กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสาน ๒๒ จังหวัดภาคใต้ และภาคตะวันออก เตรียมรับมือภาวะ ฝนตกหนักในระยะ ๔ — ๕ วันนี้ (วันที่ ๖ — ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๒) พร้อมกำชับให้ ๙ จังหวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมรับมือภาวะน้ำล้นตลิ่ง เนื่องจากอิทธิพลของพายุกิสนา ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการประสานติดตามสภาวะอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ และภาคตะวันออกจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นในช่วง ๔ — ๕ วันนี้ (วันที่ ๖ — ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๒) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวชุ่มน้ำอยู่แล้ว หากมีฝนตกหนักต่อเนื่องอีก อาจทำให้พื้นที่เสี่ยงภัยเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ ๒๒ จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ประกอบกับจากการประสานข้อมูลสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทาน พบว่า จากอิทธิพลของพายุกิสนาที่เคลื่อนตัวผ่านประเทศไทย ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางในช่วงวันที่ ๓๐ กันยายน — ๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำวัง ปิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าปริมาณน้ำจากแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์มีปริมาณน้ำสูงสุดประมาณ ๒,๑๐๐ — ๒,๒๐๐ ลบ.ม./วินาที และปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลรวมกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังประมาณ ๓๐๐ ลบ.ม./วินาที ทำให้น้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยาทั้งหมด ๒,๔๐๐ — ๒,๕๐๐ ลบ.ม./วินาที ในระหว่างวันที่ ๗ — ๘ ตุลาคม ๒๕๕๒ อาจทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ ๙ จังหวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการเตรียมรับมือน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่งในระยะ ๔ - ๕ วันนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานให้ ๓๑ จังหวัดดังกล่าว แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมการป้องกันอันตรายจากภาวะฝนตกหนักในพื้นที่ โดยหมั่นติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศแจ้งเตือนภัย ให้ขนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ ให้จัดทำแนวคันกั้นน้ำให้อยู่สูงกว่าระดับน้ำท่วมถึง กรณีพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้รีบอพยพขึ้นที่สูงไปตามเส้นทางปลอดภัยที่ได้ฝึกซ้อมไว้ พร้อมทั้งกำชับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ในทันที หากสถานการณ์รุนแรงจนจำเป็นต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนป้องกันภัยของจังหวัดที่ได้ฝึกซ้อมไว้ ตลอดจนสั่งการให้มิสเตอร์เตือนภัยประสานการเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย และการแจ้งเตือนภัยกับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ท้ายนี้หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-2432200 PR DDPM