ปภ.เร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ข่าวทั่วไป Tuesday October 6, 2009 16:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานพายุกิสนาทำให้เกิดสถานการณ์ใน 20 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 5 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 15 จังหวัด เบื้องต้นได้ประสานจังหวัดที่ประสบภัยเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเฉพาะการสนับสนุนด้านปัจจัยสี่ เป็นลำดับแรก พร้อมสั่งกำชับให้จังหวัดออกสำรวจความเสียหายและพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือในอำนาจผู้ว่าฯ 50 ล้านบาท นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุกิสนาที่เคลื่อนตัวผ่านประเทศไทยในระหว่างวันที่ 29 กันยายน — 2 ตุลาคม 2552 ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยใน 20 จังหวัด รวม 87 อำเภอ 503 ตำบล 3,584 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 39,475 คน 105,155 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 133,253 ไร่ ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง นครสวรรค์ ลพบุรี เลย และเพชรบูรณ์ และยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ พิษณุโลก พิจิตร เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ชัยนาท ตาก นครราชสีมา สุโขทัย กาฬสินธุ์ และกำแพงเพชร สำหรับการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ปภ. ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่นำเครื่องจักรกล รถยนต์ เรือท้องแบน จำนวน 40 ลำ ออกให้บริการขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของและอพยพประชาชน พร้อมนำถุงยังชีพจำนวน 8,130 ถุง อาหาร 8,500 กล่อง ออกแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย รวมทั้งได้นำเต็นท์ที่พักอาศัย 48 หลัง สุขา 8 ห้อง ออกให้บริการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ตลอดจนนำเครื่องจักรกลพื้นที่ออกซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุดเสียหาย เก็บกวาดดินโคลนตามบ้านเรือนราษฎร นอกจากนี้ ได้ประสานกับจังหวัดที่ประสบอุทกภัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยเฉพาะการสนับสนุนด้านปัจจัยสี่ (อาหาร น้ำดื่ม เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) แก่ผู้ประสบภัยเป็นลำดับแรก สำหรับในระยะต่อไป ปภ. จะได้กำชับให้จังหวัดส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจความเสียหายและพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินในอำนาจอนุมัติของผู้ว่าฯ จำนวน 50 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังอย่างเคร่งครัด หากสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ขอขยายวงเงินทดรองราชการตามความจำเป็นและเหมาะสมมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยในส่วนของ ปภ.และสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย มีงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในวงเงินแห่งละ 50 ล้านบาท นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า จากการประสานติดตามสภาวะอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออกจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นในช่วง 4 — 5 วันนี้ (วันที่ 6 — 10 ตุลาคม 2552) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวชุ่มน้ำอยู่แล้ว หากมีฝนตกหนักต่อเนื่องอีก อาจทำให้พื้นที่เสี่ยงภัยเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 22 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ประกอบกับกรมชลประทานได้ประสานแจ้งว่า ภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุกิสนาส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำวัง ปิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าปริมาณน้ำจากแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 9 จังหวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ปภ. จึงได้ประสานให้ 31 จังหวัด เตรียมรับมือ โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ในทันที หากสถานการณ์รุนแรงจนจำเป็นต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนป้องกันภัยของจังหวัดที่ได้ฝึกซ้อมไว้ ตลอดจนสั่งการให้มิสเตอร์เตือนภัย ประสานการเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย และการแจ้งเตือนภัยกับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ปภ. มั่นใจว่าจะสามารถรับมือและแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยให้คลี่คลายโดยเร็วได้อย่างแน่นอน เนื่องจากมีแผนปฏิบัติการรองรับ แผนการเผชิญเหตุในภาวะฉุกเฉิน และแผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้การบูรณาการเครือข่ายอาสาสมัคร อปพร. จำนวน 1,133,215 คน ทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล 6,793 คน มิสเตอร์เตือนภัย 9,553 คน ให้เตรียมพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทาง สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