มัคคุเทศน์จิ๋ว…ก้าวที่กล้าของละอ่อนบ้านผาแตก

ข่าวท่องเที่ยว Tuesday September 19, 2006 16:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--สกว.
เมื่อวันเชียงใหม่ไร้ฝน ทีมวิจัยบ้านผาแตกรวมตัวกันจัดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ “นักสื่อความหมายท้องถิ่น” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย การศึกษารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านผาแตก ต.สบเปิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค
กิจกรรมดังกล่าว เป็นการนำเอากลุ่มเด็กกว่า 20 ชีวิตที่สนใจและต้องการพัฒนาตนเองให้เป็น “นักสื่อความหมายที่ดี” เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในชุมชนวันข้างหน้า โดยมีคนรุ่นใหญ่ที่นำโดย พ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา มาร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอความรู้แก่เด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็น อบต. สุคำ ลุงจักร กินีสิ กูรูด้านนก รวมทั้งพี่ ๆ จาก เครือข่ายการประสานงานการท่องเที่ยวโดยชุมชน จาก สกว.สำนักงานภาค
สำหรับบ้านผาแตก เป็นชุมชนปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการหลวงแม่หลอด ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพทางการท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความที่บ้านผาแตกตั้งอยู่ในโครงการหลวง มีน้ำตกหมอกฟ้าเป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยว และบ่อยครั้งที่นักท่องเที่ยวมักเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อเยี่ยมชมวิถีชีวิตของขนเผ่าปกาเกอะญอ ชาวบ้านเห็นว่าน่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้แก่หมู่บ้าน จึงพยามหารูปแบบในการจัดการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชน
ที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการค้นหาศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวของชุมชน การค้นหาองค์ความรู้และภูมิปัญหาของกะเหรี่ยงที่เอื้อต่อการนำมาพัฒนาต่อในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งสาระสำคัญคือการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านในชุมชนได้ทบทวนถึงรูปแบบวัฒนธรรม พิธีกรรมดั้งเดิมของชนเผ่า ที่สามารถนำมาปรับใช้กับสภาพสังคมในปัจจุบัน...
นั่นคือที่มาของโครงการวิจัยเพื่อหารูปแบบทางการท่องเที่ยวของบ้านผาแตก...
เมื่อผู้ใหญ่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการฟื้นองค์ความรู้ .... เด็ก ๆ ย่อมต้องมีหน้าที่ได้รับการถ่ายทอดและสืบต่อ รวมทั้งธำรงและรักษาและสืบทอดเพื่อส่งต่อยังคนรุ่นต่อ ๆ ไป...
ความน่ารักของเด็ก ๆ ทำให้การเริ่มต้นของกิจกรรมเต็มไปด้วยรอยยิ้ม....พะตี่ (ลุง) จักร กินีสี ผู้เชี่ยวชาญการดูนกถามเด็ก ๆ ว่า...
“ตัวแค่นี้...จะพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวได้มั้ยเนี่ย”
“ได้แน่นอนครับ ไม่หลงทางแน่นอน เพราะผมเดินมาตั้งแต่เกิด” น้องไมค์ ตอบลุงจักรอย่างฉะฉาน แต่เมื่อเดินมาถึงลำธาร ว่าที่มัคคุเทศตัวน้อย ซึ่งตามหลักการจะต้องเป็นฝ่ายดูแล และช่วยเหลือนักท่องเที่ยว กลับถูกลุงจักรที่วันนี้เป็นทั้งวิทยากรฝึกอบรม และเป็นนักท่องเที่ยวอุ้มขึ้นเอวเพื่อข้ามลำห้วย
“ทำไป ทำมานักท่องเที่ยวต้องมาดูแลไกด์ซะแล้ว...”
