“ตุ๊เจ้ารุ่นใหม่” เจ้าของสโลแกน “กิจของสังคม — กิจของสงฆ์”

ข่าวทั่วไป Monday October 5, 2009 15:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล หากจะมองว่าเรื่องการเรียนรู้ผ่านวิธีร้องรำทำเพลงนี้ ไม่มีในกิจของสงฆ์ และมองถึงพระวินัย (ศีล) ว่าน่าจะอยู่คนละขั้ว เพราะพระควรจะละวางให้ห่างไกล จากนัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัศนา แต่ถ้าเรายอมเสียวินัยไปเล็กน้อย แล้วใช้วัฒนธรรมโน้มนำดึงเด็กเข้าวัดมาหล่อหลอมให้เป็นคนดี ก็มีค่าคุ้มที่จะทำ คือ คำกล่าว ของ “ตุ๊อาร์ต” หรือพระชิตนุสันต์ สุธมฺโม ที่แสดงความคิดไม่เห็นด้วยกับ กระแสการคัดค้าน “พระนักพัฒนา” ในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาการลุกขึ้นเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของชุมชนและชาวบ้านส่วนหนึ่งมี “พระสงฆ์” เป็นหัวขบวนหลักในการยึดมั่นในแนวทางของการพึ่งพาตนเอง ไม่ว่าจะในประเด็นการเมือง ป่าไม้ ศิลปวัฒนธรรม ขนมธรรมเนียมประเพณี การเกษตรและเศรษฐกิจพอเพียง “พระสงฆ์” หลายรูป เสียสละกิจนิมนต์ เพื่อเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้าน และชุมชน “ตุ๊อาร์ต” หรือ พระชิตนุสันต์ สุธมุโม (นามสกุลเดิม ตาจุมปา) ที่แม้จะอยู่ในช่วงครองจีวรในเพศบรรพชิต แต่ก็สานต่ออุดมการณ์สืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้าน ให้เป็นเครื่องมือบ่มเพาะเด็กและเยาวชนในบ้านเกิดของตนเองด้วยความรักความชอบดนตรีล้านนาตั้งแต่ยังไม่ครองจีวร ตั้งแต่วัยเด็ก “ตุ๊อาร์ต” “อยากให้มีดนตรีพื้นเมืองในหมู่บ้าน สืบสานให้คงอยู่ เพราะผู้รู้ล้วนแต่แก่เฒ่า และเริ่มล้มหายตายจากไปมากแล้ว” จึงหันไปดูทุนของหมู่บ้านที่สบลี้ จ.ลำพูน พบว่ามีภูมิปัญญาอยู่มาก แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นและให้เด็กเรียนรู้อะไรดี จึงเริ่มต้นจากการเรียนรู้ประวัติหมู่บ้านใช้เครื่องมือ “รูปเก่าเล่าเรื่อง” ทบทวนบทเรียนจากอดีตที่ผ่านมา พบว่าเมื่อเด็กจบแล้วต้องไปเรียนที่อื่น ทำให้เด็กขาดช่วงหายไป และไม่เข้าร่วมเพราะนึกว่ากลุ่มนี้มีขึ้นเฉพาะเด็กในโรงเรียน พระอาจารย์ฯจึงตั้งกลุ่มชื่อว่า “กลุ่มดงหลวงสบลี้” จัดกิจกรรม “การเรียนรู้” ที่มี “ดนตรี” เป็นเครื่องมือนำไปสู่การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน พร้อมกับอนุรักษ์ไว้ผ่านกิจกรรมของเด็กๆ ที่ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ทุกวันนี้ “ตุ๊อาร์ต” อิ่มเอมกับการได้เห็นการเรียนรู้ของเด็กๆ พร้อมทำการปรับโครงสร้างกลุ่มดงหลวงสบลี้ใหม่ให้มีกิจกรรมเรียนรู้มากกว่าดนตรี เพราะเด็กบางคนเป็นเด็กเรียน และมีจิตอาสา ขณะที่บางคนเรียนไม่เก่ง แต่เก่งการแสดงและการนำเสนอ บางคนเรียนเก่ง แต่เล่นดนตรีไม่เก่ง หรือบางคนเก่งทั้งดนตรีและการแสดง แต่พูดนำเสนอไม่เป็น กลุ่มดงหลวงสบลี้จึงมีพื้นที่ให้กับเพื่อนๆที่มีความสามารถแตกต่างหลากหลายทุกคน ไม่ต่างจาก “ตุ๊หนึ่ง” พระผู้ซึ่งช่วย “สืบฮีต สานฮอย สู่ละอ่อนน้อยเชียงดาว” ที่พบว่าเด็กและเยาวชนทั้งเขตเมืองและชุมชนท้องถิ่นล้วนห่างไกลจากวัด ตุ๊หนึ่ง หรือพระครูสมุห์รัฐกร สนฺตจิตฺโต (ตานที) พระหนุ่มนักพัฒนารุ่นใหม่จึงใช้ศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญา ดึงพลังจิตอาสาให้เยาวชนเข้าถึงคุณค่าคือคุณธรรมจริยธรรมอันดีงามที่แฝงอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ ผ่าน “ศูนย์สืบฮีตสานฮอย” ซึ่งเป็นห้องเรียนใหญ่ให้กับเยาวชนใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้เรียนรู้ “ตุ๊หนึ่ง” สมัยเป็นเด็กหลงใหลในภูมิปัญญาด้านการแสดงและดนตรีล้านนา ได้เรียนรู้จากครูภูมิปัญญาในชุมชน พร้อมฝึกฝนจนเล่นและแสดงได้หลายอย่าง