กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
นักวิทยาศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานีประสบความสำเร็จอีกครั้ง หลังค้นพบทากทะเลชนิดใหม่ของโลก บริเวณร่องน้ำ ป่าชายเลนที่อ่าวปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ตั้งชื่อ “ไอ้เท่ง” ตามตัวหนังตะลุงปักษ์ใต้ ระบุมีส่วนช่วยรักษาสมดุลธรรมชาติ โดยเฉพาะต่อห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศป่าชายเลน
ผศ.พักตรา คูบุรัตถ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า Dr. C.Swennen ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทำงานค้นคว้าวิจัยที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มาเป็นเวลานานนับสิบปี และนายสมศักดิ์ บัวทิพย์ นักวิทยาศาสตร์ จากแผนกชีววิทยา ได้ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ค้นพบทากทะเล (slug) ชนิดใหม่ของโลก อยู่ในไฟลัม Mollusca ชั้น Gastropoda วงศ์ (Family) Aitengidae ชื่อ “Aiteng ater” หรือ “ไอ้เท่ง”
“นักวิทยาศาสตร์ของ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี ค้นพบทากทะเลพันธุ์ใหม่ในป่าชายเลนที่เป็นดินโคลน ซึ่งถูกปกคลุมด้วยต้นโกงกาง แสมทะเล ตาตุ่มทะเล และปรงทะเล เป็นต้น ในบริเวณที่เป็นร่องน้ำ รอยเท้ามีน้ำท่วมขัง รูปู แอ่งที่มีน้ำท่วมขัง รวมถึงบริเวณที่มีการทับถมของใบไม้และไม้ผุ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลง ซึ่งสิ่งมีชีวิตชนิดนี้มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศป่าชายเลนเหมือนกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ” ผศ.พักตรากล่าว
ทั้งนี้ ลักษณะภายนอกของ “ไอ้เท่ง” ที่สามารถสังเกตได้คือ มีขนาดประมาณ 6-17 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีดำ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก โดยมีการขับเมือกหุ้มร่างกายเพื่อรักษาความชุ่มชื้น คล้ายกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วๆ ไป ซึ่งความพิเศษนี้พบได้น้อยมากกับชนิดของทากทะเลที่มีการค้นพบหรือมีการศึกษาอยู่แล้วในปัจจุบัน และจากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า แมลงในระยะดักแด้เป็นอาหารของทากทะเลชนิดนี้ โดยในขณะนี้ ได้มีการเก็บตัวอย่างทากทะเล “ไอ้เท่ง” มาจากปากพนังเพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่แผนกชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อไป
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับชื่อ Aiteng ater มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นท้องถิ่นภาคใต้ คือคำว่า Aiteng มาจากชื่อเรียกตัวหนังตะลุงของปักษ์ใต้ ชื่อ ไอ้เท่ง ซึ่งมีลักษณะตัวสีดำและมีลักษณะของตาที่คล้ายกับสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ ขณะที่คำว่า ater มาจากภาษาลาติน หมายถึง สีดำ
“ความสำเร็จในการพบทากทะเลพันธุ์ใหม่ของโลกโดยนักวิทยาศาสตร์ของ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่ไม่หยุดนิ่งของนักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการค้นพบใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับระบบนิเวศ ที่มีส่วนช่วยเพิ่มสมดุลให้กับธรรมชาติ ซึ่งหลังจากนี้ เราจะยังคงเดินหน้าศึกษางานวิจัยอื่นๆ ต่อไป” ผศ.พักตรากล่าว
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดยบริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 118
e-mail address : c_mastermind@hotmail.com
เว็บไซต์ : www.mtmultimedia.com