กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
บนเวทีการประกวดนางสาวไทย ประจำปี 2552 ในรอบตัดสินที่จะจัดขึ้น ในค่ำคืนวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ณ โรงละครอักษรา ถนนรางน้ำ ที่ผู้เข้าประกวดทั้ง 18 คนสุดท้าย ไม่เพียงจะอวดโฉมและเรือนร่างอันสวยสง่าแล้ว แต่ยังงดงามด้วยชุดผ้าไทยทอมือลวดลายอันวิจิตรจากร้านจิตรลดา ที่สาวงามทั้ง 18 จะได้สวมใส่ให้ยลโฉมอีกด้วย โดยเฉพาะในรอบของสาวงาม 3 คนสุดท้าย ที่ยังจะได้สวมใส่ชุดราตรีที่ตัดเย็บจากผ้าไหมพิมพ์ลายพิเศษ “รักไม่รู้โรย” ที่ทางร้านจิตรลดาได้ออกแบบขึ้นใหม่ เพื่อฉลองในวโรกาสครบรอบ 60 ปี บรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยผู้ที่ออกแบบดีไซน์ชุดให้กับสาวงาม 18 คน ผู้ผ่านเข้ามาประชันโฉม คือ ณัฐวัฒน์ สีวะรา ดีไซเนอร์มากความสามารถที่ฝากผลงานไว้มากมาย
ท่านผู้หญิงวิลาวัลย์ วีรานุวัตติ์ เลขาธิการร้านจิตรลดา และเป็นประธานกรรมการตัดสินการประกวด นางสาวไทย ประจำปี 2552 ได้เผยว่า “ในอดีตเคยมีโอกาสได้ร่วมเป็นพี่เลี้ยงนางงามในการประกวดนางสาวไทย ถึง 2 ครั้ง ในปี 2508 จีรนันท์ เศวตนันท์ และ ปี 2509 ประภัสสร พานิชกุล และหวนกลับมาเกี่ยวข้องครั้งนี้ในฐานะ ประธานกรรมการตัดสิน ซึ่งปัจจุบันผู้หญิงมีความเก่ง และมีความคล่องตัวมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งเสน่ห์ของผู้หญิงที่เริ่มขาดหายไปคือ ความอ่อนโยน ความนุ่มนวล อาจเป็นด้วยความเร่งรีบในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากปรับเปลี่ยนให้เป็นหญิงยุคใหม่ที่มีความอ่อนโยน มีจิตใจที่เมตตากรุณาแล้ว จะส่งผลไปถึงหน้าตาที่อ่อนหวาน และอ่อนโยน จึงเป็นเสน่ห์ที่จะดึงดูดให้คนอยากเป็นมิตรด้วย และความคิดของดิฉันนางสาวไทยในยุคปัจจุบัน ควรเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ ที่มีความกล้า มีการศึกษาที่ดีที่จะช่วยส่งผลในเรื่องของความคิดที่เปิดกว้าง และที่สำคัญคือต้องมีความอ่อนโยนในจิตใจด้วย
นอกจากนี้ทางร้านจิตรลดาก็ยังได้รับเกียรติให้นำผ้าไทยทอมือ ร่วมโชว์บนเวทีการประกวดนางสาวไทย ปี 2552 รอบตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นผ้าฝ้ายพิมพ์ลาย ที่จะตัดเย็บเป็นชุดให้แก่สาวงาม 18 คน ผ้าฝ้ายทอลายยกดอกสำหรับสาวงาม ที่ผ่านเข้าสู่รอบ 10 คน และที่เป็นไฮไลท์ของงานนี้ คือการนำผ้าไหมพิมพ์ลายพิเศษ “รักไม่รู้โรย” ที่ทางร้านจิตรลดา ได้ออกแบบขึ้นใหม่ เพื่อฉลองในวโรกาสครบรอบ 60 ปี บรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาตัดเย็บเป็นชุดสำหรับสาวงามที่ผ่านเข้าสู่รอบ 3 คนสุดท้ายอีกด้วย”
ด้าน ณัฐวัฒน์ สีวะรา ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบชุดให้กับสาวงามผู้เข้าประกวดนางสาวไทยประจำปี 2552 ในรอบตัดสิน ซึ่งเป็นเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร ที่สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ รวมทั้งยังเป็นดีไซเนอร์อิสระที่ฝากฝีมือไว้ในผลงานมากมากมาย อาทิ แฟชั่นโชว์ที่เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี เมื่อปี 2005 หรือ อาร์ต นูโว คอลเลคชั่น ในงาน แบ็งคอก