ทั้งสะล้อ ซึง กลองสบัดชัย ปูจา กลองบูชา รำดาบ นกกิงกาหล่า และเต้นโต ปี 2537 ตุ๊หนึ่งรวบรวมเยาวชนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ตั้งเป็นกลุ่มเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนาขึ้น และออกงานแสดงในนามของ “ชุมนุมสืบสานล้านนา” และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเป็น “แกนนำเยาวชน” ปี 2547 ตุ๊หนึ่งเริ่มเชื่อมโยงโครงการด้านวัฒนธรรมจากกลุ่มรักษ์ล้านนาไปดำเนินการในพื้นที่บ้านเกิด พร้อมตั้งศูนย์การเรียนรู้ที่วัดแม่อีด ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว เริ่มจากการสอนเด็กตัวเล็กๆ ให้ตีกลองสะบัดชัย นำกิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรมล้านนาให้เด็กเรียนรู้ และขยายผลไปถึงเรื่องภูมิปัญญาด้านความเชื่อ และประวัติศาสตร์ชุมชนในที่สุด “ศูนย์สืบฮีตสานฮอย” จึงกลายเป็นแกนหลัก เชื่อมร้อยโรงเรียนต่างๆ ในชุมชนเข้ามารวมเป็นพลังเยาวชน เกิดกลุ่มเด็กย่อยๆอีก 10 กว่ากลุ่ม กระจายตัวทั่วทั้ง อ.เชียงดาว ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 200 คน เมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้ พัฒนาตนเองไปตามวัยอย่างเหมาะสม จึงไม่มีเวลามั่วสุม กระทำเรื่องเหลวไหล แต่กลับเข้าวัด เล่นดนตรี บางคนไม่ชอบดนตรี ก็มาช่วยงานอื่น เช่นช่วยงานวัด ช่วยสังคม เด็กบางคนภาพลักษณ์ภายนอกไม่ดี แต่ถ้าคลุกคลีจริงๆ แล้วจะพบว่าเด็กเหล่านี้มีจิตอาสาและมีศักยภาพในตัวเอง หากมีพระคอยชี้นำ เบื้องหลังแนวคิดและแรงบันดาลใจ “ตุ๊หนึ่ง” มีความคิดว่าการศึกษาแต่เดิมอยู่ในวัด ศิลปวัฒนธรรม ฆ้อง กลองก็อยู่ในวัด ไม่แปลกที่พระจะมาทำเรื่องนี้ การศึกษาทำให้เด็กออกจากชุมชน จะรวมตัวกันที่วัดก็เพราะมีงานเฉพาะกิจเท่านั้น แนวความคิดเรื่องการพัฒนาเยาวชนที่วัดอาศัยวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือ จึงไม่ผิดหลักการของสงฆ์แต่อย่างใด กลับเป็นผลดีเสียอีก ซึ่งการมาบวชทำให้ “ตุ๊หนึ่ง” มีเวลาทุ่มเทกับเด็กมากขึ้น เพราะไม่มีภาระทางโลก “...การเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้เด็กทำกิจกรรมที่หลากหลาย ใช้วัฒนธรรมเป็นสะพานเชื่อมให้เด็กรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เราทำหน้าที่สนับสนุนให้เขามีทางออกของพลัง เป็นระบบดูแลเยาวชนที่พระจะเป็นคนบ่มเพาะให้พ้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ พอพ้นวัยรุ่นไปเรียนมหาวิทยาลัย ก็เบาใจเพราะเด็กพ้นภาวะเสี่ยงและมีภูมิคุ้มกันในชีวิตแล้ว...” ตุ๊หนึ่งทิ้งท้ายไว้อย่างน่าฟัง ที่สำคัญ เด็กๆ เยาวชนจิตอาสาที่ผ่านการบ่มเพาะจาก พระหนึ่ง และ พระอาร์ต ในวันนี้เติบโตเป็นหน่ออ่อนความดี และพร้องจะผลิบานโชยกลิ่นหอมเชิญชวนเยาวชนทั้งหมายมาร่วมขบวนทำดีกันได้ที่งานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 1 “ร่วมสร้างประเทศไทย...ด้วยการให้” ซึ่งจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2552 นี้ ณ ลานสยามพารากอน-หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ มีกิจกรรมของดี ๆ ของเยาวชนมากมายดูรายละเอียดได้ที่ ww.scbfoundation.com , www.okkid.net เมื่อพิจารณาแล้ว พระสงฆ์ นักพัฒนาส่วนใหญ่ มีใจรักในงาน “เพื่อส่วนรวม” มาก่อนที่จะครองเพศบรรพชิต เสียด้วยซ้ำ แต่ดูเหมือน การได้ทำงานอาสาการได้ “ให้” ยิ่งมาก ยิ่งนานวันเข้า กลับบ่มเพาะจิตมนุษย์ให้หันหน้าเข้าสู่พระธรรม ครองเพศบรรพชิต สละแล้วซึ่ง โลภ โกรธ หลง ไปพร้อมๆ กับงานพัฒนา ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ ธุระทางสังคม จะเป็นธุระของ “สงฆ์” ด้วย

แท็ก ว่าน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