ลุงจักร บอกเด็ก ๆ ว่านักสื่อความหมายที่ดีต้องรู้ว่าบ้านเรามีอะไรบ้างที่คิดว่าเป็นจุดสำคัญ ต้องรู้จักและชำนาญเส้นทาง รู้จักการอธิบายหรือการเล่าเรื่องให้แก่นักท่องเที่ยวกับสิ่งที่พบเห็นระหว่างทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นไม้ หรือภูเขา
สำหรับบ้านผาแตก กิจกรรมของงานวิจัยในช่วงแรก ๆ ได้กำหนดเส้นทางสำหรับนักท่องเที่ยวไว้ 2 เส้นทาง คือเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรอบชุมชน เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติของชุมชนทั้งซึ่ง 2 เส้นทาง มีจุดสนใจที่สำคัญหลายจุด อาทิ ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ หินกลางบ้าน ผายอง ผาดำ ป่าเดปอ จอมปลวก ต้นไม้ของฮีโข่ รวมทั้งการทำไร่หมุนเวียนซึ่งทั้งหมดจะแทรกความเชื่อของชาวบ้านกับสิ่งเหล่านั้นไว้ด้วยกัน
และจุดแรกที่นักสื่อความหมายในชุมชนต้องเรียนรู้คือ “ก้อนหินกลางบ้าน” โดยที่ไม่ต้องปล่อยให้ วิทยากร ซึ่งคนนอกชุมชนสงสัยว่าชาวบ้านผาแตกผูกพันกับหินก้อนนี้อย่างไร เสียงเจื้อยแจ้วของน้องเฟิร์น ก็ดังขึ้น….
“หินก้อนนี้เป็นหินศักดิ์สิทธิ์ พวกเราเชื่อว่าถ้าใครไม่สบายต้องมาทำพิธีที่ก้อนหินนี้ และทุก ๆ ปีจะมีการทำพิธีรดน้ำแบบชาวเหนือด้วยการใช้น้ำส้มป่อยมารดน้ำเหมือนสรงน้ำแบบชาวเหนือนั่นแหละค่ะ” น้องเฟิร์นบอก พร้อม ๆ กับส่งเสียงไล่เพื่อน ๆ ผู้ชายที่กำลังปีนขึ้นไปบนก้อนหินให้ลงมา เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน
ออกจากหินกลางบ้าน ก็เริ่มต้นเดินทางเข้าสู่ป่า ซึ้งจุดหมายถัดไปคือ ป่าเดปอ
สำหรับ “ป่าเดปอ” หรือ “ป่าสะดือ” เป็นสถานที่ที่ปกาเกอะญอจะนำเอา “รก” หรือ สายสะดือของเด็กเกิดใหม่มาผูกไว้กับต้นไม้ในป่า เพื่อให้ขวัญของเด็กคนนั้นมีต้นไม้ช่วยคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันของคนกะเหรี่ยงกับป่า แต่เด็กสมัยใหม่ อย่าง เฟิร์น โบว์ และเพื่อน ๆ อีกหลายต่อหลายคนไม่มีต้นไม้เป็นของตัวเอง เพราะเด็ก ๆ เหล่านี้ส้าวนใหญ่จะเกิดที่โรงพยาบาล สายสะดือจึงถูกเก็บไว้ที่โรงพยาบาล
แต่กระนั้นก็ตาม ความเชื่อ และความผูกพันของเด็ก ๆ กับป่า ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด เพราะในขณะที่ผู้ใหญ่เล่าเรื่องราวของ “ป่าเดปอ” เด็ก ๆ หลายคนบันทึกความรู้เหล่านั้นลงในสมุดเล่มเล็ก ๆ เพื่อจะนำไปบอกเล่าแก่นักท่องเที่ยวต่อไป
ถัดจากป่าเดปอ ทั้งนักท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ฝึกหัดก็เดินลึกไปเรื่อย ๆ เพื่อไปชมผายอง ผาดำ ซึ่งต้องผ่านไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน....พะตีจักร จึงชี้ชวนให้เด็ก ๆ ดูว่า...ต้นข้าวกำลังตั้งท้อง
“พะตี่ พะตี่ ต้นข้าวที่พะตี่ว่ากำลังตั้งท้องหนะ มันตั้งท้องกับใคร แล้วท้องได้ไงเนี่ย ???” ไมค์” และ “ณัฐ” เด็กช่างพูดช่างถามประจำกลุ่มถามด้วยความสงสัย
พะตีจักร อึ้งไปชั่วขณะ แต่ก็ต้องหาเหตุผลมาอธิบายให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจคำว่า ข้าวตั้งท้อง ว่าเป็นอย่างไร
