กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--ทช.
นักวิชาการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งชี้ แม้ภาวะโลกร้อนจะส่งผล กระทบต่อระบบชายฝั่ง แต่การเสื่อมโทรมของแนวปะการัง ส่วนใหญ่เป็นผลสืบเนื่องมาจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ขาดจิตสำนึกเป็นหลัก วอนผู้เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลรักษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือสภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบมากมาย โดยส่งผลต่อชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน อาจมีการเปลี่ยนแปลงของการเกิดปรากฎการณ์อื่นๆ ในมหาสมุทร ส่งผลต่อการเกิดฤดูกาล ความถี่และความรุนแรงของการเกิดปรากฎการณ์ต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อทรัพยากรตามแนวชายฝั่งทะเล เช่น หญ้าทะเล แนวปะการัง เป็นต้น
นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อน หรืออุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเป็นอยู่ของปะการัง แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า ภาวะโลกร้อนเป็นตัวหลักในการทำลายปะการังโดยตรง จากการศึกษาของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ทช.ที่ผ่านมาพบว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ความสามารถในการหาอาหารและการเติบโตลดลง ทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง แต่ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ความเสื่อมโทรมของปะการังเกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลักมากกว่าเสื่อมโทรมจากภาวะโลกร้อน ซึ่งขณะนี้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยไทย โดยสถาบันวิจัยไทย-เยอรมนี ได้ร่วมกับสหภาพยุโรป (อียู) ศึกษาวิจัยความเสื่อมโทรมของปะการังว่าเป็นผลโดยตรงจากภาวะโลกร้อนหรือไม่
สำหรับสถานการณ์ปะการังโดยรวมของไทยในขณะนี้ พื้นที่ที่มีปะการังโดยรวมทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันมีประมาณ 9.6 หมื่นไร่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในฝั่งอันดามันเป็นพื้นที่กว่า 5 หมื่นไร่ ส่วนที่เหลืออยู่ในฝั่งอ่าวไทย ซึ่งถ้าพูดถึงความสมบูรณ์ของปะการังในบริเวณดังกล่าวก่อนเกิดเหตุสึนามิ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าฝั่งอันดามันมีความสมบูรณ์สวยงามกว่า แต่ทางวิชาการนั้น จะวัดความสมบูรณ์ของปะการังเป็นเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ โดยดูจากปะการังมีชีวิตเปรียบเทียบกับปะการังที่ตาย และพบว่าฝั่งอ่าวไทยนั้น เปอร์เซ็นต์ปะการังต่อพื้นที่เป็น 60:40 หมายความว่า 60% เป็นปะการังมีชีวิต อีก 40% เป็นปะการังตาย
นายวรรณเกียรติ กล่าวด้วยว่า การท่องเที่ยว เป็นกิจกรรมที่พานักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่ปะการัง ซึ่งก็มีการพัฒนาการท่องเที่ยวต่าง ๆ ตามมา เช่น การนำเรือเร็วไปในพื้นที่ การก่อสร้างอาคาร การสร้างท่าเทียบเรือ ซึ่งทำให้เกิดตะกอนไหลลงสู่ทะเล เป็นต้น ล้วนส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อแนวปะการังอย่างมาก อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุสึนามิ ประชาชนเริ่มเห็นความสำคัญของปะการัง หันมาร่วมมือกันอนุรักษ์ปะการังมากขึ้น จนเห็นได้ชัดว่าในฝั่งอันดามันมีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้นเป็น 70:30 หมายความว่า มีความสมบูรณ์ 70% มีปะการังเสื่อมโทรม 30% จะเห็นว่าปัจจุบัน เอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการการท่องเที่ยว เห็นความสำคัญของปะการังในแหล่งท่องเที่ยว ร่วมมือกันรณรงค์อนุรักษ์ลดการทำลายปะการัง ที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น การวางทุ่นเป็นแนวป้องกัน การแยกขยะ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี
“ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มีความพยายามหาแนวทางป้องกัน ดูแล และรักษาแนวปะการังมาโดยตลอด อย่างการวางปะการังเทียมในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างประติมากรรมใต้น้ำ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในแนวปะการัง เป็นการดึงให้นักท่องเที่ยวมาดำน้ำยังจุดปะการังเทียม เพื่อให้แนวปะการังธรรมชาติได้มีเวลาฟื้นตัว ซึ่งได้ช่วยให้ปะการังธรรมชาติได้ฟื้นฟูจนมีสภาพที่สมบูรณ์ขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม อยากขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ชุมชมในพื้นที่ รวมทั้งนักท่องเที่ยว ให้ช่วยกันดูแลรักษาปะการัง เช่น ไม่ทิ้งขยะลงทะเล ดำน้ำอย่างถูกวิธี รวมทั้งหามาตรการต่าง ๆ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยกันอนุรักษ์แนวปะการัง ให้แนวปะการังที่สวยงามได้อยู่คู่ท้องทะเลไทยอย่างสมบูรณ์ต่อไป” นายวรรณเกียรติ กล่าว