แฟชั่น วีค ครั้งที่ 1 รวมถึงเสื้อผ้าในงานโฆษณาต่างๆ อาทิ สิงห์ เบียร์, ลักซ์ ซูเปอร์ ริช, โตโยต้า ยาริส เป็นต้น และยังเป็นผู้ดูแลเสื้อผ้าให้กับนักร้องวงซีล (Zeal) เผยว่า “รูปแบบของการประกวดนางสาวไทยในรอบตัดสินปีนี้ จะมีอยู่ด้วยการทั้งหมด 3 ส่วน คือในช่วงแรกของการเปิดตัวสาวงามทั้ง 18 คนจะต้องอวดโฉมบนเวที ในบรรยากาศสวนราชพฤกษ์ จึงได้แนวคิดของละครเพลง West Side Story ซึ่งเป็นโชว์ในยุคปี 80-90’s ดังนั้นชุดที่ผู้เข้าประกวดทั้ง 18 คนจะได้สวมใส่ จึงดูมีความสบาย มีความพลิ้วไหว ที่ไม่ดูเป็นราตรีมาก แต่ดูเป็นเดย์แวร์ที่พิเศษกว่า ด้วยโครงเสื้อที่ดูทันสมัย โดยเลือกใช้ผ้าฝ้ายพิมพ์ลายของร้านจิตรลดา ในโทนสีเหลือง เขียว แดง และน้ำตาล ส่วนในรอบของ 10 สุดท้าย ที่บรรยากาศจะดูหรูหราขึ้น ทำให้นึกถึงผู้หญิงที่แต่งตัวจะไปร่วมงานราตรีที่หรูหรา ผสมผสานกับคอนเซ็ปต์ “ทอแสงงามแห่งจิตใจ” จึงมองว่าผู้หญิงที่จะได้รับเกียรติให้เป็นนางสาวไทยต้องไม่ได้มีความสวยอย่างเดียว แต่ต้องทำงานช่วยเหลือสังคม จึงทำให้นึกถึงผู้หญิงในยุค 80’s เป็นยุคที่ผู้หญิงเริ่มออกไปทำงานข้างนอก และก็ต้องดูแลครอบครัว ดังนั้นชุดของรอบนี้จึงเป็นชุดราตรียาว และใช้ผ้าฝ้ายทอลายยกดอกของร้านจิตรลดา ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเสื้อผ้าของผู้หญิงในยุคนั้น ที่โครงเสื้อจะมีลักษณะไหล่กว้าง แต่นำมาลดทอนให้ดูเล็กลงด้วยโครงเสื้อที่พอดีตัว เพื่อเน้นรูปร่างของผู้เข้าประกวด ประกอบกับการโชว์ช่วงที่สวยที่สุดของผู้หญิง คือ ตั้งแต่ช่วงคอลงมาถึงช่วงอกด้านบน รวมถึงด้านหลัง ที่ชุดจะมีการเว้าหลังค่อนข้างลึกเพื่อโชว์แผ่นหลัง ดังนั้นโทนสีเสื้อผ้าของรอบนี้ จึงเป็นสีแสดงถึงความหรูหรา เช่น สีม่วง น้ำเงิน น้ำตาลทอง สีเขียว ในส่วนของรอบ 3 คนสุดท้าย ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการสรุปแบบ ที่ตั้งใจจะโชว์ลายผ้าไหมพิมพ์ลายพิเศษ “รักไม่รู้โรย” ในส่วนที่เด่นที่สุดของแต่ละชุด ซึ่งจะตัดเย็บร่วมกับผ้าชนิดอื่น ในโทนสีม่วง และ ชมพู พาสเทลสีเข้มขึ้น”
นอกจากนี้ทั้งชุดรอบ 18 คน 10 คน และ 3 คน ยังจะได้นำผ้าชนิดอื่นมาร่วมตัดเย็บด้วย เช่น ผ้าชีฟอง, ไหมชีฟอง และ ผ้าซาติน เป็นต้น เพื่อช่วยในเรื่องของความมันเงา หรือเพิ่มวอลุ่มของเนื้อผ้าเพื่อให้ดูน่าสนใจ ร่วมด้วยการใช้เทคนิค เดรปปิ้ง ที่จะเป็นการจับจีบผ้าเล็กๆ ด้วยมือ แล้วค่อยๆ สอยเย็บติดทีละนิด ซึ่งเป็นขั้นตอนการทำชุดด้วยมือที่ต้องอาศัยความประณีต และเป็นงานฝีมือจริงๆ หรือการนำผ้าชีฟองมาทับซ้อนผ้าฝ้ายอีกชั้นหนึ่ง แล้วจับเดรปปิ้ง เพื่อเป็นการลดทอนสีของเนื้อผ้าให้ดูนุ่มขึ้น รวมถึงเทคนิคคัทเวิร์ค คือการสร้างลายบนผ้าแล้วนำมาต่อบนเสื้อ เพื่อให้เกิดลายใหม่ขึ้นมา ที่จะช่วยเพิ่มรายละเอียดของเนื้อผ้าให้ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น เช่นการตัดลายผ้านั้นๆ แล้วนำมาปักบนลายผ้าอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ผ้าดูมีมิติมากขึ้น ร่วมด้วยการประดับคริสตัล”
รอชมชุดสวยๆ ที่ทำจากผ้าไทยทอมือของร้านจิตรลดา พร้อมยลโฉมสาวงามทั้ง 18 คนในวันตัดสินการประกวด นางสาวไทยประจำปี 2552 ได้ในวันที่ 28 ตุลาคมศกนี้ ณ โรงละครอักษรา ถนนรางน้ำ และถ่ายทอดทางโมเดิร์นไนน์ทีวี เวลา 22.15 น.
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด โทร.0-2434-8300
สุจินดา, แสงนภา, ภัควลัญชญ์