
ในขณะที่คลังเพลงพื้นบ้านเคลื่อนที่เอนก นาวิกมูลผู้เชี่ยวชาญด้านเพลงไทยพื้นบ้านภาคกลาง ซึ่งมาร่วมให้ข้อมูลในเรื่องที่ตนถนัดนี้ด้วย เล่าถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการห้องสมุดดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ของ ทีเค ปาร์ค ว่า “ความรู้ตลอดจนข้อมูลที่ผมถ่ายทอดไปนั้น ผมเลือกให้ในส่วนที่ผมถนัด นั่นก็คือ เพลงไทยพื้นบ้านภาคกลาง ที่ผมสะสมความรู้มานานตั้งแต่สมัยเรียนซึ่งผมเองสนใจอยู่แล้วด้วย พอมาทำงานก็ได้ทำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเพลงไทยพื้นบ้านด้วย จึงมีความสนิทสนมกับพ่อเพลงแม่เพลงหลายท่าน โดยผมได้ความรู้จากท่านเหล่านั้น เพลงพื้นบ้านภาคกลางในแบบของผมจะจัดแบ่งตามเทศกาล เช่น กฐิน ออกพรรษา สงกรานต์ เป็นต้น เนื่องจากเทศกาลในสมัยก่อนมีผลต่อวิถีชีวิตคนไทยอย่างยิ่ง จุดเด่นของเพลงประเภทนี้คือการร้องที่ต้องใช้สำนวนโวหาร พ่อเพลงแม่เพลงจึงต้องเป็นคนที่มีไหวพริบ เวลาร้องเล่นกันก็จะใช้การปรบมือเป็นหลัก เมื่อก่อนได้รับความนิยมมาก แต่พอวิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย เพลงไทยพื้นบ้านก็ค่อยๆ ถูกลดความสำคัญลง จนอาจกล่าวได้ว่าหมดความสำคัญลงไปเลยก็ว่าได้ แต่เมื่อทางภาครัฐสนับสนุน ทีเค ปาร์ค ให้จัดทำโครงการห้องสมุดดนตรีอิเล็กทรอนิกส์นี้ขึ้นมา ยอมรับว่าดีใจ เพราะตรงนี้จะได้เป็นเสมือนคลังความรู้ให้กับเยาวชนที่สนใจให้สืบทอดกันต่อๆ ไป ถือเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยอีกทางหนึ่งด้วย”
คลังความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจริงจากผู้รู้จริงอย่างนี้ เห็นที ไม่ไปใช้บริการ...ไม่ได้แล้ว!!
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัทแม็กซิม่า คอลซัลแตนท์ จำกัด โทร 0-2434-8300
คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณปิติยา
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net