เดินไปได้ซักพักเด็ก ๆ ก็พากันไปหาแตงในไร่ข้าว บางคนเดินไปเก็บมะเฟือง บางคนเดินไปเก็บฝรั่ง เด็ก ๆ รู้ดีว่า ในยามกระหายน้ำ พวกเขาจะใช้ผลไม้ชนิดไหนมาช่วยดับร้อน และดับกระหาย
“เด็ก ๆ เขารู้จักป่า และเรื่องราวของป่า รู้ว่าจะดำเนินชีวิตแบบไหน เพราะพวกเขาต้องตามพ่อ และแม่ไปไร ไปสวนบ่อย ๆ อยู่แล้ว ... ความรู้บางอย่างอาศัยเอาจากความสนใจของตัวเด็กเอง หรือไม่ก็อาศัยจากการจำ อย่างพวกผลไม้ในป่า ก็จำเอาว่าอันไหนกินได้ อันไหนกินไม่ได้..นี่คือสิ่งที่ติดตัวเด็ก ๆ ... ส่วนการฝึกอบรม คือการ ทำให้เด็ก ๆ มีความสามารถในการเล่าเรื่อง และนำเอาความรู้ที่มีอยู่นำออกมาถ่ายทอดอย่างเป็นระบบ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจ”
หลังจากทดลองเดินท่องเที่ยวในเส้นทางท่องเที่ยวที่กำหนดไว้แล้ว กิจกรรมต่อมาคือการให้เด็ก ๆ ได้มาตั้งวงสรุปสิ่งที่เรียนรู้เพื่อการเป็นนักสื่อความมายที่ดี โดยมี พะตี สุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์ จากบ้านผาหมอน ดอยอินทนนท์มาเป็นวิทยากรดำเนินรายการ
“การเป็นนักสื่อความหมายที่ดีเป็นอย่างไร” พะตีสุรสิทธิ์ถาม
“ต้องเป็นเด็กดี เชื่อฟังพ่อแม่ ไม่ดื้อ” น้องไมค์ตอบก่อนเพื่อน
“ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน” น้องเฟิร์น เสริม
“ต้องขยันเรียน และขยันอ่านหนังสือต่างหาก” น้องณัฐ พูดขึ้นมาบ้าง
คำตอบของเด็ก เล่นเอาผู้ใหญ่ขำกลิ้ง พร้อม ๆ เสียงซุบซิบ....ตกลงเรามาอบรมเรื่องอะไรกัน...พะตีสุรสิทธิ์ ตั้งคำถามใหม่ คราวนี้หวังว่าเข้าเป้าแน่ ...
“ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อต้องพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวในป่า”
หลายคนแย่งกันตอบทันที “ ต้องแต่งกายสุภาพ เรียบร้อย ต้องไม่ส่งเสียงดัง ห้ามทิ้งขยะ ห้ามจับปลา ห้ามตัดต้นไม้ ห้าม... ห้าม ... ห้ามเดินจับมือกัน เพราะผิดประเพณีของกะเหรี่ยง....”
“แล้วถ้านักท่องเที่ยวต้องเดินข้ามน้ำหละ แล้วพวกเราไม่ช่วยโดยการจูงมือ แล้วจะให้ทำยังไง” ผู้ใหญ่นอกวงตะโกนถาม
เด็ก ๆ ได้แต่ยิ้ม.....แต่ปราศจากคำตอบ
แต่พอถามถึงความกลัวหรือสิ่งที่ต้องพัฒนาในการเป็นนักสื่อความหมายนั้นมีอะไรบ้าง เด็ก ๆ กลับคิดและตอบได้อย่างผู้ใหญ่ เพราะหลายตอบตรงกันคือ กลัวเล่าเรื่องต้นไม้ป่าให้นักท่องเที่ยวฟังไม่ถูกต้อง กลัวการสื่อภาษาและความหมาย เพราะบางคนยังไม่กล้าพูด บางคนกลัวพูดผิด หลายคนบอกว่าพาเดินได้สบายอยู่แล้ว แต่กลัวว่าจะให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างไม่ครบถ้วนและถูกต้อง
แต่ “ความกลัว” ก็มิได้ทำให้เด็ก ๆ แห่งบ้านผาแตกย่อท้อแต่อย่างได ... เพราะหลังสรุปบทเรียนจากสิ่งที่เรียนรู้....เด็ก ๆ หลายคนบอกตรงกันว่า
“ต้องมาสอนพวกหนูอีก...พวกหนูจะได้เก่ง ๆ ”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
โทร.0-2270-1350-4 ต่อ 0 email : pr@pr-trf.net
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